เอกภาพในความเรียบง่าย : สุนทรียศาสตร์แห่งตะวันออก

 เมื่อใดที่เรามองหาคุณค่าความงามในงานทัศนศิลป์ สิ่งหนึ่งที่ใช้เพื่อเป็นหลักในการพินิจพิเคราะห์ผลงานชิ้นนั้นอย่างกว้างที่สุดเรามักจะอ้างถึงเสมอคือ เรื่องของ เอกภาพ (Unity) เหตุใดเอกภาพจึงสำคัญจนแทบจะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการรับรู้ทางสุนทรียศาสตร์ของมนุษย์ถึงเพียงนั้น อาจเป็นดังข้อคิดของจอห์น เลนที่ได้กล่าวถึงธรรมชาติของความงามไว้อย่างน่าสนใจว่า "ความพึงพอใจต่อความงามบนรากฐานจิตใจของมนุษย์ในอันที่จะหลีกหนีจากภาวะแห่งความเสื่อมสลาย ความวุ่นวายและความตายเป็นที่สุด เป้าหมายแนวทางสุดท้ายจึงเป็นเรื่องของการปฏิเสธความไร้ระเบียบ ปฏิเสธการทำลาย และความปั่นป่วนสับสน เพื่อตอกย้ำยืนยันว่าความกลมกลืนต้องอยู่เหนือความสับสน" 

 ผลของความพึงพอใจจากอายตนะต่อรูปลักษณ์ที่ก่อให้เกิดความงาม ความกลมกลืนในความสัมพันธ์อันมีระเบียบแบบแผนที่แฝงอยู่ในประสาทสัมผัสของมนุษย์นี้ ได้ถูกนำมาสร้างเป็นทฤษฏีทางศิลปะเพื่อใช้ในการวิจารณ์ ประเมินค่า วัตถุทางศิลปะ (Art Object) และใช้ในการเรียนการสอนตามสถาบันต่างๆส่วนมาก จะเกี่ยวข้องกับการฝึกฝนมาแบบ academic โดยมีทักษะการใช้องค์ประกอบศิลป์(Composition)สร้างผลงานให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งรูปแบบและเนื้อหา ทั้งจากกฏของดุลยภาพ(Balance)กฏของการรวมตัว (Cohesion)และกฏของความเป็นระเบียบ(Order) สิงเหล่านี้แสดงออกมาในงานจนเป็นสัญชาติญาณในขณะสร้างงานที่ศิลปินนักเรียนศิลปะ และผู้ชมผลงานจะรู้สึกถึงความพอดี ความลงตัวของสัดส่วน รูปทรง พื้นที่ว่าง โครงสร้างและเส้นสายที่มีความต่อเนื่องสอดรับสัมผัสกัน ผลงานจะเร้าประสาทสัมผัสให้ตอบรับภาษาของความสมบูรณ์แห่งอุดมคติแบบฟอร์มอลลิสม์(Formalism) ตื่นตาตื่นใจแบบเอ็กเพรสสิวิสม์(Expressivism) หรือซาบซึ้งเข้าไปในความหมายแฝงนัยยะแห่งสัญลักษณ์ของ อินสตรูเมนทัลลิสม์ (Instrumentalism) หรือรวมทุกจุดประสงค์ของการสร้างสรรค์ ต่างก็มีจุดร่วมหนึ่งเดียวกับคือ แสดงสารัตถะของความงามจากความจริง

 ความจริงที่ว่านี้ คือความจริงของใคร

 ในโลกที่หลักการและความคิดทางสุนทรียศาสตร์ที่มีแบบแผนแบบตะวันตก วิวัฒนาการตามประวัติศาสตร์ความงามแบบตะวันตกมุ่งสู่แก่นแท้ของความจริงจากการแสดงตัวตนของอำนาจทักษะฝีมือในการเลียบแบบธรรมชาติ ความจริงจากบีบคั้นสร้างประสบการณ์ให้สะเทือนอารมณ์ด้วยการเสนอภาพแทนความจริงของจิตนิยม วิภาษวิธีและเรขาคณิตอธิบายความซับซ้อนของชีวิตจากความว่างเปล่าในวัตถุด้วยนามธรรม ด้วยการแสดงออกของจิตในรูปวัตถุตามคำกล่าวของ เฮงส์เกล เอกภาพจึงใกล้เคียงกับการเห็นด้วยตาที่ฝึกจนชำนาญ โดยเชื่อว่าหลักการและเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ให้คำตอบทุกสิ่ง ในโลกวัตถุนิยมอันซับซ้อน

 ขณะที่ความจริงตามธรรมชาติของตะวันออกตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันไม่เกี่ยวข้องกับการเห็นหรือความเข้าใจ แต่เป็นการแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวกับระเบียบดั้งเดิมที่ควบคู่อยู่กับจักรวาลที่สรรพสิ่งต่างอิงอาศัยกัน พิจารณาความงามโดยใช้สมาธิ ความสงบของจิตนำเรามุ่งสู่ สหัสฌาณ คือ การประจักษ์แจ้ง รสนิยม และหัวใจ 

 ความเคารพเร้นลับในธรรมชาติที่ไม่อาจหาคำอธิบาย มโนทัศน์ของความว่างจากคำพรรณาของจอห์น คีทส์ ถึง "อำนาจในการปล่อยวาง" คือ ภาวะที่มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้กับความไม่แน่นอน ความเร้นลับ ความสงสัยโดยไม่หงุดหงิดรำคาญใจเพราะอยากได้ข้อเท็จจริงหรือเหตุผล เป็นคุณลักษณะของเอกภาพประการหนึ่งที่ไม่ได้นำมาเน้นให้เห็นเด่นชัดนักในการศึกษาของสถาบันศิลปะของไทยด้วยระบบการศึกษาที่มีแบบแผนจากตะวันตกต้องการประเมินผลจากทักษะเพื่อนำไปประกอบอาชีพนั้นออกจะขัดแย้งต่อการนำมาใช้ และยากต่อการสอนด้วยวิธีปกติ แต่อาจสามารถสอดแทรกโดยการแนะนำให้ทำงานศิลปะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่ใกล้ตัว วัสดุสร้างงานตามสภาพแวดล้อม สร้างสำนึกให้เกิดความภูมิใจในรากเหง้าของภูมิปัญญา และเข้าใจปรัชญาของตนที่นอกเหนือปรัชญาแบบตะวันตก เพราะเอกภาพที่สามารถแสดงความเป็นปรัชญาของตะวันออก คือ ความผสานกลมกลืนของชีวิตกับธรรมชาติ สมถะ ถ่อมตน เป็นความเรียบง่ายของชีวิต ความสุขและความพึงใจจากความพอเพียง

  ไม่ว่าจะเป็นสวนแบบเซนที่ทำให้เราได้มีเวลาเพ่งพินิจไปในความว่าง ความซื่อบริสุทธิ์ของช่างแกะพระไม้พื้นบ้านอีสานให้เราเห็นว่าความงามที่การสร้างสรรค์ของมนุษย์ว่าแม้จะมีประโยชน์ใช้สอยเป็นตัวกำหนดคุณค่า ทั้งทางด้านกายภาพและความพึงพอใจ แต่ความบริสุทธิ์ใจในการสร้างด้วยความศัทธาศิลปะพื้นถิ่นที่เรียบง่ายจึงให้คุณค่าระหว่างกลางกับสองสิ่งนั้นคือ "ความงามที่รวมถึงคุณค่าของเจตนาในการกระทำด้วย"

 ความงามจึงไม่ใช่การใช้สมองคิดแต่คุณสมบัติของมันอยู่ที่ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา

ความไม่สมบรูณ์แบบกลับมีเสนห์มากกว่า การวิ่งตามกระแสศิลปะในโลกตะวันตกเป็นแบบอย่างที่ดีแบบหนึ่งในการเรียนรู้ แต่เราจะเรียนรู้มากไปกว่ารากฐานของตนเองได้อย่างไร ประโยคที่ว่า ความสวย คือ รู้อยู่ รู้มี รู้พอ ของศิลปะอีสาน อาจกลายเป็นนิยามของสำคัญของสุนทรียศาสตร์ในศิลปะตะวันออกและแผ่ขยายได้กว้างไกลเหมือนวะบิ-ซาบิของสุนทรียศาสตร์ญี่ปุ่นก็เป็นได้ เพราะบุคลิคภาพเดิมแท้ของเราที่กำลังถูกหลงลืมก็คือ ความจริงใจไร้เหล์เหลี่ยมของคนอีสานกับการดำเนินชีวิตกลมกลืนระหว่างชีวิตกับธรรมชาติที่แสนจะเรียบง่ายจะยังคงอยู่ในตัวเราตลอดไป

 บัญชา ควรสมาคม

Skill Level: Beginner