รู้จักโซตัส

รู้จักโซตัส

(จากหนังสือ มนุษย์กับการรู้จักตนเอง โดย เอกศักดิ์ ยุกตะนันทน์)

 

...  แต่สำหรับเรา สิ่งที่ร้ายหนักยิ่งไปกว่าเรื่องของการถูกบังคับให้เรียนอย่างเห็นเงินเป็นพระเจ้าก็คือ แม้ขณะที่คุณหมดชั่วโมงเรียนแล้วก็ไม่ใช่ว่าคุณจะมีอิสระหรือมีความสุข เพราะทันทีที่คุณก้าวออกนอกห้องเรียนคุณก็ก้าวเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์ของระบบโซตัส ความเป็นจริงของสถานศึกษาไทยทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในขณะนี้ก็คือ นักศึกษาใหม่หลายๆ คน หรือทั้งหมดกำลังเริ่มต้นลิ้มรสความเจ็บปวดจากการถูกบังคับ ควบคุม ข่มขู่ อย่างไร้สาระ จากอำนาจของรุ่นพี่ภายใต้ระบบโซตัส แต่ความเจ็บปวดนี้ก็แลกเปลี่ยนด้วยอะไรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือในการปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่  ความบันเทิงจากงานเลี้ยงต้อนรับ ที่สำคัญก็คือ การยอมรับจากรุ่นพี่ และการได้รับเกียรติยศ และการขนานนามว่าเป็นส่วนหนึ่งของชื่อที่ตั้งขึ้นเป็นพิเศษ ได้แก่ “เลือดสีชมพู” “เลือดสีอิฐ”  “กาลพฤกษ์ช่อที่ 40” “กาสลองช่อที่...” ฯลฯ โดยคุณต้องยอมรับการแบ่งแยกสถานะเป็นชนชั้น “รุ่นพี่” “รุ่นน้อง” และในท่ามกลางเกียรติยศ ความภาคภูมิใจของการเป็นที่รัก เป็นคนดีมีคุณค่า เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองด้วยชื่อพิเศษๆ พวกนั้น คุณต้องยอมรับว่าการถูกกระทำด้วยความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในสังคมนั้นๆ  แต่ทว่าสิ่งที่ชวนหดหู่อย่างที่สุดใน “วัฒนธรรม” ที่มีความรุนแรงเป็นส่วนประกอบเช่นนี้ก็คือ การสูญเสียชีวิตของคนที่อ่อนแอ ที่คนอื่นยอมแลกไปเพื่อความเข้มแข็งสถาพรของวิถีชีวิตใน “ลัทธิสถาบันนิยม” และในความสัมพันธ์แบบ “ชนชั้น” ของนักศึกษา ระบบโซตัสนั้นเป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสมัยที่มนุษย์ยังป่าเถื่อนที่จะต้องมีเลือดและน้ำตามาเป็นเครื่องสังเวยเพื่อแลกกับสิ่งมีค่าบางอย่างที่สังคมต้องการ แต่นี่เป็นความจริงที่รุ่นพี่และครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะไม่ยอมกล่าวถึง ในขณะที่เขากำลังเอ่ยปากชักชวนคุณให้เข้ามาสู่ระบบ (เพื่อให้ชัดเจนขึ้น ขอให้ข้อมูลว่า ในช่วงปีที่ผมกำลังเขียนหนังสือเล่มนี้ มีคนตายสองคน คนที่หนึ่งเป็นนักศึกษาในสถาบันราชภัฎ จมน้ำตายเพราะถูกบังคับให้ลงทะเลทั้งที่ว่ายน้ำไม่แข็ง คนที่สองเป็นนักศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร ตายเพราะถูกบังคับให้ดื่มน้ำ 40 ลิตร ทั้งสองกรณีไม่สามารถเอาผิดลงโทษและเรียกร้องเอาค่าเสียหายทางกฎหมายกับใครได้ เพราะไม่มีการประทุษร้ายทางร่างกาย)

ถ้าคุณรู้ว่ามีคนต้องสูญเสียชีวิตเพื่อเป็นเครื่องบูชาให้กับความศักดิ์สิทธิ์ของระบบโซตัสจริงๆ คุณก็น่าจะพอมีสติให้หยุดคิดและตั้งคำถาม ทำไมครูบาอาจารย์จึงปิดบัง? ทำไมพ่อแม่ของคุณจึงบอกว่าทนไปเถอะลูกแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง? และคุณก็อาจหวนกลับมาถามตัวเองว่า ทำไมเราจึงควรยอมรับความรุนแรงในระบบโซตัส? ความรุนแรงอาจทำให้ผู้ใช้มีความสุขด้วยความสะใจ แต่ทำให้ผู้รับมีทุกข์ ทำไมเราจึงควรยอมทนต่อความทุกข์ที่ผู้อื่นก่อให้แก่เรา เพียงเพื่อที่เราจะได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นคนดีรักพวกพ้องหมู่คณะเท่านั้นหรือ? คำว่า “เป็นคนดี มีสามัคคี รักพวกพ้อง” ทำให้เราเป็นคนมีคุณค่าจริงๆ หรือ? ทำไมคุณค่าของเราในสังคมจึงต้องแลกมาด้วยการสูญเสียความสุขและความเป็นตัวของตัวเอง?

ระบบโซตัสอยู่คู่ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทยมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยรับมาจากอังกฤษ ซึ่งอังกฤษใช้ระบบนี้ในการสร้างนักปกครองสำหรับอาณานิคมของตน ระบบนี้เคยหายไปจากมหาวิทยาลัยไทยในช่วงเวลาสั้นๆ ในยุคที่นักศึกษามีการตื่นตัวทางการเมือง คือยุค 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 และต่อเนื่องหลังจากนั้นไปอีกสามสี่ปี โดยทั่วไปแล้ว จะมีคนเสียชีวิตให้กับความรุนแรงในระบบโซตัส อาจจะเป็นสองสามปีต่อหนึ่งคน ดังนั้นจึงมีคนตายมาแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย (ถ้ามีการหาสถิติความตายและความบาดเจ็บของนักศึกษาไทยในเรื่องนี้ คงมีคนตายไปไม่น้อยกว่า 30 คน บาดเจ็บทางร่างกายหลายร้อย บาดเจ็บทางจิตใจคงนับไม่ถ้วน) สิ่งที่น่าฉงนที่สุดก็คือ สังคมไทยไม่เคยยอมรับที่จะเรียนรู้จากข้อเท็จจริงเรื่องนี้เลย ราวกับว่ามีอะไรบางอย่างที่มีอำนาจอยู่ในสังคม ต้องการให้ระบบนี้คงอยู่ต่อไป โดยความสูญเสียนี้เป็นราคาที่ต้องจ่ายไปเพื่ออะไรบางอย่างที่มีค่าอย่างมากต่อสังคม ซึ่งหมายความว่า ความตายไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือเป็นเพียงแค่อุบัติเหตุ ซึ่งอาจจะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต (เพราะถ้าป้องกันได้ก็ควรป้องกันมานานแล้ว) แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหากว่ามีใครที่อ่อนแอถึงจุดที่ทนไม่ไหว เพราะธรรมชาติของระบบโซตัสก็คือการข่มเหงรังแก โดยมีทีมงานรุ่นพี่ทำหน้าที่ “เสียสละ” ทำตัวเป็น “ผู้ร้าย” คอยข่มเหง หาเรื่องรังแกรุ่นน้อง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างให้เกิดความโกรธ และความรู้สึกว่ามีศัตรูร่วมกันในหมู่นักศึกษารุ่นน้อง เพื่อในที่สุดแล้วจะได้หันหน้าเข้าหากัน รักและสามัคคีกัน เกิดความรู้สึกเป็นพวกเป็นพ้องขึ้นมา ซึ่งความรักและความสามัคคีนี้เองคือสิ่งที่สังคมให้ค่าและถือว่าคุ้มแล้วที่จะยอมให้มีการบาดเจ็บสูญเสีย และหากแม้นว่าจะมีใครโชคร้ายตายไปบ้างก็ยอม ระบบโซตัสเป็นส่วนสำคัญของลัทธิสถาบันนิยม ลัทธิสถาบันนิยมเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิชาตินิยม ทั้งหมดอยู่ภายใต้คำสอนเรื่องความรักพวกพ้องและความสามัคคี ซึ่งก็คงพอทำให้เราเห็นได้ว่าใครคือผู้ที่สอนเรื่องพวกนี้อยู่ทุกวัน และผู้ที่สอนมีเสียงดังมากขนาดไหนในสังคม และทำไมสังคมไทยทั้งสังคมจึงทำตัวไม่รู้ไม่ชี้กับความตายของนักศึกษาผู้อ่อนแอเคราะห์ร้าย ราวกับเป็นพวกไร้หัวใจ

และสังคมไทยก็ไม่เคยมีใจที่กล้าพอที่จะพูดออกมาตรงๆ ว่ามันคุ้มแล้วที่จะมีคนสักคนตายเพื่อแลกกับความรักความสามัคคีในสังคมของนักศึกษาจำนวนสักแสนสองแสนคน หรือสักล้านคน ต่อห้าหกปี แล้วคุณละจะกล้าพูดไหม แล้วถ้าเกิดว่าคนที่จะต้องตายคือคุณละ คุณจะยินดีหรือไม่ ความตายเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย การข่มเหงรังแกก็เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย แต่ความรักพวกพ้องและความสามัคคีดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ดูเหมือนว่าดีก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีจริงๆ ก็ได้ เราจะใช้อะไรตัดสิน ลัทธิสถาบันนิยม ลัทธิชาตินิยม เป็นสิ่งที่ดีจริงหรือ ทำไมคนจำนวนหนึ่งพูดกรอกหูเราอยู่ทุกวันว่ามันคือสิ่งที่ดี ทั้งๆ ที่นักประวัติศาสตร์บอกเราว่าลัทธิชาตินิยมเผ่าพันธุ์นิยมพาไปสู่การข่มเหงรังแกคนชาติพันธุ์อื่นที่ด้อยอำนาจกว่า จับเขามาเป็นทาส การรุกรานชาติเพื่อนบ้านเพื่อขยายอำนาจ การขยายดินแดนและลัทธิล่าอาณานิคม นี่คือสิ่งที่สยามเคยทำกับคนลาวในภาคอีสาน และคนมลายูในภาคใต้ ลัทธิชาตินิยมเผ่าพันธุ์นิยมเคยนำไปสู่การสังหารหมู่คนยิว และสงครามโลกที่มีคนตายเป็นหลายสิบล้านคน  และสำหรับลัทธิสถาบันนิยมในยุดปัจจุบันนั้น นักรัฐศาสตร์ก็บอกเราว่ามันพาไปสู่การเล่นพรรคเล่นพวก ระบบอุปถัมภ์ ความอ่อนแอและการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศชาติ และอันที่จริงเราก็ไม่ได้อยู่ในยุคที่มีสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือกับลัทธิคอมมิวนิสต์อีกต่อไปแล้ว เรามีแต่สงครามทางเศรษฐกิจ สงครามกับยาเสพติด สงครามกับการก่อการร้าย สงครามกับคอรัปชั่น ซึ่งระบบอุปถัมภ์และลัทธิชาตินิยมคือตัวสร้างและขยายปัญหา แต่ผลประโยชน์บางอย่างก็ทำให้ชนชั้นสูงยังคงพร่ำสอนลัทธิชาตินิยม และ คนในมหาวิทยาลัยก็ยังหลับหูหลับตาบูชาลัทธิสถาบันนิยมและระบบโซตัส  จิตสำนึกทางศีลธรรมของผู้คนที่หลงใหลลัทธินี้คงทำงานบกพร่อง เพราะเหตุผลด้านลบอย่างที่กล่าวมาไม่อาจเจาะเข้าไปสู่ส่วนลึกของจิตใจเขาได้เลย เขาไม่อาจมองเห็นเลยว่าเขากำลังสนับสนุนสิ่งที่พาไปสู่ความอยุติธรรม เพราะมันไม่ยุติธรรมเลยที่คนๆ หนึ่งต้องตายเพียงเพื่อคนอื่นๆ จะได้รักกัน ไม่ว่าจะมีจำนวนมากแค่ไหนก็ตาม และนี่ยังไม่กล่าวถึงความอ่อนแอของสังคมไทยโดยรวมที่เกิดขึ้นจากลัทธิดังกล่าว

แต่แม้ว่าคุณจะเจ็บปวดและเห็นความชั่วร้ายของระบบโซตัสอย่างไร ถ้าคุณก็ยังไม่ยอมถอยออกมา คำถามที่น่าฉงนที่สุดก็คืออะไรทำให้จิตใจของคุณอ่อนแอราวกับทาสที่ไม่ยอมรับการปลดปล่อย? คุณเข้าใจจิตใจของคุณเองหรือไม่

ดูเหมือนว่าจะมีคำพูดบางคำที่ถูกฝังไว้ในสมองของคุณ ที่สามารถผูกคุณไว้กับการเป็นทาสได้ นั่นก็คือคำพูดที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” ซึ่งหมายความว่า คุณอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ คุณต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น ดังนั้นคุณต้องยอมตัวเองอยู่ใต้อำนาจคนที่อยู่มาก่อน คุณต้องยอมประจบเอาอกเอาใจพวกเขาด้วยการยอมทำตามคำสั่ง เขาถึงจะรักและรับคุณเข้าเป็นพวกเป็นรุ่นน้อง ช่างเหมือนกับที่คุณต้องเอาดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปกราบเท้าฝากตัวกับครูบาอาจารย์ในวันไหว้ครู ท่านถึงจะรักจะเมตตารับเข้าเป็นศิษย์ คุณอาจท้วงว่าเรื่องที่สองนี้เป็นเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมอัน “ดีงาม”  แต่ก็มีอะไรที่ตรงกันอยู่มากใช่ไหม ระบบโซตัสเองก็อ้างคำว่าประเพณี และตามทฤษฎีวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์แล้ว พิธีไหว้ครูก็คือสัญลักษณ์สุดยอดของระบบอุปถัมภ์ระหว่างชนชั้นผู้ให้และชนชั้นผู้รับในสังคมไทย ดังนั้น อาจอนุมานได้ตรงๆว่าระบบโซตัสก็คือระบบอุปถัมภ์ระหว่างชนชั้นในหมู่นักศึกษากันเอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากระบบอุปถัมภ์และระบบชนชั้นในสังคมไทย [1]

 

...   การไหว้ที่มีค่าทางศีลธรรมต้องมาจากใจจริง คือ มาจากความเคารพและศรัทธาด้วยใจจริง การไหว้ที่ถูกบังคับให้ทำอย่างในระบบโซตัสจึงเป็นการประจบประแจง การบังคับให้คนต้องขายเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง ขายความรู้สึกว่าตนมีค่าเสมอกับผู้อื่น เพื่อแลกกับการได้รับการยอมรับ “นับรุ่น” จากผู้ที่เข้ามาเรียนก่อน เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่นักศึกษาที่เข้ามาเรียนก่อน จะเป็นผู้ที่สามารถจะมอบสิ่งที่ดี มีคุณค่า ที่มีความหมายต่อนักศึกษาผู้เข้ามาทีหลัง พอที่จะให้ผู้ที่เข้ามาทีหลังเกิดความเคารพและศรัทธาได้ด้วยใจจริง ผลประโยชน์ที่อาจให้ได้ก็เป็นเพียงของเล็กๆ น้อยๆ แต่สิ่งที่มีมากกว่าจริงๆ ก็คือช่องทางในการสร้างแรงกดดันให้ผู้เข้ามาทีหลังซึ่งอ่อนแอ ต้องยอมตนตกอยู่ใต้อำนาจ ดังนั้นการไหว้ในระบบโซตัสจึงเป็นการบิดเบือนทางศีลธรรม เช่นเดียวกับการไหว้ลูกค้าของพนักงานบริการต่างๆ ที่เป็นไปเพื่อผลกำไรของเจ้าของกิจการ และเครื่องหมายแสดงความบิดเบือนนี้ก็คือความรู้สึกเจ็บปวด สูญเสียเกียรติและศักด์ศรีของตนเองที่เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ไหว้   ...

...   แม้เราจะยอมรับในความจริงง่ายๆ ว่า มนุษย์ต้องการเสรีภาพ ซึ่งก็คือความต้องการที่จะเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดตนเอง เพื่อที่จะได้เป็นและทำในสิ่งที่ตนเองมีความสุขที่จะทำ แต่สิ่งที่น่าฉงนกว่าความรักและความต้องการในเสรีภาพ ก็คือการเกลียดกลัวเสรีภาพทั้งของตนเองและเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งก็คือการยอมสูญเสียปัจเจกภาพของตนเอง และการรังเกียจปัจเจกภาพของผู้อื่น การยุติการใช้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง ซึ่งเท่ากับการปฏิเสธความสุขที่ทำให้ชีวิตมีค่าและมีความหมายอย่างแท้จริง แล้วหันไปยอมรับความสุขที่ไร้คุณค่าและมีความหมายเพียงแค่ปลอมๆ ไว้แทน ตัวอย่างของความจริงข้อนี้ก็คือ สิ่งที่เราเห็นในระบบโซตัสที่ได้กล่าวถึงไปแล้วหลายครั้ง นักปรัชญาอัตถิภาวะนิยมบอกเราว่า เสรีภาพตามมาด้วยผลที่เราอาจไม่ปรารถนา นั่นก็คือ ความประหวั่นพรั่นพรึง ความรู้สึกไม่มั่นคง และความกลัวต่อการที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเองอย่างสมบูรณ์ หรือแม้แต่ความรู้สึกว่าชีวิตคือความว่างเปล่าไร้ความหมาย นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบว่าทำไมคนจึงปฏิเสธเสรีภาพของตนเอง

หันมามองดูกิจกรรมพิเศษของคุณนอกห้องเรียน ตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามา พวกคุณบางคนก็มีความรู้สึกไม่มั่นคง กลัวต่อการที่จะต้องดูแลตัวเอง เมื่อมีรุ่นพี่เสนอตัวเข้ามาดูแลให้ความช่วยเหลือ คุณก็ดีใจตอบรับอย่างไม่รู้อะไร รีบเข้ากลุ่มรวมพลเข้าพวกเพื่อให้มีสังกัด แล้วคุณก็เผชิญหน้าต่อการใช้อำนาจอย่างไร้สาระ คุณเจ็บปวดแต่ก็ยอมทนเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากรุ่นพี่ และจากเพื่อนส่วนใหญ่ที่ยอมตนอยู่ใต้อำนาจของรุ่นพี่ เพื่อให้ได้รุ่น เราเคยอธิบายไว้ว่าเพราะคุณต้องการ “อัตลักษณ์ร่วม” คือได้มีชื่อว่าเป็น “กาสะลอง” “กาลพฤกษ์” “จามจุรี” ช่อที่เท่านั้นเท่านี้หรือมีเลือดสีนั่นสีนี้ นั่นเป็นประเด็นของวิชาสังคมวิทยา แต่เบื้องหลังพลังผลักดันทางสังคมก็คือจิตวิทยา นักจิตวิทยาได้ทำการทดลอง และพบว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะพยายามกลืนตนเองให้เข้ากับกลุ่มคนที่ตนต้องอยู่ร่วมด้วย หรือยอมรับอำนาจและคำสั่งของคนอื่นที่ตนสมัครใจเข้าไปผูกพัน เช่น ในการทดลองให้ตอบคำถาม คนจะตัดสินใจเลือกคำตอบที่ตนเองรู้ว่าผิดเพื่อให้เข้ากับคนอื่นๆ ที่เป็นตัวล่อ หรือเมื่อสมัครเข้ามาสู่การทดลองแล้ว คนจะยอมรับคำสั่งของผู้ทดลองให้กดปุ่มช็อตไฟฟ้าตัวล่อซึ่งตอบคำถามผิด

แต่สถานการณ์ที่นักจิตวิทยาทดลองนี้ยังนับว่าตื้นมากเมื่อเทียบกับชีวิตจริง ในระบบโซตัสของไทย นักศึกษายอมกลืนตนเองและสยบให้กับอำนาจจนอาจบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือฆ่าตัวตายเพราะทนไม่ไหว ในอเมริกามีความเชื่อแบบแฟชั่น ว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รวดเดียว 5 แก้ว และเมื่อมีคนที่ไม่เคยชินกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พยายามพิสูจน์ตัวเองแบบนั้น เพราะถูกท้าทายจากสังคมที่ตนเพิ่งไปเข้าร่วมเป็นพวก เช่น เพิ่งเข้าไปเป็นน้องใหม่ แล้วก็เสียชีวิตเพราะร่างกายรับไม่ไหว ทำให้มีการสำรวจกันอย่างจริงจังว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ทำเช่นนั้นได้ หรือเคยพิสูจน์ตนเองแบบนั้นมาแล้วจริงหรือไม่ เมื่อผลออกมาว่ามีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น แรงกดดันของแฟชั่นนี้ก็ลดน้อยลงไปได้บ้าง

ดังนั้นคำถามก็คือ แนวโน้มตามธรรมชาติของคนที่จะกลืนตนเองด้วยการทำตัวให้เหมือนกับผู้อื่น หรือจะยอมรับอำนาจของคนที่ตนเข้าไปผูกพันมีมากแค่ไหนกันแน่? ดูเหมือนว่าคนจะยอมคล้อยตามสังคมจนตัวตาย นักจิตวิทยาเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นตัวแปรที่สำคัญ ในวัฒนธรรมที่ส่งเสริมตัวตนเดี่ยว (หมายถึงตัวตนที่เป็นปัจเจกสูง) คนจะยอมกลืนตนเองและยอมตามอำนาจในขอบเขตที่น้อยกว่าคนในวัฒนธรรมที่สนับสนุนตัวตนร่วม (หมายถึงตัวตนที่เป็นปัจเจกต่ำ)

...   “จิตวิเคราะห์” หรือ Psychoanalysis คือสาขาของวิชาจิตวิทยาที่ศึกษากลไกต่างๆ ของจิตที่เกี่ยวข้องกับปมและการเก็บกดทางจิตใจ เริ่มต้นโดย ซิกมันด์ ฟรอยด์  ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติด้านมืดของจิตใจ การแสวงหาอำนาจ การหันเข้าหาความรุนแรง การถดถอยเหนี่ยวรั้งของพัฒนาการ พฤติกรรมที่ไร้สาระเกินเลยและออกนอกขอบเขตของเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถพัฒนาแรงจูงใจในชีวิต ไปให้สูงกว่าขั้นของการต้องการความยกย่องชื่นชม ความรุนแรงและธรรมชาติของระบบโซตัส หรือความฟุ่มเฟือยอย่างไร้สาระของพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และที่จริงแล้ว จิตวิเคราะห์ยังเปิดเผยให้เราเห็น ถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมากมายที่เราไม่เคยรับรู้เลยว่ามีความเชื่อมโยงต่อกัน หรือมีเหตุผลที่ลึกซึ้งบางอย่างซ่อนอยู่เบื้องหลัง

...   สิ่งที่น่าสนใจมากตรงนี้ก็คือ ดอสโตเยฟสกี้ทำให้เราเห็นว่า คนที่ซ่อนปมปัญหาไว้ข้างใน หากฉลาดพอและสถานการณ์เอื้ออำนวย ก็สามารถจะนำเอาศีลธรรมออกมาบังหน้าและใช้มันทำร้าย “เหยื่อ” เพื่อระบายความโกรธแค้นเจ็บปวดของตนเอง และผู้ที่อ่อนแอเพราะมีปัญหาของตนเองซ่อนอยู่ภายใน ก็จะตกอยู่ใต้อำนาจของ “วาทกรรม” ทางศีลธรรมนั้น แม้จะเจ็บปวด แต่ด้วยความเป็น “มาโซคิสต์” (masochist) ที่แฝงอยู่ในตัว ก็จะเกิดความรักความบูชาในตัว “ซาดิสต์” (sadist) ผู้ที่กระทำรุนแรงกับตน หลงเชื่อถ้อยคำว่าเขาทำร้ายตน ก็เพราะความรักความปรารถนาดีอยากให้ตนเป็นคนดียิ่งขึ้น

เราควรหยุดและหันกลับมามองชีวิตจริงของเราตรงนี้สักนิดว่า มีอะไรที่พอจะเทียบเคียงกับวาทกรรมที่ “ผม” ใช้กระทำกับ “ลิซ่า” หรือไม่ มองดูชีวิตคุณในมหาวิทยาลัย คุณเข้ามาใหม่ วัฒนธรรมชนชั้น การเลี้ยงดูของพ่อแม่ การอบรมของโรงเรียน พร่ำสอนให้คุณอ่อนน้อมคล้อยตาม คุณไม่เคยมีเสรีภาพที่จะเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง รู้สึกอ่อนแอ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่กล้าที่จะอยู่อย่างเป็นเอกเทศและรับผิดชอบตนเอง ในภาษาของนักจิตวิทยา คุณคือคนที่ขาดความรู้สึกยกย่องชื่นชมในตนเอง มีคนกลุ่มใหญ่ประกาศตนว่าเขารักคุณ จะปกป้องดูแลคุณ คุณก็รีบวิ่งเข้าไปสู่อ้อมแขนของเขา แล้วก็พบว่า จะต้องยอมตนอยู่ใต้เขา ยกมือไหว้เขาเพื่อประจบเอาใจ วัฒนธรรมชนชั้นที่คุณเติบโตมาทำให้เรื่องนี้เป็นของง่าย แล้วในที่สุดคุณก็ถูกฝึกทหาร ถูกขู่ตะคอก ถูกทำรุนแรงราวกับโกรธกันมาสักร้อยปี ทำอะไรก็กลายเป็นความผิดไปหมด แต่หลังจากนั้นเมื่อสาสมแก่ใจเขาแล้ว ก็จะมีการเล่นละครหลั่งน้ำตาในพิธี “กำซาบ” ที่เป็นสูตรสำเร็จ ที่จะบอกว่าที่ทำไปทั้งหมดนั้นใจจริงแล้วไม่ได้อยากทำเลย (แต่ก็ทำได้อย่างเมามันสมจริงมาก!) ที่ต้องฝืนใจทำก็เพราะความรัก ความหวังดี อยากให้คุณเข้มแข็งอดทน สามารถเผชิญความยากลำบากในอนาคตได้ ละลายพฤติกรรมแข็งข้อ ดัดให้เป็นคนมีระเบียบวินัย หัดให้เคารพกฎของคนหมู่มาก กลายเป็นพลเมืองที่มีค่าของประเทศชาติต่อไปในอนาคต (ดูเหมือนเขาจะทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่กว่าพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของเราเสียอีก แต่ทว่าที่จริงแล้วเขาทำคุณให้กลายเป็นพลเมืองที่ไร้ค่าที่สุดของระบบประชาธิปไตยต่างหาก คือทำให้คุณไม่กล้าที่จะแตกต่าง และเกลียดชังคนที่แตกต่างจากคุณ) นี่คือ “วาทกรรม” ทางศีลธรรมที่เขาใช้อ้างเพื่อแสวงหาอำนาจเหนือคุณ แต่คุณก็หลงเชื่อ ปลาบปลื้มว่าเขารักคุณจริงๆ ทั้งๆ ที่พ่อแม่ผู้ที่รักคุณจริงๆ จะทำอะไรอย่างนั้นกับคุณ ก็ต่อเมื่อคุณทำความผิดจริงๆ เท่านั้น ไม่มีพ่อแม่ที่สุขภาพจิตปกติคนไหนที่จะลงโทษลูกเพียง เพื่อให้ “เข้มแข็ง อดทน เผชิญกับความยากลำบากในอนาคตได้” สรุปก็คือ ในสถาบันอุดมศึกษาของไทย มนุษย์ผู้มีปัญหาทางจิตสองกลุ่มมาเจอกัน สถานการณ์และวัฒนธรรมเอื้ออำนวย กลุ่มหนึ่งได้เล่นบทบาท “ซาดิสต์” อีกกลุ่มเล่นบทบาท “มาโซคิสต์” (แต่เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ “มาโซคิสต์” บางคนบาดเจ็บ และตายจากไปเสียก่อน ก่อนที่จะได้เปลี่ยนมาเล่นบท “ซาดิสต์” กับ “เหยื่อ” ที่จะเข้ามาใหม่ในปีต่อไป)

คุณอาจจะอยากเถียงหัวชนฝาว่า ความตายจากระบบโซตัสนั้นเป็นความผิดพลาดที่บังเอิญเกิดขึ้นเพียงบางครั้งบางคราว ฉะนั้นไม่ว่าอย่างไรระบบโซตัสก็เป็นของดีจริงๆ เพราะมันสร้างความสามัคคีซึ่งเป็นคุณธรรมทางสังคมที่ชาติต้องการ และมันสร้างคนให้มีความเคารพในกฎระเบียบ กติกา จารีต ประเพณี บรรทัดฐาน ข้อบังคับๆ ต่างของสังคม และสร้างให้เกิดความรักในพวกพ้องหมู่คณะ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพวกเรา นี่มีน้ำหนักเหนือกว่าความเจ็บปวดเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว และความตายของคนไม่กี่คน มากนัก[2] สรุปก็คือคุณพร้อมจะยืนยันจริงๆ ว่าความรุนแรงต่างๆ ที่คุณถูกกระทำเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งอันควรแก่เหตุผลและเป็นความถูกต้องแล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้นจริงๆ มันเป็นเหมือนน้ำตาแห่งความเจ็บปวดของลิซ่า ถ้าไม่เจ็บปวดก็จะไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนเลว

แต่ขอให้เอาความรู้จากบทที่แล้วมาประยุกต์ใช้ในเรื่องนี้กันดูสักนิด ลองคิดดูสิว่า ระบบโซตัสช่วยพัฒนาระดับสติปัญญาของคุณให้เติบโตขึ้นไปได้อย่างไรบ้าง สงสัยว่าคงจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คงจะเป็นเรื่องตลกมากที่จะบอกว่าการฝึกวินัยแบบพลทหารช่วยพัฒนาสติปัญญาของนักศึกษา ถ้าบอกว่าช่วยทำลายจะน่าเชื่อมากกว่า ตามเค้าโครงพัฒนาการทางการคิดวิพากษ์วิจารณ์ของเพอรี่ อย่างมากคุณก็จะเป็นได้แค่พวกทวินิยมทางความคิดเรื่องความจริง คือเห็นว่าจริงเท็จเป็นของที่ตัดสินได้อย่างเด็ดขาด แต่ส่วนใหญ่แล้วคุณเองไม่มีปัญญาจะบอกได้ ต้องให้ที่ผู้รู้มากกว่า คือครูบาอาจารย์หรือผู้ใหญ่ในสังคมมาบอกให้ ถ้าสังคมส่วนใหญ่พูดอะไรตรงกันมากๆ ก็แปลว่าต้องจริง ดังนั้น “ชาติ” ต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง (ไม่ใช่ของสมมติแน่นอน) และความสามัคคีต้องพาไปสู่ความดีเสมอไม่มีวันพาไปสู่ความชั่วแน่ (แต่ เอ เพราะ มีใครบางคนที่มีเสียงและมีอำนาจอยู่ในสังคมสอนคุณทุกวันเรื่องชาติและความสามัคคีใช่ไหม แล้วคุณรู้เบื้องหลังอะไรของผู้ที่ทรงอำนาจบ้างไหม รู้ไหมว่าเขารักษาอำนาจของเขาไว้ จากการต่อสู้ทางการเมืองสมัยที่การรุกรานของถูกลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างไร รู้ไหมว่ามีใครตายไปบ้าง คุณรู้เรื่องหกตุลาไหม รู้ไหมว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร มาจากไหน ทำไมคนยากคนจนถึงยอมไปเข้าพวกกับคอมมิวนิสต์กันมากมาย คุณเคยได้ยินคนที่สอนให้คุณรักชาติสอนให้คุณรักในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ซึ่งเป็นหลักการแห่งประชาธิปไตยพร้อมไปด้วยบ้างไหม ฯลฯ คุณ คุณจะงงมากไหม ถ้ามีใครมาชวนให้คุณถามเรื่องของผู้ทรงอำนาจในสังคม ว่าเขาร่ำรวยขึ้นมาจากอะไร) ถ้าคุณไม่มีความคิดอะไรเลยสักอย่าง เพราะไม่เคยถามตัวเอง เลยไม่มีคำตอบอะไรสักอย่าง คุณก็เป็นได้แค่ทหารเลว คือต้องให้ข้างบนคอยบอกว่าอะไรคือสิ่งที่จริง เท็จ ใช่ ไม่ใช่ ในทุกๆ เรื่อง จะทำอะไรก็คงไม่รู้เหตุผลจริงๆ ว่าจะต้องทำลงไปเพราะอะไร รอให้คนผู้ที่อยู่ในระดับที่รู้อะไรดีกว่าสั่งการลงมาเพียงอย่างเดียว

    แล้วทำไมคุณถึงชอบในการเป็นแค่ทหารเลวของระบบโซตัส (คำว่าทหารเลวเป็นสำนวนพูด หมายถึงทหารระดับล่างที่ฟังคำสั่งแล้วปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียว ไม่มีอำนาจและสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเอง)  อาจเป็นเพราะระดับการใช้เหตุผลทางศีลธรรมตามทฤษฎีของโคลเบิร์กสำหรับคุณอยู่แค่ระดับของการเป็นเด็กดีเด็กน่ารักของพ่อแม่ หรืออยู่แค่ขั้นการยึดถือกฎระเบียบของสังคม ซึ่งทำให้จิตใจของคุณยังคงชอบการแต่งเครื่องแบบนักศึกษา เหมือนกับที่ตอนที่เป็นเด็กนักเรียนประถมคุณอาจชอบการเป็นลูกเสือ เนตรนารี อนุกาชาด ที่แสดงตนด้วยเครื่องแบบที่ดูเท่ ดูดี รูปแบบที่พิเศษ แสดงออกต่อสังคมถึงการมีพันธะกิจพิเศษมีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับผู้อื่น มีการฝึกวินัย ที่เหมือนกับการได้รับการพัฒนาบุคลิกภาพ โดยวัยประถมก็ถูกฝึกมาแล้ว มัธยมก็ยังอาจถูกฝึกอีก เข้ามหาวิทยาลัยก็ยังถูกฝึกอีก

ปัญหาก็คือ วัยที่มากขึ้นแต่จิตใจของคุณกลับยังติดยึดอยู่กับที่ ไม่เติบโตตามไปด้วย เพราะคุณยังแยกแนวคิดเรื่องบุคลิกภาพไม่ออกจากความเป็นคนดีของการเป็นเด็กดีเด็กน่ารักของพ่อแม่ หรือการยึดถือกฎระเบียบของสังคม ซึ่งก็คือการเป็นเด็กดีเด็กน่ารักของสังคม คุณจึงภาคภูมิใจกับการแต่งเครื่องแบบของมหาวิทยาลัยที่ทั้งร้อน ทั้งอึดอัดทรมานน่ารำคาญ และกระจุกกระจิก ยุ่งยากวุ่นวาย ด้วยหัวเข็มขัด เน็คไท ตุ้งติ้ง เข็มกลัด ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดนั้นที่จริงแล้ว เป็นเพียงเครื่องแสดงสถานะของการเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจของชนชั้นผู้ให้การอุปถัมภ์ ผู้ซึ่งมีอำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆ เหนือคุณ ก็เท่านั้นเอง พวกเขาคือคนคุณไม่อาจจะตั้งคำถามและโต้เถียงได้[3] และพวกเขาเพียงต้องแต่งตัวในชุดสุภาพมาทำงานเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ซึ่งพวกเขาก็ได้แก่ ครูบาอาจารย์ของคุณนั่นเอง

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ มนุษย์มีธรรมชาติที่ต้องการความเสมอภาคในเกียรติและศักดิ์ศรี ดังนั้นสังคมชนชั้นจึงสร้างความความเจ็บปวด ที่บาดลึกลงบนจิตวิญญาณของคนชนชั้นล่างทั้งหลาย และแม้จะดูเหมือนว่า ความขัดแย้งทางชนชั้นจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการต่อสู้ปฏิวัติ เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคม  เปลี่ยนระบบสมบูรณาสิทธิราชมาเป็นระบบประชาธิปไตย แต่ความบาดเจ็บทางจิตใจที่รุนแรงของสังคมชนชั้น ที่ฝังรากอยู่ในวัฒนธรรม ก็สามารถสร้างความต้องการอำนาจเหนือกันและกัน ขึ้นมาแทนที่ความต้องการความเสมอภาค และนำไปสู่การปฏิเสธการมีความสัมพันธ์อย่างเสมอภาคในสังคม แม้ว่าโครงสร้างทางการปกครองจะเป็นระบบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม

สิ่งที่ควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ก็คือ การที่คนส่วนใหญ่ในสังคม ต้องการการแก้แค้นชดเชย อันนำไปสู่การสืบทอดระบบชนชั้นนั้น จะเกิดขึ้นในสังคมซึ่งวาทกรรมของอุดมการณ์แห่งความเสมอภาคและเสรีภาพ ยังไม่สามารถสร้างอำนาจขึ้นมาต่อกร กับวาทกรรมของอุดมการณ์แห่งชนชั้นได้ หมายความว่า อุดมการณ์แห่งความเสมอภาคและเสรีภาพยังไม่ได้รับการปลูกฝังลงให้เป็นอุดมการณ์หลักของสังคมอย่างแท้จริง  จนสังคมสามารถสร้างมาตรการขึ้นมาปกป้องความสัมพันธ์ที่เสมอภาคในระดับวิถีชีวิตได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นคำอธิบายว่า ในท่ามกลางของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ทำไมนักศึกษาไทยจึงยังคงมัวเมาอยู่กับระบบโซตัส นักศึกษาควรตั้งคำถามต่อประสบการณ์การเติบโตทั้งหมดของตนเอง ว่าอะไรบ้างที่ได้สร้างบาดแผลไว้ในใจ ที่หน่วงเหนี่ยวตนเองไว้ ไม่ให้เติบโตไปสู่การมีความสัมพันธ์อย่างเสมอภาคระหว่างกันและกัน

            ในแง่ประวัติศาสตร์ การที่อีริค ฟรอมม์สร้างทฤษฎีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยมและการคล้อยตามแบบหุ่นยนต์ ขึ้นมาอธิบายคนในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ก็เพราะเขาต้องการอธิบายการเกิดขึ้นของลัทธิเผด็จการนาซีในเยอรมันและในประเทศทุนนิยมอื่นๆ เขาสงสัยว่า ทำไมคนจำนวนมากที่ดูแล้วก็เป็นปกติดี จึงหันหลังให้กับระบอบประชาธิปไตย ยกชีวิตตนเองไว้ใต้การตัดสินบงการของผู้นำ เปลี่ยนจากคนปกติ ไปเป็นคนที่ถูกผลักดันด้วยความเกลียดชัง และความกระหายอำนาจ เพียงด้วยคำพูดที่กระตุ้นโน้มน้าว และบุคลิกภาพแบบผู้นำของฮิตเลอร์ ราวกับว่าพวกเขาไม่มีสติปัญญาเป็นของตนเอง แม้ประวัติศาสตร์ส่วนนี้จะจบไปแล้ว แต่ตัวเงื่อนไขหลักคือลัทธิทุนนิยมก็ยังคงอยู่ บุคลิกภาพแบบอำนาจนิยมและการคล้อยตามแบบหุ่นยนต์ ก็ยังคงมีอยู่ทั่วไป และสำหรับเรา ทฤษฎีของฟรอมม์ให้คำอธิบายที่ดีที่สุด ว่าทำไมระบบโซตัสจึงเฟื่องฟูอยู่ในทุกสถาบันอุดมศึกษาของไทย สร้างความเจ็บปวดและความสูญเสียอย่างไร้สาระให้กับปัจเจกบุคคล แต่ก็สืบทอดวนเวียนราวกับเป็นขั้นตอนสุดยอด อันขาดไม่ได้ ของกระบวนการทางสังคมที่ผนวกเข้าไว้กับการศึกษา ซึ่งไม่ว่าจะมีคนตายไปสักกี่คน มีภาพอัปลักษณ์ออกมาให้สังคมรับรู้สักเท่าใด ก็ยังมีเสียงจากสังคมอยู่เสมอว่าระบบโซตัสเป็นสิ่งที่ดี มีนักศึกษาที่กล้าหาญเพียงไม่กี่คน ที่สามารถหันหลังให้ระบบนี้ได้อย่างไม่แยแส นักศึกษาส่วนใหญ่ยอมตนเข้าไปเป็นเหยื่อ และเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้กระทำในปีต่อไป ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็พอใจอยู่เสมอ ว่าระบบนี้ช่วยแบ่งเบาภาระในการปกครองควบคุมนักศึกษา ของมหาวิทยาลัย

            สิ่งที่ต้องย้ำก็คือ สิ่งที่ยังอธิบายไม่ได้ในระบบโซตัส ก็คือตัวการกระทำของการใช้ความรุนแรงอย่างไร้เหตุผล ที่ปรากฏอยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ของกิจกรรมเชียร์ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักก็คือ การว๊าก การฝึกวินัย การฝึกร้องเพลงคณะและเพลงสถาบัน การลงโทษน้องใหม่ การลงโทษตัวเองของสต๊าฟ และพิธีกำซาบ ส่วนอื่นของระบบโซตัส ได้แก่ การฝึกหัดระบบชนชั้น การแสดงความเคารพ และความสัมพันธ์ของการให้และการรับนั้น ได้รับการอธิบายไปแล้วในเชิงสังคมวิทยา ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอุปถัมภ์นิยม ที่สืบทอดมาจากระบบศักดินา และระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย ซึ่งยังคงเป็นโครงสร้างของความสัมพันธ์ทางสังคมของไทย แม้จนปัจจุบัน และปัญหาทางจริยศาสตร์ของวิธีคิดทางศีลธรรมของระบบสังคมนี้ ก็ได้รับการวิเคราะห์มาแล้วอย่างละเอียด เรื่องที่มหาวิทยาลัยสนับสนุนระบบโซตัส เพื่อผลทางการปกครอง ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆ (สถาบันอุดมศึกษาบางแห่ง กำหนดให้การเข้าร่วมกิจกรรมโซตัส เป็นส่วนหนึ่งของคะแนนความประพฤติหรือคะแนนกิจกรรม ที่จะบันทึกไว้ในทรานสคริปท์) ซึ่งสะท้อนทั้งความต้องการของสังคม และของผู้ที่ถือครองอำนาจในสังคม ซึ่งก็ถูกกำหนดโดยตัวโครงสร้างของความสัมพันธ์ทางสังคมนั่นเอง

            เราเคยอธิบายการที่นักศึกษาน้องใหม่ ก้าวเข้าสู่ระบบโซตัส ว่ามาจากปัญหาทางบุคลิกภาพ ของการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และความต้องการการยอมรับของสังคม ซึ่งเป็นความต้องการทางจิตวิทยาขั้นต้นๆ ของมนุษย์ตามทฤษฎีของมาสโลว์ แต่ทำไมความต้องการการยอมรับจึงรุนแรง ถึงขนาดยอมตนเป็นเหยื่อการทำร้ายของผู้ที่อ้างว่ามีความรักความปรารถนาดีต่อตน เราเคยเปรียบเทียบพฤติกรรมเช่นนี้ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง “ผม” และ “ลิซ่า” ในวรรณกรรมเรื่อง Notes from Undergrounds ของดอสโตเยฟสกี้ว่า “ผม” ใช้ “ลิซ่า” เป็นเหยื่อระบายความโกรธแค้นที่ตนมีต่อสังคม โดยอาศัยศีลธรรมเป็นเครื่องมือ ซึ่งทำให้  “ลิซ่า” รู้สึกว่า “ผม” มีความปรารถนาดีต่อตนเอง เราเรียกพฤติกรรมของ “ผม” ว่าเป็นพฤติกรรมแบบซาดิสต์ เพราะเขามีความสุขจากการทำให้คนอื่นเจ็บปวด และเรียก “ลิซ่า” ว่าเป็นมาโซคิสต์เพราะหลงชื่นชมคนที่ทำร้ายตนเอง เราเรียกสต๊าฟเชียร์ว่าเป็นซาดิสต์และน้องใหม่ว่าเป็นมาโซคิสต์ ด้วยเหตุผลแบบเดียวกัน นี่ไม่ใช่การเปรียบเทียบแบบหลวมๆ เพราะอีริค ฟรอมม์ได้พัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ต่อจากซิกมันด์ ฟรอยด์มาถึงจุดที่เขาสามารถแสดงให้เห็นว่า แนวโน้มหรือสัญชาตญาณแบบซาดิสซ์และมาโซคิสต์ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน โดยแฝงอยู่ในจิตใต้สำนึก และเขาอาศัยกลไกทางจิตที่เกี่ยวข้อง พัฒนาขึ้นเป็นทฤษฎีทั่วไปเกี่ยวกับบุคลิกภาพทางสังคมของมนุษย์ในแบบที่ฟรอยด์ไม่เคยอธิบายถึง

ดังนั้น ในระบบโซตัส เหตุผลทั้งหลายที่รุ่นน้องใช้อ้าง เพื่อพาตัวเองไปอยู่ใต้อำนาจของรุ่นพี่ ทำตามความต้องการและคำบงการของรุ่นพี่ และเหตุผลทั้งหลายที่รุ่นพี่ยกขึ้นมาอ้าง เพื่อที่จะได้ใช้อำนาจต่อรุ่นน้อง ล้วนแต่เป็นเหตุผลที่ใช้บังหน้าความต้องการที่ซ่อนไว้ข้างหลัง ซึ่งเมื่อดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช้จากคำพูด ก็จะพบว่าคือการที่รุ่นน้องต้องการพึ่งพิง และรุ่นพี่ต้องการหาความสุขจากการใช้อำนาจทำร้ายผู้อื่น แต่มีความรักความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ที่ชวนซาบซึ้งจนต้องหลั่งน้ำตากันทั้งสองฝ่าย (ในพิธีกำซาบ) เป็นการตกแต่งและหน้าฉาก เท่านั้น ทั้งหมดนี้มีรูปแบบที่ตรงกันอย่างสมบูรณ์กับคู่รักแบบซาดิสต์และมาโซคิสต์

ซาดิสต์และมาโซคิสต์เป็นชื่อความวิปริตทางเพศ ที่ฝ่ายหนึ่งจะเกิดความรู้สึกกระตุ้นทางเพศเมื่อได้ทำร้ายคู่ของตน และอีกฝ่ายเกิดความรู้สึกกระตุ้นทางเพศเมื่อถูกคู่ของตนทำร้าย ฟรอยด์อธิบายได้เพียงจากอาการว่าเกิดจากการที่สัญชาตญาณทางเพศและความก้าวร้าวซึ่งปกติแยกกันอยู่ เกิดมาผนวกและสืบเนื่องกัน ฟรอมม์ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคู่แบบนี้อย่างละเอียด และพบว่าความสัมพันธ์แบบนี้มีลักษณะที่เรียกว่า ความสัมพันธ์แบบซิมไบโอซิส (symbiosis) คือ ถึงแม้ว่าจะมีความวิปริตอยู่ในความสัมพันธ์ คือ มีการทำร้าย ความเจ็บปวดและความสูญเสียในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่กลไกภายในของทั้งสองฝ่าย ตอบสนองต่อความต้องการที่เป็นตัวผลักดันบุคลิกภาพของกันและกันได้อย่างสมบูรณ์ กล่าวง่ายๆ คือบุคลิกภาพของทั้งสองฝ่ายตอบสนองกันได้อย่างสมบูรณ์ จนหากขาดกันและกันไป แต่ละฝ่ายก็จะเสียสมดุลอย่างรุนแรงจนไม่อาจอยู่ได้ จะดิ้นรนหาคู่อย่างที่มีความสัมพันธ์แบบเดิมอีก หรือทำทุกอย่างเพื่อจะได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีก เป็นเสมือนความรักอันยิ่งใหญ่ ที่จะไม่มีใครมาสามารถจับแยกออกจากกันได้ และเขาพบว่า ความสัมพันธ์แบบนี้พบได้ทั่วไป รวมทั้งพบว่าเรื่องเพศไม่ใช่แกนกลางอย่างที่เคยเข้าใจ แต่เป็นส่วนประกอบเสริมเท่านั้น แกนกลางที่แท้จริงคือความรู้สึกด้อยค่า ไร้อำนาจ และความกลัวต่อการอยู่โดดเดี่ยว อีกทั้งคนๆ เดียวก็สามารถเป็นได้ทั้งซาดิสต์และมาโซคิสต์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

การที่คนได้รับความพึงพอใจจากการทำร้ายผู้อื่นดูจะเป็นผลตรงๆ ของการได้ระบายความโกรธ เด็กเล็กๆ ทั้งรักทั้งโกรธพ่อแม่ และจะแสดงออกด้วยการมากอดพ่อแม่ด้วยความรักและบีบรัดแน่นๆ หรือเหยียบเท้าไปพร้อมกับกอด (เด็กอาจบอกมาตรงๆ ด้วยซ้ำว่านี่คือการแก้แค้น) แต่ถ้าการใช้อำนาจของพ่อแม่เป็นไปอย่างรุนแรง เด็กไม่มีโอกาสระบายความก้าวร้าวต่อพ่อแม่ตรงๆ ได้เลย เด็กก็จะไประบายกับสัตว์เลี้ยง หรือเพื่อนที่โรงเรียน สามีที่เก็บกดความโกรธแค้นมาจากนอกบ้าน และใช้ภรรยาเป็นที่ระบาย เมื่อระบายแล้วก็อาจเริ่มเกิดความต้องการทางเพศ หันไปอ่อนหวานและขอมีเพศสัมพันธ์ (แต่ภรรยาที่เป็นปกติย่อมสูญเสียความรักในตัวสามี และต้องการตัดขาดจากความสัมพันธ์ในที่สุด) เพราะคนปกติย่อมพยายามหนีจากสิ่งที่ทำให้ตนเจ็บปวด ทั้งกรณีของสามีระบายความโกรธแค้นจากนอกบ้านไปที่ภรรยา และกรณีของเด็กระบายความโกรธแค้นพ่อแม่ไปที่สัตว์เลี้ยงตรงกับพฤติกรรมแบบซาดิสต์ คือทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งทั้งที่ไม่ได้สร้างความโกรธแค้นให้

แต่การพึงพอใจต่อความเจ็บปวดแบบมาโซคิสต์เป็นไปได้อย่างไร? ความพึงพอใจต่อความเจ็บปวดเฉยๆ ในทางชีววิทยาแล้วเป็นไปไม่ได้เลย เพราะหน้าที่ของความเจ็บปวดคือการบอกว่าร่างกายกำลังถูกทำลาย แต่เมื่อดูที่เด็ก ด้วยความเก็บกดทางจิตอย่างรุนแรง เด็กอาจหันมาทำร้ายตนเอง ด้วยการคิดให้ตนเองเป็นคนเดียวกับพ่อหรือแม่ที่ตนแค้น ซึ่งเป็นกลไกการป้องกันทางจิตอีกแบบหนึ่ง และเมื่อผ่านวัยที่ซูเปอร์อีโก้พัฒนาเต็มที่แล้ว คนก็อาจทำให้ตนเองเจ็บปวดเพื่อเป็นการลงโทษตนเอง เหมือนที่พ่อแม่เคยทำต่อตนในวัยเด็ก แม้ในกรณีนี้ คนก็ไม่ได้มีความสุขจากความเจ็บปวด หากแต่ใช้ความเจ็บปวดมาชดเชยความรู้สึกผิด และความทุกข์ที่เกิดจากความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าในตนเอง อาจกล่าวว่าเป็นใช้ความเจ็บปวดทางกาย มาบรรเทาความเจ็บปวดทางจิตใจก็ได้ ฟรอมม์เชื่อว่านี่คือคำอธิบายลักษณะที่ดูเหมือนการพึงพอใจต่อความเจ็บปวดของมาโซคิสต์ จริงๆ แล้วมาโซคิสต์ไม่ใช่คนที่วิปริตไปเพราะรู้สึกมีความสุขกับความเจ็บปวดของตนเอง แต่เป็นคนที่รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าอยู่ในตนอย่างรุนแรง และแสวงหาการลงโทษ

เราอาจจะคิดว่า นอกจากการได้พบคนที่ตนเองสามารถใช้ระบายความโกรธแค้น และคนที่ช่วยลงโทษตนเองแล้ว ความรักระหว่างซาดิสต์และมาโซคิสต์จะเป็นเรื่องของสัญชาตญาณทางเพศอีกเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อเอาปมความรักและความโกรธที่เด็กมีต่อพ่อและแม่มาร่วมพิจารณาแล้ว เราจะพบว่าเรื่องของความต้องการอำนาจคือแกนกลางของความสัมพันธ์ที่แท้จริง เราต้องไม่ลืมว่าในความรู้สึกต่ำต้อยด้อยอำนาจของเด็กที่เกิดจากการใช้อำนาจของพ่อแม่นั้น เด็กก็จะมีความต้องการอำนาจอย่างรุนแรง และในช่วงของปมโอดิบุส จะพัฒนาไปสู่การเลียนแบบพ่อหรือแม่ รับความคิดความรู้สึกของพ่อแม่มาเป็นของตน บูชาพ่อหรือแม่ในฐานะต้นแบบบุคลิกภาพของตน โดยมีเป้าหมายที่จะกลืนตนเองไปเป็นคนหนึ่งคนเดียวกับพ่อหรือแม่ ซึ่งก็เพื่อที่จะได้ร่วมอยู่ในอำนาจของพ่อหรือแม่ ได้เห็นว่าอำนาจของคนที่ตนบูชา คืออำนาจของตนเองด้วย ดังนั้นมาโซคิสต์จึงรักและบูชาซาดิสต์ในฐานะสัญลักษณ์ของอำนาจ ตอบสนองต่อความต้องการอำนาจอย่างรุนแรงของตนเองด้วย ดังนั้น ความสัมพันธ์แบบซาดิสต์และมาโซคิสต์จึงสามารถเกิดขึ้นได้ในคู่ความสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้องเลย ซึ่งในระดับสังคมก็คือความสัมพันธ์แบบชนชั้นที่เป็นคู่อุปถัมภ์ นายกับทาส เจ้านายกับลูกน้อง รุ่นน้องและสต๊าฟเชียร์ ประชาชนกับผู้นำแบบเผด็จการ หรือราษฎรกับกษัตริย์ เป็นต้น

นี่คือคำอธิบายของการที่คนเยอรมันพยายามกลืนตัวเองเข้ากับฮิตเลอร์ ซึ่งถือครองสัญลักษณ์ของอำนาจ ของ “เชื้อชาติเผ่าพันธุ์เยอรมัน” การที่คนไทยพยายามกลืนตนเองเข้ากับสถาบันที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของชาติ การที่นักศึกษารุ่นน้องพยายามกลืนตนเองเข้ากับรุ่นพี่ ซึ่งมีอำนาจในการ “ให้รุ่น” ทั้งหมดเกิดจากการที่คนรู้สึกไร้อำนาจ และต้องการมีสายสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงพยายามกลืนตนเองเข้ากับผู้ที่ตนรู้สึกว่ามีอำนาจมากกว่า

การกลัวต่อความอ้างว้างโดดเดี่ยว ให้คำอธิบายต่อ “ความรัก” ที่ยิ่งใหญ่ของ “คู่รัก” ทั้งหลาย ซึ่งหากตรงกันก็ยากที่จะมีพลังใดมาแยกคู่รักแบบนี้ออกจากกันได้ แม้จะมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงซ่อนอยู่ภายใน คู่ซาดิสต์มาโซคิสต์แสดงเรื่องนี้อย่างชัดเจน

เรากล่าวว่า มาโซคิสต์ไม่ได้มีความสุขกับความเจ็บปวด แต่แสวงหาการลงโทษ แต่ “การลงโทษ”โดยคู่ซาดิสต์ของตนก็อาจเป็นไปอย่างรุนแรง (ตามแรงกดดันในใจของซาดิสต์เอง) และลำพังความต้องการการลงโทษและความต้องหลีกเลี่ยงความทุกข์ ซึ่งก็คือปมของความรักตัวเองและความเกลียดตัวเอง ก็ขัดแย้งกันอยู่ในใจอยู่แล้ว ดังนั้นในบางครั้ง การถูกทำร้ายอย่างรุนแรงเกินไป ก็จะทำให้มาโซคิสต์ (นอกจากจะทั้งรักทั้งเกลียดแล้ว) คิดอยู่เสมอว่าต้องการจะตัดขาดความสัมพันธ์ แต่เมื่อคิดขึ้นมาก็ต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างไม่มีที่ให้เกาะยึดสำหรับความมีอยู่อันว่างเปล่าไร้ความหมายในตัวเองของตน เมื่อซาดิสต์บอกว่าที่ทำไปทั้งหมดก็เพราะความรักที่มี อยากให้มาโซคิสต์เป็นคนดี มาโซคิสต์ก็จะใช้เหตุผลนี้ปิดบังความกลัวความโดดเดี่ยวของตน และบอกตนเองว่า ที่อยู่ต่อไปเพราะเห็นความรักความปรารถนาดีที่ซาดิสต์มีต่อตน แต่ถ้าปมความรักในตนเองของมาโซคิสต์มีอำนาจมาก จนมาโซคิสต์ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว ว่าต้องการตัดความสัมพันธ์ เราก็จะเห็นความเป็นจริงอีกแบบหนึ่งของซาดิสต์แสดงออกมา

ที่จริงแล้ว ในจิตใต้สำนึกของซาดิสต์เองก็เต็มไปด้วยความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าไร้อำนาจเช่นเดียวกับมาโซคิสต์ แต่ที่แสดงออกต่างกันก็เพราะใช้กลไกคนละอย่าง ในขณะที่มาโซคิสต์ใช้กลไกการกลืนรวมและหันไปเทิดทูนบูชาผู้มีอำนาจ ซาดิสต์ใช้กลไกของการแสดงออกแบบตรงกันข้าม คือแสดงตนเป็นผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต้องมีผู้ยอมตนมาเป็นเป้าการใช้อำนาจ ดังนั้นซาดิสต์จึงขาดมาโซคิสต์ไม่ได้ (มาโซคิสต์ขาดคนที่จะมาให้ความรักไม่ได้ แต่ถ้าได้คนปกติมาเป็นคู่ก็จะไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการอำนาจ จึงจะหันไปหาคู่แบบซาดิสต์แทน) มาโซคิสต์ทำให้ความปรารถนาในจิตใต้สำนึกของซาดิสต์ได้รับการตอบสนองอย่างสมบูรณ์ ซาดิสต์จึงต้องการผูกพันมาโซคิสต์ไว้กับตน แต่ซาดิสต์ก็จะแสดงออกว่า ถ้ามาโซคิสต์ไม่พอใจในสิ่งที่ตนกระทำก็สามารถไปจากตนเมื่อไรก็ได้ เพื่อแสดงภาพของการเป็นคนเข้มแข็งอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องการอะไรจากใคร และจะบอกว่าที่เรียกร้อง บงการ ควบคุมให้ทำตาม ก็เพราะนั่นเป็นการตอบแทนต่อการปกป้องดูแล การอุปถัมภ์ต่างๆ ที่ตนให้ออกไป อีกทั้งความรุนแรงและการลงโทษที่ตนทำไปต่อมาโซคิสต์ ก็เพราะความรักอยากให้เป็นคนดี เป็นคนอ่อนน้อม เป็นที่รักของทุกคน (นี่คือศีลธรรมแบบชนชั้นที่จอมปลอมเช่นเดียวกับการปิดกั้นทางเพศต่อผู้หญิง)

สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อมาโซคิสต์ยืนยันที่จะไปจากซาดิสต์ก็คือ ซาดิสต์จะแสดงความรู้สึกอ่อนแอไร้คุณค่าที่ซ่อนอยู่ภายในออกมา รู้สึกหมดหวังในชีวิตโดยสิ้นเชิง ซึ่งก็สมเหตุสมผล เพราะเขากำลังสูญเสียสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของความหมายของชีวิต คือการได้แสดงบทบาทของผู้มีอำนาจ ถึงตรงนี้ซาดิสต์ก็จะร้องไห้คร่ำครวญ ตีอกชกหัว ทำร้ายตนเอง อ้อนวอนต่อมาโซคิสต์ไม่ให้ไปจากตน ตนเองไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากมาโซคิสต์ เขาจะร้องขอความเมตตา ขอความรักจากมาโซคิสต์ ขอร้องว่าอย่าทิ้งเขาไปให้ต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวตามลำพังเลย เขาจะต้องตายแน่นอน เขาจะยอมเปลี่ยนตนเองทุกอย่าง จะไม่ทำรุนแรงกับมาโซคิสต์อีกต่อไป แล้วมาโซคิสต์ก็อาจรู้สึกสงสารยอมอยู่กับซาดิสต์ต่อไป (แล้วความสัมพันธ์ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนกลับไปอยู่ในรูปเดิมในที่สุด วนมาสู่การที่มาโซคิสต์ต้องการจากไปอีก เป็นวัฏจักรที่ไม่มีวันสิ้นสุด)

จะเห็นได้ว่า เราสามารถที่จะอธิบายพฤติกรรมและความรู้สึกทุกอย่างในระบบโซตัสได้ ด้วยความสัมพันธ์แบบซาดิสต์มาโซคิสต์ รวมทั้งการพากันร้องไห้ให้กับความรักที่ยิ่งใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกันในพิธีกำซาบ ซึ่งรุ่นพี่จะทำร้ายตนเอง ร้องให้ ตำหนิและลงโทษตัวเอง ว่าไม่สามารถทำให้น้องเห็นความรัก ความปรารถนาดีของตนเองได้ เพราะรุ่นน้องยังแสดงอาการขัดขืน แล้วรุ่นน้องก็จะเกิดความซาบซึ้งร้องไห้ตาม หลงเชื่อว่ารุ่นพี่รักตนจริง ไม่แสดงอาการขัดขืนอีกต่อไป ซึ่งถือเป็นการจบกระบวนการที่เป็นหัวใจของระบบโซตัส พิธีกรรมจะเริ่มขึ้นใหม่ เมื่อสถานการณ์เปิดโอกาสให้มาโซคิสต์เปลี่ยนไปเป็นซาดิสต์ นั่นก็คือเมื่อมีมาโซคิสต์รุ่นใหม่เข้ามาในปีต่อไป และจะเห็นว่ากิจกรรมทั้งหมด ถูกตกแต่งรูปร่าง นำไปเกาะเกี่ยวไว้กับกิจกรรมกีฬา กิจกรรมบันเทิง กิจกรรมการปกครองตนเอง ปกปิดหน้าตาที่แท้จริงไว้ด้วยเหตุผลบังหน้าที่ได้มาจากศีลธรรมและซูเปอร์อีโก้จอมปลอม และ จิตสำนึกจอมปลอม ของสังคมชนชั้น รวมทั้งจากกลไกของ “ตัวตนร่วม” (และจะเห็นได้ไม่ยากว่า การปลดปล่อยความต้องการทางเพศ ก็จะเป็นแกนกลางของกิจกรรมรองลงมาจากความต้องการอำนาจ) สรุปก็คือระบบโซตัส ก็คือการยกระดับความสัมพันธ์แบบซาดิสต์มาโซคิสต์ระดับบุคคล มาเป็นระดับกลุ่มคนนั้นเอง

 

 



[1] ลองคิดดูว่า ครู คือ ผู้ให้ ศิษย์ คือ ผู้รับ และ รุ่นพี่ คือ ผู้ให้ รุ่นน้อง คือ ผู้รับ พิธีไหว้ครู เป็น สัญลักษณ์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสองชนชั้น โซตัสก็คือพิธีกรรม เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสองชนชั้น ลองคิดดูว่ากฎการปฏิบัติตัวระหว่างศิษย์ต่อครูกับรุ่นน้องกับรุ่นพี่นั้นต่างกันหรือไม่ เจอหน้าต้องไหว้ สั่งต้องทำ ตั้งคำถามไม่ได้ ทั้งสองก็คือระบบอุปถัมภ์ด้วยกันทั้งคู่ 

[2] รายละเอียดของเหตุผลพวกนี่เป็นสิ่งเราพิจารณากันมาแล้วตั้งแต่บทที่ 1 แต่ในตอนนั้นเรามุ่งมองประเด็นเชิงศีลธรรมเป็นหลัก และถามถึงประเด็นเชิงจิตวิทยาเป็นรอง คราวนี้เราจะมองกลับกัน คือ มองประเด็นเชิงความรู้สึกนึกคิดทางจิตวิทยาของคุณเป็นหลัก

[3] ถ้าคุณยังคิดว่าไม่จริง ก็ขอให้คุณลองพยายามคิดถึงพันธะกิจที่นักเรียนนักศึกษามีต่อสังคม ที่ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบ เพื่อที่จะต้องประกาศตนต่อสังคม  ทหาร หมอ ตำรวจ พยาบาล มีพันธะกิจต่อสังคมที่ทำให้พวกเขาต้องมีเครื่องแบบเพื่อการแสดงตนให้สังคมรู้จักตน ทุกสังคมจึงกำหนดเครื่องแบบให้บุคคลในอาชีพเหล่านี้ แต่นักเรียนนักศึกษาไม่มีพันธะกิจต่อสังคม มีแต่พันธะกิจต่อตนเอง เครื่องแบบและวินัยแบบทหารจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นเพื่อฝึกการเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจให้กับนักเรียนนักศึกษา อังกฤษเป็นผู้สร้างระบบโซตัสมาใช้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในสมัยที่ตนเป็นเจ้าอาณานิคม เพื่อสร้างเครือข่ายของระบบอุปถัมภ์ในระบบการปกครองของตน แล้วนักการศึกษาไทยก็รับมาใช้เพื่อประโยชน์ของระบบอุปถัมภ์ในการปกครองของไทย ระบบโซตัสในไทยจึงมีประวัติศาสตร์เก่าแก่เท่าๆ กับโรงเรียนฝึกข้าราชการไทย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งหลายที่สร้างข้าราชการให้ประเทศ  

Última modificación: Tuesday, 14 de October de 2014, 12:15