น้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการพัฒนาอาชีพ เศรษฐกิจสังคม และขนบธรรมเนียมประเพณี นำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการจัดการทรัพยากรน้ำที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงการจัดหาน้ำ การใช้ประโยชน์ และการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำให้เกิดความสมดุล และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน กล่าวคือ มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสียหายที่จะเกิดจากภัยแล้งและอุทกภัย ภายใต้สภาวะสมดุลของระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรน้ำจะมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ต้องมาจากการวางแผนแม่บทที่เหมาะสม มีการดำเนินกิจกรรมตามแผนอย่างต่อเนื่องภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน และได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณในการดำเนินงานอย่างเพียงพอ

ตำราการจัดการทรัพยากรน้ำ (Water Resources Management) เล่มนี้ผู้เขียนเรียบเรียงขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนวิชา 001 312 การจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 3 หน่วยกิต ซึ่งเป็นรายวิชาเฉพาะของกลุ่มวิชาบังคับในหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการงานช่างและผังเมือง สังกัดวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีคำอธิบายรายวิชาครอบคลุมเนื้อหาทางด้านความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอุทกวิทยา การวิเคราะห์ปริมาณน้ำฝน การสูญหายทางอุทกวิทยา น้ำท่า การพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน การพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน ระบบประปา การจัดชั้นคุณภาพพื้นที่ลุ่มน้ำ และการวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำ ดังนั้น จึงเรียบเรียงให้ประกอบด้วยเนื้อหา 8 บท โดยที่บทที่ 1 ถึงบทที่ 5 กล่าวถึงหลักการและการคำนวณทางด้านอุทกวิทยา และได้แสดงภาพรวมทรัพยากรน้ำของประเทศไทยไว้ในบทที่ 6 ส่วนบทที่ 7 นำเสนอเกี่ยวกับแนวทางจัดการทรัพยากรน้ำ และบทที่ 8 กล่าวถึงการจัดทำแผนพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งนี้ได้จัดให้มีแบบฝึกหัดท้ายบท เพื่อให้ผู้อ่านมีโอกาสฝึกฝนและสร้างความเข้าใจเนื้อหาเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เนื้อหาของตำราเล่มนี้คงจะมีประโยชน์แก่นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป ไม่เพียงแค่เป็นตำราที่ใช้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังสามารถนำเนื้อหาบางส่วนไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำ และบริหารจัดการโครงการและลุ่มน้ำ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนเองภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยที่ยั่งยืน ต่อไป

Skill Level: Beginner