การเมือง วัฒนธรรม และความตกต่ำของการศึกษาไทย

เอกศักดิ์ ยุกตะนันทน์

ตอนที่ 1

เมื่อกว่าสามสิบปีที่แล้วนักเรียนสวนกุหลาบทำหนังสือ “ศึก” เพื่อวิพากษ์ความอ่อนแอของการศึกษาไทย นั่นคือวาระแห่งการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งหนังสือดังกล่าวก็ถูกเผาทิ้ง และตามมาด้วยนักศึกษาผู้ต้องการสร้างสังคมให้ดีขึ้น จำนวนหนึ่งถูกสังหาร เหตุที่ข้าพเจ้าต้องรื้อฟื้นเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ในเวลานั้น นักเรียนมัธยมหัวก้าวหน้าเหล่านั้นก็ไม่อาจจินตนาการได้ว่า การศึกษาของไทยยังสามารถจะตกต่ำลงกว่าสภาพที่พวกเขาสามารถมองเห็นได้ในเวลานั้นอีกมาก พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ปัญหาของการศึกษาไทยที่หนังสือ “ศึก” ต้องการวิพากษ์ยังไม่ใช่ระดับที่สุดแห่งก้นบึ้งที่การศึกษาไทยสามารถตกถึง ขณะนี้ต่างหากที่การศึกษาไทยได้ตกถึงก้นบึ้งของความล้มเหลวแล้ว ไม่มีความไม่น่าเชื่อในทางลบใดๆ อีกแล้วที่เป็นไปไม่ได้สำหรับการศึกษาไทย ในเวลาขณะนั้น ไม่มีใครจะเชื่อว่ามาตรฐานการศึกษาไทยจะแพ้ของประเทศมาเลเซีย แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่เราทำใจให้ยอมรับได้ไปเรียบร้อยแล้ว แต่แล้วก็มีสิ่งที่น่าเจ็บปวดยิ่งกว่า เพราะมีประจักษ์พยานที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ว่าเด็กไทยยิ่งเรียนสูงขึ้นก็ยิ่งมีไอคิวต่ำลง แม้นี่จะเป็นการวัดที่ระดับอนุบาลและประถมแต่ก็ทำให้ต้องคิดว่า หากสิ่งที่เป็นสาเหตุคือตัวการอะไรบางอย่างที่แพร่หลายอยู่ในสังคม เช่นกระแสบางอย่างทางวัฒนธรรม สิ่งนั้นย่อมเข้าไปอยู่ในการศึกษาไทยทุกระดับ เมื่อนักศึกษาไทยเรียนจบมหาวิทยาลัย พวกเขาจะเหลือไอคิวอยู่สักแค่ไหน มีใครคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า เราไม่ต้องพยายามทำให้คนเป็นคนฉลาด แค่เราพยายามไม่ทำให้เขาโง่ ก็พอแล้ว ความพยายามและความต้องการที่จะแสวงหาปัญญามีอยู่แล้วในตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด แค่เราไม่พยายามจะทำลายมันลงก็พอแล้ว ดูเหมือนการศึกษาของเราจะประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำลายปัญญาของผู้เรียน

หากคุณเฝ้ามองการศึกษาของไทย กับการเมืองไทยมาตั้งแต่อายุสิบห้าจนถึงห้าสิบอย่างข้าพเจ้า คุณก็จะเริ่มเชื่อในสิ่งที่คาร์ล มาร์คซ์ พยายามจะบอกคุณ ที่ว่าอุดมการณ์ทางชนชั้นอยู่เหนือจิตสำนึกทางศีลธรรม ซึ่งหมายความว่าจิตสำนึกทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยผลประโยชน์ทางชนชั้น รวมทั้งคุณก็จะเห็นในสิ่งที่นิตซ์เช่พยายามจะบอก ที่ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะรอดพ้นจากเจตจำนงแห่งอำนาจ รวมทั้งจะเห็นในสิงที่เขาบอกเอาไว้ว่า ศีลธรรมคือการแสดงออกที่สูงสุดของเจตจำนงแห่งอำนาจ เพราะคุณจะเห็นได้ไม่ยากว่า สิ่งที่ทำลายการศึกษาไทยมาตั้งแต่สามสิบปีที่แล้ว ก็คือการต่อสู้ทางการเมืองและการสร้างความเป็นใหญ่ด้วยอำนาจแห่งจิตสำนึกทางศีลธรรม กล่าวในคำของมาร์คซ์และนิตเช่ สิ่งที่พิฆาตการศึกษาไทยก็คือจิตสำนึกที่บิดเบือน และศีลธรรมที่จอมปลอมในสังคมไทย และดังนั้นจึงไม่ใช่เหตุบังเอิญเลยที่การศึกษาไทยก้าวลงสู่จุดต่ำที่สุด ในเวลาเดียวกันกับที่ระบบชนชั้นและวัฒนธรรมอุปถัมภ์นิยมในสังคมไทยก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด

กล่าวสั้นๆ ก็คือ ความตกต่ำทางการศึกษาของไทยเกิดจากความบ้าคลั่งในศีลธรรมจอมปลอมของนักการศึกษาทั้งหลาย ที่เกิดจากชัยชนะทางวัฒนธรรมของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย ซึ่งเริ่มต้นเมื่อลัทธิชาตินิยม - กษัตริย์นิยม พาประชาชนฝ่ายขวาเข้าเข่นฆ่านักศึกษาฝ่ายซ้าย ซึ่งตามมาสู่การเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ แล้วก็ตามมาด้วยประชาธิปไตยเต็มใบแบบที่ผูกขาดเฉพาะสำหรับนายทุน แล้วก็พัฒนามาถึงประชาธิปไตยแบบศักดินา ที่ฝ่ายขวาเรียกร้องหาพระราชอำนาจ และการใช้สถาบันกษัตริย์เป็นทางออกของปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งก็ลงเอยในที่สุดด้วยระบบอำมาตยาธิปไตย ซึ่งเป็นจุดที่ทุกคนสามารถประจักษ์ได้ด้วยตนเอง ว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงคำกล่าวอ้างที่ไร้สาระใดๆ ทั้งสิ้นในสังคมไทย แต่กระนั้นก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบัน เมื่อสังคมไทยตกอยู่ในสภาวะวิกฤตทางการเมือง ที่อาจรุนแรงพอๆ กับในยุค 6 ตุ ลา เราจะมองเห็นวัฒนธรรมแห่งขันติธรรม หรือการปฏิเสธต่อความรุนแรง ที่มีสูงขึ้นกว่าเดิม ด้วยเหตุที่โชคดีที่มโนธรรมของผู้คนไม่ได้ถูกบดบังไปด้วยความกลัวต่อสภาวะสงคราม เหมือนอย่างในยุคนั้น ซึ่งเป็นเวลาที่ความเกลียดชังและความกลัวต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ ผลักดันผู้คนไปสู่ความบ้าคลั่ง แต่ ณ เวลาปัจจุบัน เราก็สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ถึงการทำงานของจิตสำนึกทางศีลธรรมที่บิดเบือนของระบบชนชั้นและระบบอุปถัมภ์นิยม ซึ่งชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในสังคมไทยได้แสดงจิตสำนึกของผู้กดขี่ออกมาอย่างชัดเจน เพียงแต่มือไม้ส่วนหนึ่งของผู้กดขี่ของยุคปัจจุบันก็คือ อดีตคนหนุ่มสาวผู้ซึ่งเคยเป็นกบฏต่อชนชั้นของตนเอง ผู้ซึ่งรอดชีวิตมาจากการถูกฆ่าเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วนั่นเอง แต่ตัวชนชั้นล่างในปัจจุบันเองก็หลงใหลบูชาผู้ที่ให้ชีวิตใหม่ต่อตน อย่างไร้ปัญญา ไม่แยกถูกแยกผิด ใช้อารมณ์และผลประโยชน์เป็นใหญ่ และมีจิตสำนึกทางศีลธรรมที่บิดเบี้ยวไม่ได้ต่างไปจากชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเลย

แน่นอนว่า นักการศึกษาทั้งหลายไม่มีความตระหนักที่ชัดเจน ว่าตนเองกำลังทำงานรับใช้ต่อผู้กดขี่ในการต่อสู้เพื่ออำนาจทางการเมืองของประเทศไทยดังที่กล่าวมา แต่ถ้าเขาคิดสักนิดเขาก็คงยอมรับว่า ความพยายามสอนศีลธรรมอย่างบ้าคลั่งของพวกเขาก็คือ การพยายามสร้างคนรุ่นใหม่ให้ยอมตาม คล้อยตามต่ออำนาจของผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ปกป้อง คุ้มครอง ดูแล สร้างพื้นฐานของชีวิตที่มีค่าให้แก่ผู้เยาว์ ตามระบบอุปถัมภ์นิยมนั่นเอง และหากเป็นอะไรที่นอกเหนือไปจากอำนาจของผู้ใหญ่ นักการศึกษาทั้งหลายก็สอนผู้เยาว์ให้เชื่อฟังต่อพวกพ้องหมู่คณะ ทั้งหมดทั้งมวล ก็เพื่อสร้างเด็กให้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงเชื่องๆ ของสังคม (คือเป็นควายโง่ ให้คนสวมแอก สนตะพาย ลากจูง ไปใช้งานตามความต้องการ) ซึ่งก็คือ ความต้องการที่จะทำลายวิญญาณกบฏที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดของผู้เยาว์ไปเสียให้หมดสิ้นนั่นเอง และก็คือความต้องการที่จะทำลายตัวตนแท้ๆ ที่เป็นปัจเจกของผู้เยาว์ไปเสียให้หมด แล้วใส่ตัวตนทางสังคมตามแบบที่ผู้มีอำนาจในสังคมต้องการเข้าไว้แทน จึงไม่เป็นเรื่องยากเลยที่นักการศึกษาผู้บ้าคลั่งศีลธรรมทั้งหลาย จะมองเห็นว่าตนเองกำลังสานต่อเจตนารมณ์ของคนชั้นกลางและชนชั้นสูง ที่ฆ่านักเรียนนักศึกษาเมื่อสามสิบปีที่แล้ว หรือถ้าทำเป็นส่วนตัว ก็ทำออกไปด้วยแรงขับของความกระหายอำนาจที่ซ่อนลึกอยู่ในจิตใจของตนเองนั่นเอง เพราะถ้าไม่ใช่ด้วยการสมรู้ร่วมคิดกับชนชั้นสูง หรือด้วยแรงขับจากจิตใต้สำนึกของตนเอง เขาก็น่าจะตระหนักรู้ด้วยปัญญาเองว่า การสอนศีลธรรมจักต้องมีขอบเขตที่ไม่เข้าไปทำลายตัวตนทางจิตวิญญาณของผู้เยาว์ เพราะมิฉะนั้นแล้วเขาก็จะละเมิดต่อหน้าที่ของเขา ที่จะเป็นผู้สร้างปัญญาและสร้างฐานของชีวิตที่ดีให้แด่ผู้เยาว์ เพราะด้วยมโนธรรม และสำนึกแห่งความเป็นครู เขาควรจะรู้ว่า ผู้ที่ถูกทำลายจิตวิญญาณก็จะถูกทำลายพลังทางปัญญาไปด้วยเช่นกัน

ถ้านักการศึกษาทั้งหลายคลางแคลงใจว่าตนคือผู้ทำลายจิตวิญญาณ และทำลายปัญญาของคนรุ่นใหม่จริงหรือ ก็ขอให้พิจารณาดูว่า การศึกษาไทยในสมัยของ มล.ปิ่น มาลากุล และสมัยของท่านทั้งหลายผู้ซึ่งกำลังเป็นครูอยู่ในเวลานี้นั้น ต่างกันอย่างไร โดยข้าพเจ้าขอถามเพียงแค่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับคำขวัญทางการศึกษาที่ว่า “ปัญญาคืออาวุธ” “ความรู้ทำให้องอาจ” และคำขวัญอะไรอื่นๆ อีกมากมาย ที่ มล. ปิ่น พยายามสร้างให้เกิดเป็นความจริงขึ้นในเด็กไทย คำตอบก็คือ ด้วยเหตุแห่งการต่อสู้ทางการเมืองที่กล่าวมา คำขวัญเช่นนี้ถูกโยนทิ้งไปเพราะขัดกับความต้องการของผู้ชนะ เขาไม่ต้องการให้เด็กมีปัญญาไว้เป็นอาวุธต่อสู้กับผู้ใหญ่ และเขาไม่ต้องการให้เด็กมีความทะนงองอาจกล้าหาญ เขาต้องการให้เด็กเรียนรู้แบบอาศัยแค่ความจำ และไม่ต้องเข้าใจ เพราะแค่นั้นก็พอเอาไว้ใช้งานได้แล้ว เขาต้องการให้เด็กหัวอ่อน ว่านอนสอนง่าย เคารพน้อมน้อมต่อผู้ใหญ่ และมีบุคลิกแบบเดียวกับทาส ที่ไหว้ ไหว้ และไหว้ เขาไม่สนใจว่าจิตวิญญาณของเด็กที่ถูกทำให้เป็นทาสเช่นนี้ จะเจ็บปวดขนาดไหน นักการศึกษาในยุคสมัยแห่งชัยชนะของชนชั้นสูงจึงใช้ทุกวิชาที่ตนสอนเป็นเครื่องมือรับใช้ต่อความปรารถนาของตน ใช้ศีลธรรมจอมปลอมหลอกให้ผู้เยาว์เป็นทาสต่อผู้มีอำนาจและหมู่คณะพวกพ้องในสังคม ทรมานเด็กด้วยการสอนสมาธิ ตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย และบ้าคลั่งถึงขั้นที่บังคับนักเรียนเข้าวัดปฏิบัติธรรม 7 วัน บังคับให้เด็กประถมต้นไหว้เด็กประถมปลาย ทั้งนี้ก็เพื่อทำลายตัวตนของเด็กให้ถึงที่สุด ชูป้ายว่า “การไหว้คือวัฒนธรรมอันงดงามของไทย” “เป็นคนไทยต้องไหว้” “สมาธิทำให้เกิดปัญญา” ทั้งที่ที่จริงต้องการที่จะทำให้เด็กหยุดคิดและฝึกการยอมตามอำนาจ ใช้การล้างสมองทุกวิถีทาง ที่จะทำให้เด็กเชื่อว่า อยู่ด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ปลูกฝังวัฒนธรรมชนชั้นที่ผู้น้อยต้องพึ่งผู้ใหญ่ว่าคือศีลธรรม แสร้งทำเป็นลืมเสียว่าพระพุทธเจ้าสอนว่า ตนเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งแห่งตน การท่องอาขยานเพื่อให้เกิดความรักและซาบซึ้งในความงามของวรรณศิลป์ ก็ถูกโยนทิ้งแล้วให้ท่องกลอนราคาถูกสอนศีลธรรมที่ไปหาเอามาจากในวัดแทน ถ้าทั้งหมดนี้ไม่ใช่การทำลายตัวตนทางจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ แล้วมันคืออะไร ที่จริงแล้วความบ้าคลั่งของครูที่สอนศีลธรรมกันจนไม่รู้จักขอบเขตเช่นนี้ ก็คือผลของชัยชนะทางวัฒนธรรมของระบบอนุรักษ์นิยม ที่สัมพันธ์กับชัยชนะทางการเมืองของชนชั้นสูง ซึ่งอาศัยจิตสำนึกทางศีลธรรมที่บิดเบือนเป็นเครื่องมือนั่นเอง ดูได้จากการสถาปนาวันพ่อวันแม่แห่งชาติ การจัดพิธีกรรมอันใหญ่โต แล้วบังคับให้เด็กทั้งประเทศยืนตากแดดเป็นชั่วโมง แบบภาระของความรู้สึกกตัญญูที่ชนชั้นกลางมีต่อชนชั้นสูงในสังคม ความบ้าคลั่งในศีลธรรมจอมปลอมเช่นนี้นำพามาสู่การสถาปนาแม้กระทั่งวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ถ้าดำเนินต่อไปอีก เราก็จะมีวันถือศีลแปดแห่งชาติ วันงดเสพเมถุนแห่งชาติในที่สุด นี่คือกระแสวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยม ซึ่งทำให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายกลายเป็นนักสอนศีลธรรมจอมปลอมของสังคม พร้อมกับการเป็นผู้ทำลายจิตวิญญาณและพลังทางสติปัญญาของนักเรียน.

ตอนที่ 2

เพื่อให้เห็นว่าการสอนศีลธรรมที่จะไม่ทำลายจิตวิญญาณของเด็กเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าขอแยกให้เห็นว่าศีลธรรมสามารถแบ่งออกเป็นได้เป็นสองแบบ คือ ศีลธรรมแบบอำนาจนิยม และศีลธรรมแบบเสรีนิยม ผู้ถือศีลธรรมแบบแรกจะมีความเชื่อว่า หากมีเจตนาที่ดีงามเสียแล้วก็สามารถใช้วิธีการที่เลวร้าย ซึ่งหมายถึงการข่มขู่ การบังคับเอาด้วยอำนาจ ด้วยอาญาการลงโทษ ด้วยเจตนาที่ดีสิ่งเหล่านี้ย่อมทำได้ ผู้ถือศีลธรรมแบบที่สองเชื่อว่า ศีลธรรมต้องเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความรู้สึกถึงการมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์เท่านั้น หมายความว่า ศีลธรรมต้องเกิดขึ้นจากการเลือกของเจ้าตัว อย่างที่ไม่มีอำนาจของสิ่งภายนอกใดๆ ทั้งสิ้นมาบังคับ ดังนั้นวิธีการที่เป็นความรุนแรงใดๆ ก็ตามเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทางศีลธรรม การใช้นรกสวรรค์ คุกตะราง และการลงโทษ และความกลัวไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ มาใช้บังคับคนให้ทำความดี คือศีลธรรมแบบอำนาจนิยม ในขณะที่ศีลธรรมแบบเสรีนิยม มองว่าศีลธรรมต้องมาจากความรักความเมตตาที่บุคคลมีต่อผู้อื่นแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น ความเชื่อเช่นนี้ปฏิเสธอำนาจทุกประการ เพราะความรักและความเมตตาเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรจักบังคับให้เกิดขึ้นได้ ยกเว้นแต่จากธาตุแท้แห่งความดีงามของตัวเอง ความคิดแบบแรกคือการเชื่อว่าเด็กเกิดมาพร้อมกับความชั่วร้ายแบบเดรัจฉาน จะกลายเป็นมนุษย์ที่ดีงามขึ้นมาได้ก็ด้วยการยอมตนอยู่ใต้อำนาจของสิ่งที่มีความดีงามยิ่งกว่าเท่านั้น ความคิดแบบที่สองเชื่อว่าเด็กเกิดมาพร้อมกับความดีงาม แต่ที่กลายเป็นเดรัจฉาน หรือดูราวกับเป็นเดรัจฉานไปก็เพราะธรรมชาติฝ่ายดีในตัวถูกปิดบังไว้ด้วยอะไรบางอย่าง นักศีลธรรมแบบแรกจะคิดว่าตนเองมีความดีเหนือเด็ก และจะต้องเอาความดีที่ตนมีอยู่นั้นใส่เข้าไปในตัวเด็ก และเด็กจะต้องเคารพบูชาเชื่อฟังตนและผู้ที่ตนเคารพบูชา ผู้ซึ่งตนเห็นว่ามีความดีเหนือตน และตนเองก็ได้ความดีมาด้วยการเคารพบูชาเชื่อฟังผู้นั้น ดังนั้นสำหรับนักศีลธรรมแบบนี้ คำว่า ความเคารพตนเองจึงเป็นคำพูดที่เขาไม่สามารถเข้าใจได้เลย และศีลธรรมก็เป็นเรื่องของการสื่อสารทางเดียว เพราะผู้ที่ยังไม่มีความดีหรือมีความดีอยู่น้อย ย่อมไม่มีสิ่งใดมาให้โต้เถียง หรือขัดแย้ง กับผู้ที่มีความดีเหนือกว่าได้

ศีลธรรมแบบอำนาจนิยมจึงจะมาพร้อมกับ ความเชื่อว่าตนเองมีความรู้ และมีปัญญาเหนือกว่าผู้อื่น ควบคู่ไปกับที่มีความดีเหนือกว่า และด้วยเหตุเช่นนั้นจึงมีสิทธิที่จะปกครองผู้ที่มีความดีและปัญญาที่ต่ำกว่า โดยอาศัยเครื่องมือใดก็ตามที่จะพาไปสู่สภาวะที่ตนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจ อาญา การข่มขู่ การหลอกลวงให้เชื่อ การหลอกให้กลัว นักศีลธรรมแบบนี้พร้อมที่จะนำคำสอนเรื่องบัวสี่เหล่าของพระพุทธเจ้ามาใช้ เพื่อตอบสนองความกระหายอำนาจของตนเอง นำมารองรับความเชื่อของตนเองว่าเมื่อมีเจตนาดีเสียแล้ว วิถีใดๆ ก็ย่อมถูกต้องทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นวิถีที่เข้าไปลดทอนตัวตน ความสุข และจิตวิญญาณของผู้อื่นก็ตาม

นักศีลธรรมแบบที่หนึ่งนั้น เป็นมนุษย์ที่เชื่อในความดีแบบที่คาลิน ยิบราน อธิบายไว้ว่า พร้อมที่จะควักดวงตาข้างหนึ่งออก และตัดแขนข้างหนึ่งของตนทิ้ง เพราะเห็นว่า การมีตาสองข้างทำให้ถูกยั่วยวนไปในทางชั่วได้ง่ายขึ้น และการมีมือสองข้างทำให้มีเครื่องมือที่จะทำชั่วได้มากขึ้น ดังนั้น เพื่อความดีและความบริสุทธิ์ที่เหนือกว่า มนุษย์ควรลดทอนตัวเองลง และเพื่อความดีความบริสุทธิ์ของคนที่เรารัก เราก็ควรช่วยเหลือลดทอนตัวตนของเขาลงด้วย นักศีลธรรมแบบที่สองจะไม่เชื่อว่ามนุษย์ควรจะถูกลดทอนปัญญาและความสามารถใดๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ

ศีลธรรมแบบที่หนึ่งจึงเป็นศีลธรรมที่แข็งกร้าว ในขณะที่ศีลธรรมแบบที่สองนั้นอาศัยความอ่อนโยน นักศีลธรรมแบบแรกจะเอาแต่พร่ำพูด และจะพูดในทุกอย่างที่จะกันไม่ให้เกิดการทำผิด และเมื่อเกิดความผิดก็จะอาศัยการลงโทษเพื่อให้กลัวและไม่ทำผิดอีก แต่นักศีลธรรมแบบที่สองจะคอยดูอยู่ห่างๆ ไม่คอยพร่ำบอก ยกเว้นแต่สิ่งที่อันตรายจริงๆ และหากเกิดความผิดก็ใช้การเตือนสติ และจะยอมให้เด็กๆ เรียนรู้ความถูกผิดด้วยตัวของเขาเอง หากความผิดนั้นไม่ใช่การก้าวล่วงละเมิดใครอย่างรุนแรง และจะถือว่าเด็กควรเรียนรู้ความถูกผิดบนพื้นฐานของความเป็นจริงของโลก บนกฎของการเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์ บนความรู้สึกทางจิตใจตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่บนความเชื่ออันงมงายในสิ่งเหนือโลกเหนือธรรมชาติใดๆ ทั้งสิ้นทั้งมวล

นักศีลธรรมแบบอำนาจนิยมจะเป็นผู้ที่ยึดถือในความศักดิ์สิทธิ์ การล่วงละเมิดไม่ได้ของสิ่งที่ตนคิดว่าให้ความดีงามทางศีลธรรม และให้ฐานของชีวิตที่ดีงามแก่ตน ดังนั้นเขาจะบูชาในตัวบุคคลราวกับเทพเจ้า และจะพยายามทำให้มนุษย์ที่เขาบูชากลายเป็นเทพเจ้า เป็นพระเจ้า ผู้มีความดีงามที่สมบูรณ์ และมีความรู้อย่างสมบูรณ์ ความดีสำหรับเขาก็คือสิ่งที่เทพเจ้า หรือพระเจ้า หรือสิ่งที่เป็นเทพเจ้าในร่างมนุษย์ เจตนาให้เขาปฏิบัติ เขาจะไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่เขาต้องการในจิตใต้สำนึกของเขาก็คือ การที่เทพเจ้านั้นจะมีอำนาจเหนือสิ่งต่างๆ อย่างสมบูรณ์ และใช้อำนาจนั้นดลบันดาลให้เขาได้ในสิ่งที่เขาปรารถนา ดังนั้น เขาจะมองโลกแบบขาวดำ คนดีก็ดีอย่างสมบูรณ์ คนชั่วก็ชั่วอย่างสมบูรณ์ และถ้าเขาเริ่มหมดหวังเพราะเห็นว่าโลกนี้มีความชั่วมากเหลือเกิน เขาก็อยากให้มีอำนาจอะไรบางอย่างมาลงโทษ ทำลายล้างมนุษย์ไปเสียให้หมด แล้วค่อยให้เทพเจ้าสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมขึ้นใหม่ เขาจะมองโลกในแง่ร้าย ไม่เชื่อว่ามนุษย์ปุถุชนอย่างเราๆ จะสามารถร่วมกันสร้างโลกนี้ให้ดีงามขึ้นได้ โดยไม่ต้องอาศัยเทพเจ้าใดๆ เขาจะมีทัศนะที่ปิด และไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าทำไมมนุษย์บางคนที่เขาตัดสินว่าชั่ว สามารถทำความดีหลายๆ อย่างที่เขาเองไม่สามารถบังคับใจตนให้ทำได้

นักศีลธรรมแบบเสรีนิยมจะมีจิตใจที่เปิดกว้าง แสวงหาปัญญาเพื่อใช้เข้าใจความดีให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป เขาพร้อมที่จะถามอย่างโสเครตีสว่า สิ่งที่ดีงาม ดีเพราะเป็นสิ่งที่เทพเจ้าปรารถนา หรือ เทพเจ้าปรารถนาในสิ่งที่ดี เพราะมันเป็นสิ่งที่ดีงามด้วยตัวของมันเองอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นเขาจะไม่ยึดติดในตัวบุคคล และจะไม่ปรารถนาให้มนุษย์ที่เขารักและนับถือกลายเป็นเทพเจ้า เขาจะรู้ว่าคนที่เขารักสามารถทำสิ่งผิดได้ และในที่สุดแล้ว นักศีลธรรมแบบเสรีนิยมจะกลายเป็นผู้ที่นับถือตนเองสูงสุด แต่ก็ตระหนักอยู่เสมอว่าตนไม่ใช่ผู้ที่ดีงามอย่างสมบูรณ์ และไม่มีวันเป็นผู้ที่รู้ในสิ่งต่างๆ อย่างสมบูรณ์ เขาจะยอมให้คนอื่นโต้เถียง พร้อมจะยอมรับในความผิดพลาดและความไม่ดีของตนเองได้ เพราะรู้ว่าในความเป็นมนุษย์นั้น ทุกคนมีความดีและความไม่ดีอยู่ในตนเองเหมือนๆ กัน และพร้อมที่จะให้คนอื่นชี้ความผิดพลาดในวิธีคิดของตนเอง เขาจะมองโลกในแง่ดีว่า ด้วยการช่วยกันมองหาสิ่งที่ผิด มนุษย์จะร่วมกันสร้างโลกให้ดีกว่าเดิมได้ เขาจะไม่เชื่อว่า การลงโทษคือวิธีที่จะแก้คนเลวให้กลายเป็นคนดี และเขาจะไม่เชื่อว่าการควบคุมบังคับ คือการป้องกันไม่ให้คนดีกลายเป็นคนเลว แต่เขาจะเชื่อว่าความดีเกิดจากการปล่อยให้ตัวตนและจิตวิญญาณของผู้คนเติบโตไปอย่างอิสระ แต่ก็ต้องเป็นอิสระที่รู้จักเหตุรู้จักผล มิใช่การได้ทุกอย่างตามอำเภอใจอย่างไร้เหตุผล นักศีลธรรมแบบนี้ เมื่ออยู่กับตนเอง เขา ก็จะเคารพตนเองสูงสุด และเมื่ออยู่กับผู้อื่น ก็จะเคารพผู้อื่นเท่าๆ กับที่เคารพตนเอง และเขาจะเห็นความเคารพในระหว่างมนุษย์เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นทั้งสองทาง และต้องเป็นไปอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้าน แม้ในระหว่างผู้ให้และผู้รับ พ่อแม่กับลูก ครูกับศิษย์ พระกับฆราวาส ผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง และนี่คือความแตกต่างที่สำคัญทางวัฒนธรรม เพราะนักศีลธรรมแบบเสรีนิยมจะเชื่อมั่นในหลักการของระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่นักศีลธรรมแบบอำนาจนิยมพร้อมที่แสดงออกมาอย่างเปิดเผยว่าเขาเชื่อมั่นในระบบชนชั้น เพราะสำหรับเขาแล้ว มนุษย์แตกต่างในปัญญาและคุณธรรม ดังนั้นย่อมไม่มีทางเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์ศรี ความดีงาม และคุณค่าของความเป็นมนุษย์.

ตอนที่ 3

ความผิดพลาดของนักการศึกษาไทยที่เกิดจากจิตสำนึกทางศีลธรรมแบบอำนาจนิยม เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาขุดคุ้ยหาที่มาของปมของความกระหายอำนาจ ที่เข้าไปซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก แต่ปมในจิตใต้สำนึกที่สร้างปัญหานั้น ก็จะมีความคิดในระดับจิตสำนึกที่ผิดพลาดมารองรับ ซึ่งก็คือจะทำให้เกิดเป็นผลผลิตคือความคิดทางปรัชญาที่ผิดๆ ในส่วนนี้เจ้าตัวจะรู้ถึงปรัชญาของตนเอง แต่จะไม่รู้ว่าผิด ดังนั้น ขอให้เรามาดูปรัชญาการศึกษาของสังคมไทยกันให้ดี ว่าเกิดความผิดพลาด และถูกบิดเบือนไปอย่างไรบ้างในปัจจุบัน

หัวใจของปรัชญาการศึกษา ไม่ว่าในสังคมไหน ก็คือคำว่าความรู้คู่คุณธรรม เพราะการศึกษาก็คือการถ่ายทอด และการสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวความรู้ และคุณธรรมในสังคม ทฤษฎีการศึกษาก็คือความคิดทุกประการที่เรามีเกี่ยวกับวิธีในการทำสิ่งดังกล่าว ศาสตร์และศิลปะในเรื่องของความรู้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สร้างสมขึ้นได้ไม่ยาก แต่สำหรับเรื่องที่ของคุณธรรมกลับต่างไปอย่างมาก แน่นอนว่าทุกๆ สังคมไม่มีความคิดที่เป็นระบบในเรื่องหลังนี้ และนักการศึกษาก็จะใช้สามัญสำนึกทั่วๆ ไป ซึ่งอาจได้มาจาก ศาสนา จารีตประเพณี ญาณทัศนะส่วนบุคคล ซึ่งก็คือสิ่งที่อาจเรียกว่า ปรัชญาความคิดส่วนบุคคล

ได้กล่าวแล้วว่า ในสมัย มล. ปิ่น มาลากุล การสอนคุณธรรมมีความระแวดระวังที่จะไม่ให้ศีลธรรมเข้ามาทำลายจิตวิญญาณของนักเรียนจนเกินไป นี่คือสามัญสำนึกของช่วงเวลานั้นว่า การสอนศีลธรรมต้องมีขอบเขต มีความพอดีพองาม ไม่ใช่สอนอย่างพร่ำเพรื่อ ที่มีแต่จงนั่นจงนี่ อย่านั่นอย่านี่ มีแต่คำสั่ง คำห้าม จนกลายเป็นความใจแคบบ้าอำนาจของครูไปในที่สุด และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็แสดงปรัชญาที่ผิดๆ ที่เห็นว่า คุณธรรมสำคัญเหนือกว่าปัญญาความรู้ และทำให้การสอนคุณธรรมกลายเป็นตัวทำลายปัญญาความรู้ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เสียเวลาที่ควรจะให้ความรู้ไปกับเรื่องของศีลธรรมจนเกินพอดี

แต่เป็นไปได้ไหมที่เราจะให้เวลากับการฟูมฟักตัวปัญญาความรู้ จนเกิดผลเสียต่อคุณธรรม คนที่ไม่ใคร่ครวญให้ดีอาจจะคิดว่า นี่ก็เป็นปรัชญาที่ผิดอีก เพราะเป็นการเห็นไปว่า ปัญญาความรู้สำคัญกว่าคุณธรรม เขาอาจจะบอกว่าสามัญสำนึกบอกเขาว่า ของสองอย่างนี้ต้องสำคัญเท่าๆ กัน แต่ที่จริงแล้วในสังคมพุทธแท้ๆ เราควรรู้ว่า นี่ไม่ใช่ปรัชญาที่ผิดอย่างแน่นอน เพราะศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งปัญญา ฉะนั้นสามัญสำนึกของคนที่พูดเช่นนั้นมิได้มาจากศาสนาพุทธ แต่มาจากความกระหายอำนาจในจิตใต้สำนึกของเขาเองต่างหาก ศาสนาพุทธนิยามมนุษย์ว่าคือสัตว์ที่มีปัญญา มีจิตใจสูง รู้ดีชั่วได้ด้วยตนเอง ดังนั้นตามนิยามนี้ มนุษย์ไม่จำเป็นต้องได้รับการสั่งสอนว่าอะไรถูกอะไรผิด การสั่งสอนทางศีลธรรมควรเป็นอย่างมากทีสุดก็เพื่อเตือนสติ อย่างที่ได้เคยกล่าวมาอย่างละเอียดแล้ว ซึ่งก็คือพอให้เกิดสติ ไม่ปล่อยให้รักโลภโกรธหลงมาปดบังปัญญา ดังนั้น การที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน จึงสอดคล้องกับปรัชญาการศึกษา ที่เห็นปัญญาเป็นสิ่งที่สูงค่าที่สุดอย่างแน่นอน และเป็นไปไม่ได้เลยว่าการให้เวลาทั้งหมดกับปัญญาความรู้ และเจียดเวลาให้กับการสอนศีลธรรมเท่าที่จำเป็น จะเป็นปรัชญาที่ผิด

แต่แม้จะดูเหมือนว่าเป็นไปได้ ที่เราจะสร้างทฤษฎีทางการศึกษาจากพุทธศาสนา โดยเป็นทฤษฎีที่จะอธิบายว่าการพัฒนาปัญญาอย่างอิสระจะพาไปสู่การพัฒนาคุณธรรมในฐานะผลลัพธ์ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว การพึ่งพิงพุทธศาสนาในการสร้างทฤษฎีทางการศึกษา ก็กลับมีอันตรายที่จะทำให้หันกลับไปให้ความสำคัญกับศีลธรรมเหนือกว่าปัญญาอีกจนได้ เพราะหน้าที่หลักของศาสนาคือการให้คำอธิบายที่สมบูรณ์สิ้นสุดต่อความถูกต้องดีงามทางศีลธรรม และการให้ความสำคัญสูงสุดกับการหลุดพ้นส่วนตน ซึ่งจะเป็นการทิ้งปัญญาทางโลกไปในที่สุด และอันที่จริงแล้ว ตอนนี้ก็ดูเหมือนว่า เราก็มีปรัชญาการศึกษาแบบพุทธ ที่เน้นศีลธรรมและการหลุดพ้นจากโลกจริงๆ คือเป็นปรัชญาการศึกษาแบบที่เห็นไปว่า การศึกษาของฆราวาสก็ควรจะจัดในแบบเดียวกับของสงฆ์ คือให้มีทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งก็มีคำถามว่า ในทั้งสามอย่างนี้อะไรคือสิ่งที่เป็นแก่นแท้กันแน่ และทำอย่างไรการยัดเยียด ศีล กับ สมาธิ เข้าไปเข้าไปในโรงเรียน จะไม่เข้าไปทำลายปัญญาของนักเรียน แต่ปัญหาหลักๆ ก็คือ การเอาอุดมคติชีวิตทางศาสนาแบบสงฆ์ มายัดเยียดให้เป็นอุดมคติในชีวิตของเด็กเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ ซึ่งก็ต้องตอบว่าถูกในสายตาของนักศีลธรรมแบบอำนาจนิยมอีกเช่นเคย

ในเมื่อแม้แต่พุทธศาสนาก็ยังแฝงอันตราย ที่จะตกเป็นเครื่องมือของนักศีลธรรมแบบอำนาจนิยมเช่นนี้ ในเรื่องของความรู้และคุณธรรมเราจะมีมรดกอะไรอื่นให้หันไปหาอีกบ้างไหม ผมไม่รู้จักงานทางปรัชญาตะวันออกที่มีนัยสำคัญต่อปัญหาของเราในเรื่องนี้อีกเลย แต่ในปรัชญาตะวันตก มีงานที่ตรงกับปัญหาที่สุด ซึ่งตกทอดมาจากยุคกรีกโบราณ ชื่อว่า “ เมโน ” (Meno) ซึ่งเป็นการสนทนาของเมโนกับโสเครตีส ในหัวเรื่องที่ว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนกันได้หรือไม่ ซึ่งโสเครตีสได้แสดงเหตุผลว่าความรู้คือหัวใจของคุณธรรม และความรู้และคุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ ด้วยการคิดพิจารณาไตร่ตรองตรวจสอบของตนเอง ซึ่งมีนัยว่าครูไม่ใช่ผู้สอน แต่คือผู้ตั้งคำถาม เพื่อชวนให้ผู้เรียนคิดจนเกิดความรู้ขึ้นด้วยตนเอง

งานชิ้นนี้เป็นวรรณกรรมที่เป็นต้นกำเนิดของทฤษฎีการเรียนการสอนแบบ “ วิธีการของโสเครตีส ” ( Socratic method ) ที่รู้จักกันทั่วไปในวงการศึกษาตะวันตก หรือที่รู้จักกันในวงการปรัชญาว่า “ วิพากษวิธี ” ( dialectics ) และรู้จักกันในวงการอุดมศึกษาปัจจุบันว่า “ การเรียนการสอนแบบวิพากษวิจารณ์ ” (critical thinking) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ได้รับการรองรับด้วยการศึกษาค้นคว้าของนักจิตวิทยาแนวพุทธิปัญญานิยม ( cognitive psychology ) ในแขนงของกระบวนการแก้ปัญหาปลายเปิด ( open-ended problem-solving ) ซึ่งมองว่า ความคิดวิพากษ์วิจารณ์เป็นขั้นตอนสูงสุดทางภูมิปัญญาทั่วไปของมนุษย์ และมีการศึกษาคู่ขนานไปกับพัฒนาการของการใช้เหตุผลทางศีลธรรมตามทฤษฏีของโคลเบิร์ก ( Lawrence Kohlberg ) ดังนั้นญาณทัศนะของโสเครติสจึงเป็นการหยั่งเห็นความเป็นจริง ก่อนหน้าการเกิดขึ้นของความรู้อย่างเป็นระบบของวิทยาศาสตร์ เหมือนอย่างที่ไพธากอรัสมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคณิตศาสตร์กับลักษณะทั่วไปของโลกและจักรวาล ก่อนที่จะมีกฎทางฟิสิกส์มาพิสูจน์ยืนยัน และยิ่งถ้าเราอ่านงานชิ้นนี้เชื่อมกับงาน อพอลโลจี และยูไทโฟร เราจะเห็นความตรงกันของปัญหาเรื่อง ปัญญา การเมือง คุณธรรม อำนาจ ระหว่างสังคมไทยปัจจุบัน กับสังคมกรุงเอเธนส์ในยุคของโสเครตีส ได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นบทเรียนถึงความผิดพลาดของเราที่ดีที่สุด น่าเสียดายที่มรดกทางวัฒนธรรมที่สูงค่าของตะวันตกนี้ ไม่เคยได้ช่วยเยียวยาสังคมไทย เพียงเพราะเหตุที่คนไทยอ่อนแอในการคิดเหตุผลทางตรรกตามแบบของวิชาปรัชญา ฉะนั้น ขอให้เรามาเรียนวิชาปรัชญากันสักนิด

เมื่อเมโนเริ่มต้นถามคำถามว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนกันได้หรือไม่นั้น โสเครติสก็บอกว่าก่อนที่จะตอบคำถามนี้เราควรจะบอกให้ได้เสียก่อนว่า คุณธรรมคืออะไร เราทุกคนคงคิดเหมือนเมโนว่านี่เป็นเรื่องง่ายๆ แต่ผมรับรองว่า ไม่มีนักการศึกษาคนไหนที่กำลังสอนศีลธรรมอย่างเป็นบ้าเป็นหลังอยู่ในสังคมไทย จะตอบปัญหานี้ได้ เพราะโสเครติสกำลังถามหานิยามของคุณธรรม ซึ่งการสร้างคำนิยามเป็นปัญหาทางปรัชญาที่ยุ่งยาก เพราะจะต้องไม่ให้มีคำที่กำลังถูกตั้งคำถาม มาปรากฏอยู่ในคำที่ใช้นิยาม รวมทั้งจะต้องไม่นิยามให้วนเป็นวงกลม หรือถอยหลังไม่รู้จบ คือนิยามไปสู่คำที่ยังต้องนิยามต่อไปอีกเรื่อยๆ เมโนนั้นเริ่มต้นด้วยการคิดว่าตนเองรู้จักคุณธรรมเป็นอย่างดี แต่เมื่อถูกถามถึงนิยามก็ได้แต่ให้ตัวอย่างของกรณีเฉพาะของคุณธรรมข้อต่างๆ ไปเรื่อยๆ ต้องให้โสเครตีสตะล่อมอยู่นาน กว่าจะพอสรุปได้ว่า คุณธรรมคืออำนาจ หนทาง วิถีแห่งการปฏิบัติ ที่จะพาตรงไปสู่การครอบครองในสิ่งที่ดี มีค่า น่าปรารถนา และตรงนี้เองที่โสเครติสชี้ให้เห็นว่า การกระทำทุกอย่างของมนุษย์ย่อมเป็นไปเพื่อการบรรลุในสิ่งที่ตนปรารถนา และถ้ามนุษย์เข้าใจผิดว่าสิ่งที่เป็นโทษต่อตนเองเป็นสิ่งที่ดี มนุษย์ก็จะแสวงหาในสิ่งที่เป็นโทษต่อตน จึงไม่มีมนุษย์คนไหนที่ทำชั่วพร้อมกับที่รู้ว่ามันชั่ว ความชั่วคือการที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เป็นคุณตอนนี้คือโทษในภายหน้า ดังนั้นคุณธรรมจึงต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องชี้นำ และปัญญาที่สำคัญที่สุดของคนแต่ละคนก็คือ การรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่มีค่าน่าปรารถนาที่สุดสำหรับตนเองอย่างแท้จริง ซึ่งให้ใครมาตัดสินให้ไม่ได้ ดังนั้น ความรู้ที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์จึงเป็นสิ่งอื่นใดไปไม่ได้นอกจาก การรู้จักตนเอง เป็นที่มาของคำสอนของเขาที่ว่า ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ตรวจสอบตนเองอยู่เสมอ ว่าสิ่งที่ฉันกำลังแสวงหานั้นเป็นสิ่งที่มีค่าน่าปรารถนาจริงหรือไม่ (ขอให้อ่านส่วนนี้ช้าๆ นะครับ)

ส่วนคำถามที่ว่าคุณธรรมสอนกันได้หรือไม่นั้น โสเครตีสยกตัวอย่างรัฐบุรุษที่เป็นที่รักของชาวเอเธนส์หลายคนที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมแต่กลับไม่สามารถสอนคุณธรรมที่ตนมีให้บุตรได้ ทั้งที่สอนทักษะศิลปะวิทยาการอื่นให้ได้มากมาย ย่อมเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่จะแสดงแล้วว่าคุณธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะถ่ายทอดและสั่งสอนให้แก่กันได้ ยิ่งไปกว่านั้น ตัวปัญญาความรู้แท้ๆ ก็เป็นสิ่งที่สอนถ่ายทอดให้แก่กันไม่ได้เช่นเดียวกันกับคุณธรรม เพราะสำหรับโสเครตีสแล้ว ปัญญาความรู้ไม่ใช่การมีข้อมูลความจำ หรือการมีทักษะที่ได้มาจากการฝึกฝน เลียนแบบ ทำตามกันไป แต่เป็นความเข้าใจอย่างแท้จริงในเรื่องหนึ่งๆ จนสามารถแก้ปัญหาที่ไม่เคยแก้มาก่อนได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของการนำเอาเหตุผลทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง เข้าไปคิดพิจารณาไตร่ตรองจนแตกฉาน สามารถมองเรื่องราวความเชื่อมต่อ ความเป็นเหตุเป็นผล ในทุกแง่ทุกมุมที่เกี่ยวข้องกับตัวปัญหาที่ศึกษา โสเครติสให้ตัวอย่างจากการแก้ปัญหาทางเรขาคณิต เช่น ทำอย่างไรจึงจะสร้างรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสที่มีพื้นที่เป็นสองเท่าของพื้นที่เดิมได้ คำตอบก็คือ ใช้เส้นทแยงมุมเป็นหลักของการคิด การแก้ปัญหานี้ได้คือการรู้ทฤษฎีบทหนึ่งของยูคลิด เขาทำให้เมโนเห็นว่าทาสของเมโนเกิดความรู้ในทฤษฎีบทดังกล่าว ไม่ใช่ด้วยการบอกเล่าถ่ายทอด แต่ด้วยการถูกกระตุ้นให้คิดอย่างหนักด้วยคำถามและการตรวจสอบวิธีการคิดอื่นๆ ที่ผิดพลาด

โสเครตีสใช้อุปมาอุปมัยบอกเราว่าการตั้งคำถามเป็นการตรึงสิ่งที่จับไม่มั่นคั้นไม่ตายให้อยู่กับที่ ไม่ให้สิ่งที่เราต้องการ วิ่งหลบลี้หนีหายไปจากเรา แต่ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมาก็คือ การเปลี่ยนสิ่งที่เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นให้กลายเป็นความรู้ และถ้าพูดแบบวิทยาศาสตร์ก็คือกระบวนการของการหาพยานหลักฐาน เพื่อมาหักล้าง หรือมายืนยันข้อสันนิษฐานต่างๆ ของเรานั่นเอง และนิยามของความรู้ก็คือ ความคิดเห็นที่สามารถตอบข้อโต้แย้งซักถามทุกประการ ได้อย่างไม่เหลือข้อให้ต้องสงสัย ดังนั้น การตั้งคำถามตรวจสอบจึงเป็นหัวใจของการเกิดปัญญาความรู้ ความคิดเห็นนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนได้มาด้วยสิ่งที่เขาเรียกว่าญาณทัศนะหรือการหยั่งเห็นภายใน ซึ่งปัจจุบันเราเรียกว่าการจินตนาการตั้งข้อสันนิษฐาน หรือการเดาแบบมีเหตุผล ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่มีค่าอะไรอย่างแท้จริง จนกว่าจะผ่านกระบวนการตั้งคำถามตรวจสอบ จนทำให้เราเข้าใจมันในทุกแง่ทุกมุม เห็นจริง และไม่เห็นพยานหลักฐานใดมาขัดแย้ง ปัญหาของคนทั่วไปก็คือ พอเกิดความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา ที่พอสมเหตุสมผล นำไปตรวจสอบนิดๆ หน่อยๆ ก็รีบหลงยึดว่าเป็นความรู้ กลายเป็นพวกที่ไม่รู้จริงแต่คิดว่ารู้ไปหมด โสเครติสมักไม่ยอมพูดว่าตนเองรู้อะไร แต่ในบทสนทนากับเมโนนี้เขายอมยืนยันว่า เขารู้ว่า ความรู้และความคิดเห็นเป็นของคนละอย่างกันอย่างแน่นอน

ในการสนทนาเรื่องคุณธรรมนี้ มีบุคคลชื่ออนีตัสร่วมอยู่ด้วย พอโสเครติสพูดพาดพิงถึงรัฐบุรุษของชาวเอเธนส์อนีตัสก็โกรธ และกล่าวหาว่าโสเครติสชอบกล่าวร้ายให้คนอื่นเสื่อมเสีย แล้วก็เดินจากไปพร้อมทั้งกล่าวอาฆาตแค้นไว้ ทั้งเมโนและอนีตัสแสดงความสนใจต่อการที่จะสอนคุณธรรมให้ผู้อื่น แต่ก็นิยามคุณธรรมไม่ได้ แสดงว่าไม่ได้เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของคุณธรรม เหมือนเช่นนักการศึกษาไทยผู้บ้าคลั่งต่อการสอนศีลธรรมทั้งหลาย ซึ่งถ้านิยามไม่ได้ก็แสดงว่า เข้าใจยังไม่จริง (แต่ไม่รู้ตัว) แต่ทุกคนก็ยังอยากจะสอนความดีให้คนอื่น ถ้าเช่นนั้นเขาเอาอะไรมาใช้สอน สามัญสำนึกกระมัง หรือไม่ก็การดลใจจากเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อนีตัสก็เป็นเช่นนั้น เขาเห็นรัฐบุรุษเป็นแรงบันดาลใจทางคุณธรรม จึงเกิดความปรารถนาที่จะให้มนุษย์กลุ่มนั้นกลายเป็นเทพเจ้า ผู้ซึ่งมีความดีงามอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแสดงว่าเขานั้นแอบซ่อนความกระหายที่จะให้มีเทพเจ้าผู้ที่มีอำนาจที่จะดลบันดาลสิ่งที่เขาต้องการ การที่โสเครติสไปชี้ในสิ่งที่มนุษย์ผู้นั้นทำไม่ได้ จึงเป็นการฉุดเทพเจ้าองค์นั้นๆ ให้กลับลงมาเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ เขาจึงยอมรับไม่ได้ ในระดับความต้องการทางจิตใต้สำนึกแล้ว เขากำลังอาศัยศีลธรรมเป็นเครื่องมือในการทำลายปัญญาของผู้คนเพื่ออำนาจทางการเมือง เพราะในท้ายที่สุดแล้ว เขาได้กลายเป็นผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยเพียงแค่ชื่อ และเขาต้องการยุติจิตสำนึกในการตั้งคำถามตรวจสอบของพลเมือง และเห็นโสเครติสเป็นแหล่งกำเนิดของจิตสำนึกดังกล่าว จึงกล่าวหา โสเครติสว่าทำให้คนหนุ่มสาวเสื่อมเสียทางศีลธรรม ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ไม่เคารพนับถือเทพเจ้า และใช้กำลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมในเอเธนส์ รวมหัวกันตัดสินประหารชีวิตโสเครตีสเสีย เหมือนที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสังคมไทยใช้ศีลธรรมรวมหัวกันตัดสินประหารชีวิตคุณภาพทางการศึกษาของไทยเสีย ด้วยการทำให้การศึกษาเป็นทาสรับใช้ของศีลธรรมจอมปลอม ทั้งหมดก็เพื่ออำนาจทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

โสเครติสยอมรับว่า คนเราได้ความคิดเรื่องความดีมาจากกระบวนการที่เหนือกว่าที่จะอธิบายได้ตามปกติธรรมดา ซึ่งในที่สุดเราก็จะโยนให้เป็นเรื่องของสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น เราอาจจะพูดว่า เราได้รับแรงบันดาลใจมาจากคนที่มีความดีเหนือกว่าเรา เช่น จากรัฐบุรุษ และรัฐบุรุษก็อาจได้รับแรงดลใจตรงๆ จากเทพเจ้า ผู้เป็นแหล่งที่แท้จริงของความดี แต่สำหรับปัจจุบัน เมื่อเรารู้จักทฤษฎีจิตวิเคราะห์แล้ว เรื่องเช่นนี้ก็เป็นอันจบไป แต่ประเด็นของโสเครตีสก็คือ ไม่ว่ารัฐบุรุษจะแสดงความเป็นผู้มีคุณธรรมที่สูงส่งเพียงไร มันก็เกิดจากแรงดลใจที่สูงเท่านั้น แรงดลใจทางคุณธรรมไม่ว่าจะสูงเพียงไรก็ไม่ได้ประกันว่ามันคือความถูกต้องดีงามอย่างแท้จริง มันยังสามารถผิดพลาดได้เสมอ และจะมีค่าจริงๆ ก็ต่อเมื่อถูกตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่นเดียวกับความคิดเห็นที่ได้มาจากการหยั่งเห็นเองภายในของแต่ละบุคคล ที่จะต้องถูกตรวจสอบจนกลายเป็นความรู้ ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์นั้น ซุปเปอร์อีกโก้ที่เป็นแหล่งของศีลธรรมของเรา มีส่วนกำเนิดที่สำคัญมาจากปมความหลงร่างกายของตนเอง และปมความกระหายอำนาจ ฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดามากที่เราจะมีศีลธรรมที่ผิดๆ ฉะนั้นขอให้เรามาเรียนรู้วิชาปรัชญาต่อกันอีกสักนิด

ในการอภิปรายตอนแรกในเมโนว่าด้วยธรรมชาติของคุณธรรม มีการอาศัยตัวอย่างของคุณธรรมของบุคคลหลายๆ สถานะ และมีการเสนอว่าคุณธรรมเกี่ยวพันกับอำนาจในการปกครองคนอื่น ซึ่งโสเครติสพยายามวิเคราะห์ให้เห็นว่าเมื่อเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คุณธรรมที่มีความสำคัญสูงสุด และจะต้องเข้าไปควบคุมคุณธรรมอื่นๆ ทั้งหลาย คือความยุติธรรมหรือความเที่ยงธรรม ซึ่งปัจจุบันเราก็จะรับรู้ในระดับรัฐว่าคือหลักแห่งนิติธรรม และในระดับของความคิดของปัจเจกมันคือพัฒนาการทางศีลธรรมขั้นที่สูงที่สุดตามทฤษฎีของโคลเบิร์กตามที่เข้าใจกันอยู่ในยุคต้น แต่ในการสนทนากับยูไทโฟรในขณะที่เขารอขึ้นศาล เมื่อถูกอนีตัสกล่าวหาว่าทำให้คนหนุ่มเสื่อมเสียนั้น โสเครตีสกลับตรวจสอบอย่างละเอียดถึงความสัมพันธ์ทางตรรกระหว่างความถูกผิด ความยุติธรรม และเป็นศีลธรรมที่บริสุทธิ์สะอาด และเขาพยายามจะบอกยูไทไฟรว่า คุณธรรมแห่งความยุติธรรมนั้นยังไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับศีลธรรมอันบริสุทธิ์

แม้ในบทสนทนาดังกล่าวเขาจะไม่ได้อธิบายว่าโดยเนื้อหาแล้วศีลธรรมอันบริสุทธิ์คืออะไร แต่พัฒนาการของทฤษฎีทางจริยศาสตร์ยุคปัจจุบัน ซึ่งเข้าไปมีอิทธิพลต่อความเข้าใจต่อทฤษฎีพัฒนาการของการใช้เหตุผลทางศีลธรรมของโคลเบิร์กในยุคหลังก็พอจะช่วยทำให้เราพอจะมองเห็นภาพได้ว่า ศีลธรรมอันบริสุทธิ์ คือศีลธรรมที่เรียกร้องต่อด้านของความรักความเมตตาในจิตใจของมนุษย์ ไม่ใช่ด้านของความโกรธแค้น มันเรียกร้องให้มนุษย์มองหาสภาวะแห่งมนุษยธรรมในตนเอง เพื่อยุติการใช้อำนาจ และด้วยมนุษยธรรมที่มนุษย์มีอยู่ในตนเองนี้ มันขอร้องให้มนุษย์เอาชนะความต้องการความยุติธรรมแบบที่จะไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้นอีกต่อไป นอกจากความรู้สึกสาสมใจต่อความโกรธแค้น ดังนั้น มันจะเรียกร้องให้เรายกเลิกโทษประหารชีวิต คำว่า มนุษยธรรม คุณค่าของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นความก้าวหน้าทางศีลธรรมของโลกตะวันตกยุคปัจจุบัน ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาในช่วงสองร้อยปีมานี้ และเป็นสิ่งไม่มีอยู่ในความคิดทางศีลธรรมของคนกรีกหรือคนเอเธนส์ในเวลานั้น เหมือนที่ไม่มีอยู่ในความคิดทางศีลธรรมของคนไทยในเวลานี้ ซึ่งทำให้ประชาธิปไตยของกรีกโบราณและไทยปัจจุบันอ่อนแอในลักษณะเดียวกันทุกประการ สรุปก็คือคนไทยและคนเอเธนส์บ้าคลั่งคุณธรรมบนจิตใจที่กระหายอำนาจ อย่างที่ตนเองก็ไม่รู้ตัว

ผมเคยกล่าวแล้วว่าความกระหายอำนาจมาจากจิตใต้สำนึกและเข้ามาปนกับจิตสำนึกทางศีลธรรมด้วยความสัมพันธ์ของเด็กกับพ่อแม่ตนเอง ยูไทโฟรมาพบโสเครตีสที่ศาลเข้าโดยบังอิญ ก็เพราะมาฟ้องพ่อของตนเองที่ทำให้ทาสตาย จิตสำนึกต่อศีลธรรมเชิงพลเมืองที่สูงเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องตลกเลยในทัศนะของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เพราะปมในจิตใจของมนุษย์ทุกคนที่พาไปสู่การสร้างซูเปอร์อีโก้ก็คือความทั้งรักทั้งโกรธพ่อแม่ของตนเอง รักเพราะพ่อแม่คือแหล่งสำคัญของความสุขทั้งทางกายและใจของตน โกรธเพราะเป็นทุกข์ที่พ่อแม่ใช้อำนาจขัดขวางความสุขอื่นๆ ของตน แต่ก็อยากมีอำนาจเช่นที่พ่อแม่มี จึงพยายามเก็บกดความโกรธให้หายไปจากความรู้สึก นึกถึงแต่ความรักแล้วหันไปบูชาคำสอนของพ่อแม่ นิยามตนเองให้เป็นส่วนหนึ่งของพ่อแม่ เพื่อให้รู้สึกว่าอำนาจของพ่อแม่เป็นของตนเองด้วย ซึ่งในที่สุด เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์ทั้งหลายที่มนุษย์สร้างขึ้นไว้บูชาก็ร่วมเข้ามาเป็นตัวแทนอีกส่วนหนึ่งของพ่อแม่ ที่ตัวเองทั้งรักทั้งโกรธนั่นเอง ตัวความโกรธแม้จะเก็บกดไว้ได้ก็ไม่หายไปไหนจริง ถ้ามีหนทางที่จะปลดปล่อยออกมาได้ ก็จะออกมาในที่สุด ในกรณีของยูไทโฟรก็คืออาศัยคุณธรรมเรื่องความยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ใครที่รู้เรื่องเยาวชนเร็ดการ์ดของจีนก็จะรู้ว่า พวกเขาใช้อุดมการณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นเครื่องมือทางศีลธรรมเพื่อลงโทษพ่อแม่ของตนเอง ที่เลี้ยงดูพวกเขามาตามวัฒนธรรมที่เข้มงวดของจีนโบราณ คนเราสามารถใช้กฏหมายและศีลธรรมเล่นงานผู้ที่เคราะห์ร้ายต่างๆ ได้อย่างไร้หัวจิตหัวใจ เช่นที่คนที่มีอำนาจแต่ไร้ความสุขในจิตใจทั้งหลายมักจะทำกับ โสเภณี คนติดยาเสพติด ยาจกพเนจร ผู้เบี่ยงเบนทางเพศ คนชายขอบของสังคม ผู้หญิงที่ทำแท้ง เป็นต้น ในกรณีสุดท้ายนั้น กล่าวได้เลยว่า สังคมไทยของเรานั้นไร้มนุษยธรรมเป็นอย่างยิ่ง ที่ปล่อยให้ผู้หญิงต้องตายไปจากการตกเลือดเพราะทำแท้งเถื่อน ปีละเป็นพันเป็นหมื่น เพียงเพราะเรายังเห็นดีเห็นงามต่อการกดขี่ทางเพศที่ผู้ชายกระทำต่อผู้หญิง ด้วยการตรากฏหมายให้การทำแท้งเป็นสิ่งที่ผิด โดยอ้างว่าเพื่อศีลธรรมอันดีงาม และขอให้มองดูด้วยว่า บนความคิดเรื่องความกตัญญู สังคมไทยยอมให้ผู้คนใช้กฎหหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเล่นงานกันเองอย่างบ้าคลั่งเพียงไร (ซึ่งในอดีตเราก็ได้ใช้ความคิดนี้เป็นเครื่องมือฆ่าคนที่สังคมโกรธแค้นเป็นจำนวนร้อยๆ มาครั้งหนึ่งแล้ว)

ประเด็นก็คือ ศีลธรรมและคุณธรรมเป็นของที่ต้องได้รับการวิพากษ์ตรวจสอบ และจะต้องได้รับการชี้นำด้วยปัญญาและจิตสำนึกแห่งมนุษยธรรม ความเชื่อมั่นในเกียรติและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของมนุษย์ทั้งมวล ศีลธรรมและคุณธรรมที่สอนให้กันไปตามจารีต กำหนดให้กันแบบไม่อนุญาตให้ตั้งคำถาม ก็คือการเอาความรู้สึกของตนเอง ความเคยชินของตนเอง การถูกดลใจของตนเอง ไปกำหนดความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งไม่ใช่อะไรมากไปกว่าการมีศรัทธาอย่างมืดบอด และความกระหายอำนาจ จนกลายเป็นพยายามที่จะทำลายปัญญาของผู้คนทุกคนที่เราสามารถเอื้อมมือไปถึง

ตอนนี้ ขอให้เรากลับไปหาปัญหาที่เสนอไว้แต่ต้น ว่าทำไมการศึกษาของไทยจึงแพ้การศึกษาของมาเลเซียไปได้ในที่สุด เราได้เห็นแล้วว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมของสังคมจะพยายามใช้ศีลธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง ถ้าถึงที่สุด ก็คือใช้ศีลธรรมเข้าไปทำลายปัญญาของสังคม เมื่อมองดูในมาเลเซีย เราได้เห็นเหตุการณ์ระยะยาวในมาเลเซียที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้านถูกกลั่นแกล้งด้วยข้อหาที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไร้สาระอย่างยิ่งทางการเมือง แต่กลับสามารถลงโทษได้อย่างรุนแรง แสดงถึงความเป็นสังคมที่อนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมทางศีลธรรม แบบเดียวกับสังคมไทย เราอาจคิดว่าศีลธรรมอิสลามเป็นกฏหมายที่รุนแรง แต่ทำไมมันกลับไม่เข้าไปทำลายการศึกษาได้เท่ากับศีลธรรมพุทธศาสนา ประเด็นอยู่ที่รัฐบุรุษหรือประมุขของประเทศ ทั้งไทยและมาเลเซียมีกษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ แต่กษัตริย์ของเขาดำรงตำแหน่งอย่างมีวาระที่แน่นอนและค่อนข้างสั้น ทำให้มีบทบาทที่ถูกจำกัดไปโดยบริยาย กษัตริย์มาเลเซียไม่สามารถสร้างตนเป็นผู้อุปถัมภ์สังคม เป็นพ่อ เป็นแม่ ของชาติ ดังนั้นจึงไม่สามารถรื้นฟื้นจิตสำนึกแบบชนชั้น รวมทั้งไม่สามารถสร้างตนเป็นผู้ทรงภูมิรู้สูงสุด ทรงคุณธรรมสูงสุด สามารถสั่งสอน ได้ในทุกๆ เรื่องอย่างไม่มีอะไรให้ต้องตั้งคำถามหรือสงสัย และไม่อาจทำตัวเป็นผู้สมควรได้รับการบูชาแบบเทพเจ้า ในฐานะแบบอย่างและแหล่งแห่งแรงดลใจในคุณธรรมความดี ระบบกษัตริย์ในมาเลเซียเป็นเพียงสัญญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของการสร้างความเป็นปึกแผ่นของดินแดน แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงไม่มีพลังที่จะเป็นตัวผลักดันกระแสอนุรักษ์นิยมทางศีลธรรม หรือกระแสอำนาจนิยมทางศีลธรรม หรือกระแสความบ้าคลั่งศีลธรรม บ้าคลั่งศาสนา ให้รุกรานเข้าไปในระบบการศึกษา นี่น่าจะเป็นเหตุผลเดียวที่ดีที่สุดที่จะอธิบายว่าทำไมการศึกษาของมาเลเซียจึงพัฒนาก้าวหน้ากว่าการศึกษาไทย

ขอให้เราย้อนกลับไปสู่การศึกษาสมัยมล. ปิ่น มากุล ซึ่งเป็นยุคสมัยเผด็จการทหาร แต่ก็เป็นยุคเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม ในยุคดังกล่าวการศึกษาไทยยังก้าวหน้ากว่าของมาเลเซีย และสถาบันกษัตริย์ไทยก็ยังไม่มีบทบาททางการเมืองและทางวัฒนธรรมใดๆ มากนัก ในยุคปัจจุบัน เด็กนักเรียนอนุบาลถูกสอนให้ท่องบทแผ่เมตตาและให้นั่งสมาธิทุกวัน เรามีประชาธิปไตย แต่ประชาชนก็มีจิตสำนึกแบบชนชั้นอย่างชัดเจน จึงควรเรียกว่ายุคประชาธิปไตยแบบศักดินาชนชั้น และถ้าจะใช้คำของยุคปัจจุบันก็ควรจะเรียกไปเสียเลยว่ายุคประชาธิปไตยแบบอำมาตยาธิปไตย ซึ่งเรามีการศึกษาที่มีคุณภาพที่เลวร้ายกว่ายุคเผด็จการทุนนิยมมากนัก มาเลเซียนั้นตัดสินอย่างแน่นอนว่าจะเป็นประเทศทุนนิยม ดังนั้น จะยอมให้อะไรมาหน่วงเหนี่ยวการศึกษาไม่ได้ ทุนนิยมกับอำมาตยาธิปไตยนั้นอยู่ด้วยกันไม่ได้แน่ ฉะนั้นเราเองก็ควรจะต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร พลเมืองที่โง่อาจปกครองง่ายและเป็นแรงงานราคาถูก แต่ก็สร้างผลผลิตที่ราคาต่ำ เราต้องคิดให้ดีว่าจะเอาอะไรแน่ ผมคิดว่าในระยะยาวทุนนิยม แม้บางทีอาจจะสามานน์อย่างสุดๆ ก็ยังอาจจะพาไปสู่ความยุติธรรมทางสังคมได้มากกว่าระบบศักดินา ซึ่งควรจะเก็บไว้เป็นสัญลักษณ์ของอดีตก็พอแล้ว ไม่ควรเอามาเป็นจริงเป็นจังในปัจจุบันเพื่อทำลายปัญญาของตนเองเลย พลเมืองที่ฉลาดจะพาไปสู่ประชาธิปไตยที่แข็งแรงและรัฐสวัสดิการในที่สุด ซึ่งนายทุนไม่ว่าจะสามานน์แค่ไหนก็จะต้องสูญเสียตรงนี้ในที่สุด แต่ก็เป็นการสูญเสียที่จะมีอะไรบางอย่างที่ได้กลับมาอย่างคุ้มยิ่งกว่าคุ้มด้วยเช่นกัน เพราะเราจะได้ระบบเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดไปสู่อีกระดับหนึ่งอย่างแน่นอน ดังนั้นผมไม่เห็นทางเลือกอื่นสำหรับนายทุนทั้งหลายนอกจากจะตัดตนเองให้ขาดจากพวกอำมาตรข้าราชการทั้งหลาย แล้วบังคับสังคมไทยให้ยกเลิกลัทธิชาตินิยมวัฒนธรรมนิยมเสีย.

ตอนที่ 4

ตอนที่มีการทดสอบพบว่าเด็กไทยยิ่งเรียนชั้นสูงขึ้นก็ยิ่งมีไอคิวต่ำลงนั้น ก็มีการพบเช่นกันว่า เด็กนักเรียนที่รอดพ้นชะตากรรมเช่นนั้นไปได้คือนักเรียนสาธิตฯ และก็มีคำตอบแบบง่ายๆ ว่าเป็นเพราะเด็กนักเรียนสาธิตนั้นถูกบังคับในกฎระเบียบน้อยที่สุด คือเป็นเด็กที่เรียนรู้อย่างมีความสุข มีผลการทดลอง และทฤษฎีรองรับอย่างชัดเจนว่า ความสุขทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีพลังและมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าอยากจะพูดให้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของสารเคมีอย่างเอนโดฟีนและสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นซินเน็บในสมองก็ได้ แต่ในเรื่องความสุขนี้ เราต้องระวังนิดหนึ่งว่าเราต้องไม่เข้าใจไปว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ต้องมีความสุขอยู่ตลอดเวลา เพราะดูเหมือนจะเคยมีทฤษฎีบ้าๆ ที่บอกว่าการเรียนรู้จะต้องไม่ทำให้เกิดความเครียด ในทางตรงกันข้าม นักจิตวิทยาพุทธิปัญญานิยมยืนยันว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการของการเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทาย ดังนั้นผู้เรียนจึงต้องเกิดความเครียดจากการที่ต้องเข้าไปต่อสู้กับปัญหาที่ยาก และไอคิวจะไม่มีทางพัฒนาขึ้นได้เลยถ้าไม่มีการใช้สติปัญญาทำงานในปัญหาที่ยากกว่าที่ตนเองเคยประสบมา ความสุขเป็นสิ่งที่ต้องได้มาภายหลัง ในฐานะของความภาคภูมิใจที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้ ครูจะต้องคอยผลักดันให้เด็กก้าวต่อไปข้างหน้า เด็กอาจยอมแพ้เพราะอับจนในบางครั้ง ก็ต้องรอให้เขามีกำลังใจสู้ใหม่ หาทางช่วยเท่าที่ช่วยได้ แต่อย่าเข้าไปทำให้เองเป็นอันขาด เพราะจะเท่ากับไปทำลายโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก และอย่าไปบอกทางลัดในการแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน ความเจ็บปวดในการเรียนรู้ทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจเมื่อเขาประสบความสำเร็จ ขอให้สังเกตว่านี่คือวิธีเดียวกับวิธีที่โสเครติสใช้แสดงการได้มาของความรู้ที่แท้จริง

เราอาจพูดได้ว่า เมื่อเข้าสู่กระบวนการเรียน เด็กสาธิตมีความทุกข์ที่เขาควรจะต้องมี แต่เมื่ออยู่นอกการเรียน เขาก็มีความสุขที่เขาควรจะต้องได้รับ คือการไม่ถูกบังคับด้วยวินัยไร้สาระทั้งหลาย และความสุขนอกตัวของกระบวนการเรียนของเขา คือพลังที่เขาใช้ในการเผชิญกับความทุกข์ในตัวการเรียน เมื่อเขามีพลังที่ใช้เป็นทุนมาก เขาก็เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาไอคิวไปได้ดีกว่าเด็กที่มีทุนน้อย คือไม่ถูกลดไอคิวลง

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างมาก เพียงแต่ยังไม่ถูกวัดด้วยเครื่องมือที่เป็นปรนัยอย่างการวัดไอคิว ก็คือความรู้สึกเชื่อมั่นและภาคภูมิใจในตนเองที่เรียกว่า self-esteem สิ่งนี้สัมพันธ์กับความสุขในตัวเองของเด็ก ที่เกิดจากการได้รับความยกย่องชมเชย

เสรีภาพที่เป็นตัวของตัวเอง ค้นพบสิ่งที่ตนเองรักตนเองชอบ พัฒนาบุคลิกภาพไปตามจิตใจของตนเอง จนสามารถมีปัจเจกภาพของตนและชื่นชมกับปัจเจกภาพนั้นได้ เป็นสิ่งที่ซับซ้อนกว่าไอคิวที่เป็นเรื่องของความสามารถทางการการคิดแก้ปัญหา แต่ก็สัมพันธ์กันในแง่ที่ว่ามันทำให้เกิดประชาคมของผู้เรียนรู้และสร้างสรรค์ร่วมกันที่มีศักยภาพสูงสุด เพราะผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงและภาคภูมิใจในตนเองเท่านั้น ที่จะเข้าร่วมโต้เถียงวิพากษ์วิจารณ์ เสนอความคิดเห็นใหม่ๆ ของตนเอง อย่างไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใดๆ พร้อมกับที่อยากจะได้รับความคิดเห็นใหม่ๆ จากคนอื่นๆ อย่างมากที่สุด เพื่อเอาไปพัฒนา ต่อยอดความคิดของตนเอง และนี่คือเหตุผลที่ทำให้นักจิตวิทยาแนวพุทธิปัญญานิยมเห็นว่าความคิดวิพากษ์วิจารณ์คือพัฒนาการทางปัญญาขั้นที่สูงที่สุดของมนุษย์

ผมอยากจะพูดเรื่องวิทยาศาสตร์มากกว่านี้ แต่ก็พบว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับสังคมไทย เพราะคนไทยต่อให้เป็นศาสตราจารย์ทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้มีจิตวิญญาณแบบวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง สำหรับคนไทย วิทยาศาสตร์เป็นแค่สิ่งที่เชื่อมอยู่กับเทคโนโลยีซึ่งเป็นแค่ของสำหรับเอามาใช้หาประโยชน์ทางวัตถุ ไม่ใช่ทางความคิดและการดำเนินชีวิต สำหรับจิตวิญญาณแบบวิทยาศาสตร์ผมหมายถึงการเห็นวิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและการมองโลกแบบเหตุผลนิยม - ธรรมชาตินิยม ที่ผมกล่าวรุนแรงเช่นนี้ก็เพราะ ส่วนราชการที่ดูแลการอุดมศึกษาของประเทศคงเต็มไปด้วยศาสตราจารย์ทางวิทยาศาสตร์ แต่กลับทำสิ่งผิดๆ ที่ไม่ได้ต่างกันไปเลยกับส่วนราชการที่ดูแลการศึกษาระดับล่าง เช่น โรงเรียนประถมและอนุบาล

วิทยาศาสตร์ที่ใกล้กับชีวิตขนาดที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ น่าจะกลายเป็นสามัญสำนึกที่คอยเป็นสติเตือนเราว่า เราจะต้องไม่ทำให้เด็กมีความทุกข์จนเขาสูญเสียความสุขที่จะเรียน และความกล้าที่จะคิดโต้เถียง แต่เราก็ทำมันลงไปจนได้ เด็กของเรามีสภาพเหมือนควายที่ถูกสนตะพานจูงให้เดิน แต่เรากลับไม่รู้สึกรู้สมอะไรเลย หรือแทบจะเห็นดีเห็นงามไปเสียด้วยซ้ำ ถ้าไม่ใช่เสียสติไปแล้ว สติของเราก็ถูกบดบังอยู่ตลอดเวลาด้วยลัทธิชาตินิยม กษัตริย์นิยม อุปถัมภ์นิยม ศาสนานิยม วัฒนธรรมนิยม ศีลธรรมคุณธรรมนิยม และอคติต่างๆ นานา ซึ่งทั้งหมดนี้ ถ้าเรียนจิตวิเคราะห์ให้ลึกสักหน่อย เราก็จะรู้ว่าเกิดจากการที่เราเป็นพวกที่กระหายอำนาจ เก็บกด แล้วก็ใช้การทำร้ายเด็กมาเป็นการแก้แค้นต่อความเจ็บปวดในอดีตของเรา เอาจิตสำนึกทางศีลธรรมขึ้นมาบดบัง หลอกตนเองจนสนิทใจว่ามีเจตนาที่ดีต่อเด็ก หรือที่จะปกป้องสังคม แต่ถ้าเอาเหตุผลเข้าไปดู ทุกสิ่งที่เราทำต่อเด็ก ล้วนแต่เกินขอบเขตของความสมเหตุสมผลทั้งสิ้น

ว่ากันจริงๆ แล้ว คุณรู้ตัวหรือไม่ว่าที่จริงพวกคุณเป็นผู้ที่ขาดความรู้สึกชื่นชมตนเองมาแต่เด็ก เพราะขาดความสุข และขาดปัจเจกภาพในตนเอง รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่าในตนเอง จึงต้องหาสิ่งที่มีค่าในสังคมไว้เป็นที่ยึดเกาะ ที่ดูจะเป็นจริงเป็นจังมากที่สุดก็คือ ระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม ศีลธรรม ชาติ ศาสนา กฎระเบียบของสังคม สถาบันการปกครอง ที่คุณจะนิยามให้ตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่สร้างความรู้สึกยิ่งใหญ่ที่ตอบสนองต่อความกระหายของตัวตนเล็กๆของคุณ แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการที่ตัวตนของคุณได้ขยายคุณค่าออกไป ก็คือความเจ็บปวดและโกรธจากการถูกทำลายความสุข ที่รอคอยให้มีใครมาเป็นเหยื่อเพื่อที่มันจะได้ถูกระบายออกมาโดยอาศัยระบบคุณค่าเหล่านั้นเป็นเครื่องมือ

ความทุกข์ดั่งเดิมของคุณมาจากไหน ฟรอยด์ชี้ว่าเริ่มที่พ่อแม่ เรื่องนี้ไม่มีทางเป็นไปอย่างอื่น เพราะอย่างไรเสียพ่อแม่ก็ต้องมีขอบเขตจำกัดในการตอบสนองความต้องการของลูก แต่ถ้าพ่อแม่อ่อนโยนและรักลูกอย่างบริสุทธิ์ คือ เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ และพัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง แล้วพ่อแม่ไม่เข้าไปทำลายปัจเจกภาพของลูก ปัญหาของความขาดความภาคภูมิใจในตนเองก็จะไม่เกิด ปัญหาจริงๆ จึงเกิดขึ้นที่สังคมภายนอก แต่สังคมภายนอกก็มีอิทธิพลเข้าไปถึงในบ้านจนได้เมื่อลูกโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนชั้น เพราะพ่อแม่ก็จะเริ่มกลัวต่อเรื่องหน้าตาของตนเอง การบังคับต่อปัจเจกภาพทั้งหลายของลูกก็จะตามมา กล่าวสั้นๆ สังคมชนชั้นคือสังคมที่ทำลายความสุขที่เกี่ยวข้องกับปัจเจกภาพของมนุษย์มากที่สุด และสังคมชนชั้นก็จะเป็นสังคมอุปถัมภ์นิยมไปพร้อมกัน มีการกระจายอำนาจที่ไม่เท่ากัน อำนาจคือความสามารถที่จะปิดกั้นเสรีภาพของผู้อื่น เสรีภาพคือปัจเจกภาพ ปัจเจกภาพคือความสุขและความภาคภูมิใจในตนเองของบุคคล แต่การสูญเสียปัจเจกภาพให้สังคม ก็จะได้รับการปกป้องอย่างพิเศษจนไม่ต้องพึ่งตนเอง ในที่สุดสังคมแบบนี้ทำให้คนสุขสบายแบบมีนายคอยดูแล แต่กระหายอำนาจ และซ่อนความโกรธของการสูญเสียตนเองอยู่ภายใน ผู้คนจะสามารถแสดงความอ่อนโยนราวกับทาส แต่เบื้องหลังจิตใจคือความกระหายอยากเป็นนาย ฉะนั้นข้อสรุปง่ายๆ ก็คือ ความเจ็บปวดของคนไทยทั้งหลายในปัจจุบัน มาจากวัฒนธรรมชนชั้น ที่ตามมาจากชัยชนะของลัทธิกษัตริย์นิยม และเหตุการณ์ขวาพิฆาตซ้ายที่ธรรมศาสตร์ที่ตามมาด้วยการล้มระบอบประชาธิปไตย และการเมืองที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นสงครามชนชั้นครั้งใหม่ระหว่างสีสองสีในปัจจุบัน (ที่ตลกก็คือเป็นสงครามชนชั้นบนระบบอุปถัมภ์สองระบบ)

ถึงเวลาที่เราจะมาดูความบ้าคลั่งทางศีลธรรมที่ทำให้เราละเมิดตั้งแต่เด็กอนุบาลมาจนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย ผมจะให้ตัวอย่างที่ไร้สติปัญญาอย่างที่สุดของระดับอนุบาลก่อน เป็นเรื่องนิทานสำหรับเด็กเล็กที่ลูกผมนำมาจากโรงเรียน ซึ่งผมจำได้ว่าได้รับการยกย่องว่าเป็นนิทานสอนคุณธรรมยอดเยี่ยม เล่าเรื่องชีวิตของนกกระจาบผัวเมียมีลูกอ่อน ที่ตัวผู้ถูกเด็กใจร้ายยิงตาย และแม่หมาซึ่งเป็นหมาข้างถนนซึ่งก็มีลูกอ่อนเช่นกัน เคยช่วยลูกของแม่นกกระจาบ แต่ตัวเองก็ต้องขโมยอาหารตามตลาดมาให้ลูกกิน ถูกคนทุบตี ลูกจมน้ำตายไปหนึ่งตัว ถูกงูกัดตายไปอีกหนึ่งตัว เป็นเรื่องที่พยายามสอนถึงความรักของพ่อแม่ ความกตัญญูและความรักความเมตตาที่สัตว์มีต่อกัน แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดแน่นอนว่าคือบุญคุณของพ่อแม่ เพื่อจงใจให้เกิดความรู้สึกกตัญญู

ความไร้สติปัญญาอย่างที่สุดในนิทานแบบนี้ อยู่ที่มีหน่วยงานหรือองค์กรในสังคมสนับสนุนการเผยแพร่หนังสือพร้อมกับยกย่องนิทานเช่นนี้ เพราะมันผูกเรื่องให้สอนคุณธรรมได้อย่างดี และมีความเหมาะสมกับเด็กอย่างที่สุดเพราะเป็นเรื่องของสัตว์ ที่เด็กน่าจะชอบ และเด็กก็น่าจะมีความสุขอย่างมาก เพราะมีตัวละครที่เป็นสัตว์ที่น่ารักถูกทุบตีทำร้าย และตายอย่างน่าสมเพชตั้งสามตัว ! แต่ถ้าไม่เรียกว่านี่คือความโง่เขลาเบาปัญญาและความไร้สติอย่างที่สุด จะเรียกว่าอะไร เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว การเอาความเจ็บปวดและความตายมาให้เด็กเล็กๆ รับรู้นั้น ไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกไปจากการรังแกจิตใจอันละเอียดอ่อนของเด็กๆ ขอกล่าวง่ายๆ ว่าเราไม่มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอารมณ์ความคิดและความรู้สึกของเด็กเลย เรามีแต่อุดมการณ์บ้าๆ บอๆ ที่จะสอนความกตัญญู เพื่อรับใช้ระบบอุปถัมภ์นิยมในสังคม ขอยืนยันว่านี่เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เป็นกระแสในสังคม ว่านิทานต้องสอนคุณธรรมที่สังคมต้องการ นี่คือจิตสำนึกที่บิดเบือนของสังคม ผู้คนลืมไปแล้วว่าหน้าที่ของนิทานคือเพื่อทะนุถนอมและส่งเสริมจินตนาการของเด็ก เหมือนที่เขาลืมไปแล้วว่าเราเรียนวรรณคดีเพื่อให้รักความงามในภาษา เด็กถูกครูบังคับให้ท่องกลอนที่แต่งมาอย่างง่ายๆ ที่สอนอุดมการณ์ของสังคม แทนที่ได้จะท่องบทกลอนที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงทางวรรณศิลป์ ความกระหายอำนาจปิดตาและบิดเบือนการรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อผมเป็นเด็ก ผมเรียนเรื่องนกกางเขนซึ่งละเอียดอ่อนละเมียดละไมต่อจิตใจของเด็ก และชวนให้รักนก และไม่ต้องมาทำร้ายต่อจิตใจกันอย่างนี้เลย

ผมขอกล่าวเสียตรงนี้ว่า ที่ใดที่มีการพร่ำสอนเรื่องความกตัญญู ที่นั่นมีความรักที่ไม่บริสุทธิ์ และผมกล้ากล่าวยิ่งกว่านั้นอีกว่า ที่ใดมีการพร่ำสอนคุณธรรมให้เด็ก ที่นั่นมีเจตนาแห่งการกดขี่ เพราะถ้าเราจะทำอะไรให้เด็ก เมื่อทำเสร็จแล้วหรือระหว่างทำ เราก็ไม่ควรอ้างบุญอ้างคุณ เพื่อใช้เป็นโอกาสยกตนขึ้นเหนือแล้วสั่งสอนศีลธรรม แต่เราควรจะร่วมลงไปคลุกคลีเป็นเพื่อนเล่นในสิ่งที่เราทำให้กับเขา เพราะนี่คือสิ่งที่เราทำเพื่อช่วยให้เขามีความสุข พัฒนาความพร้อม อย่างที่ไม่ต้องเติบโตขึ้นมาเป็นทาสทางความคิดของเรา นี่คือหลักการของสิ่งที่เรียกว่า “โรงเรียนพาเล่น” ซึ่งควรจะเป็นหลักของการศึกษาของเด็กเล็กทั้งหลาย ที่ซึ่งผู้ใหญ่ให้ต่อเด็กด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ด้วยความบ้าคลั่งคุณธรรมเราทำร้ายจิตใจของเด็กเล็ก เมื่อเขาโตขึ้นเราก็ทำร้ายตัวตนทั้งหมดที่เป็นปัจเจกภาพของเขา และแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความกระหายและบ้าอำนาจของเรา เด็กผู้ชายต้องตัดผมสั้นเกรียนและจะถูกครูตัดผมให้แหว่งวิ่นเมื่อแตะใบหู เด็กผู้หญิงแม้เมื่อมัดผมไปโรงเรียนอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็ยังถูกสั่งให้ปล่อยออกมาตรวจว่ายาวกว่าที่กำหนดแค่ไหน และครูก็ยิ้มอย่างมีความสุขที่ได้เห็นน้ำตาของเด็กสาวๆ ที่ร้องให้เสียดายผมที่ครูใช้อำนาจตัดทิ้งไป เราพากันอ้างหลักการกว้างๆ ว่าสังคมต้องมีระเบียบจึงจะอยู่ได้ แต่กลับไม่อ้างว่าสังคมต้องมีการเคารพต่อสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคระหว่างกันจึงจะมีสันติภาพที่แท้จริง เราละเมิดสิ่งที่ประกาศไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่า บุคคลมีสิทธิอันสมบูรณ์ในร่างกายของตนเอง เพียงเพราะหน่วยงานของรัฐก็อาจออกกฎหมายลูกที่ขัดกับกฎหมายแม่ได้ และกระทรวงศึกษาฯ คือกระทรวงไดโนเสาร์เต่าล้านปี ที่ไม่เคยพัฒนาตามโลก แต่ตอนนี้เรามีกระทรวงที่สามารถมารถเก่าแก่ได้ยิ่งกว่าคือกระทรวงวัฒนธรรม ที่คอยทะเลาะกับเด็กวัยรุ่นว่าไม่รักชาติ เพราะไปหลงใหลดาราเกาหลี ทั้งที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงก็ยังขับรถเบ็นซ์ และไม่มีใครในกระทรวงฯ ที่นุ่งผ้าม่วง ปะแป้งดินสอพอง สักคนเดียว เพราะทุกคนในกระทรวงก็ล้วนแต่หลงใหลในสินค้าต่างชาติทั้งสิ้น

แล้วพระก็เข้ามาช่วยทรมานเด็กและละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนเช่นกันว่าบุคคลจะต้องไม่เสียสิทธิอันพึ่งมีพึ่งได้ใดๆ ทั้งสิ้นในการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของตน ซึ่งหมายความว่า ความเชื่อทางศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคลอย่างสมบูรณ์ และดังนั้นจะไม่เชื่อเลยก็ได้ และเมื่อไม่เชื่อไม่ยอมปฏิบัติ ก็จะต้องไม่เสียสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น แต่โรงเรียนก็ขู่และออกระเบียบว่าจะไม่ให้จบการศึกษา ถ้าไม่ไปอยู่วัดปฏิบัติธรรม 7 วัน ดูเหมือนทุกคนรวมทั้งพระสงฆ์จะร่วมกันหลอกตนเองว่าเมื่อเด็กกล่าวคำอาราธนาศีลอาราธนาธรรม 3 จบ นั้น เด็กแสดงเจตนาที่มาจากใจจริงแล้วว่าต้องการที่จะมารักษาศีลปฏิบัติธรรม พิธีกรรมที่ทำไปตามธรรมเนียม ได้กลายเป็นความจริงแทนความหมายทางจิตใจที่อยู่เบื้องหลังไปเสียแล้ว พระร่วมมือกับครูข่มขืนจิตใจเด็กก็เพราะความกระหายอำนาจและการเห็นศีลธรรมเป็นเครื่องมือร่วมกันที่จะทำให้คนยอมตนอยู่ใต้อำนาจคนอื่น พระพุทธเจ้าให้คนที่หันเข้าหาพระองค์ยืนยันเจตนาถึง 3 ครั้ง เพื่อให้เขามีเวลาทบทวนตนเอง แต่ตอนนี้มันเป็นพิธีกรรมที่ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง เพราะไม่มีความสนใจต่อจิตใจที่อยู่ข้างในอีกต่อไปแล้ว

คงไม่ต้องพูดว่ามหาวิทยาลัยยังทำตัวเป็นโรงเรียนประถมมัธยมอยู่ในเรื่องอะไรบ้าง แต่ขณะนี้ มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งก็ได้เริ่มออกระเบียบมาบังคับนักศึกษา ในสิ่งที่ตนเองไม่มีภารกิจและสิทธิอันชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นที่จะมาใช้อำนาจเหนือนักศึกษา นั่นก็คือ การกำหนดให้มีคะแนนของกิจกรรมนอกหลักสูตร โดยสิ่งที่ใช้เป็นข้ออ้างก็คือสิ่งที่ตนเองไม่มีภูมิปัญญาใดๆ ทั้งสิ้นมารองรับ นั่นก็คือในเรื่องของคุณธรรมอีกเช่นเคย (ในภาควิชาปรัชญาและศาสนาอาจมีวิชาที่เกี่ยวกับคุณธรรม แต่ก็จะเป็นกิจกรรมในหลักสูตรสอนโดยผู้ที่มีความรู้เฉพาะทาง) ความหมายตรงๆ ก็คือ การบังคับนักศึกษาไปปฏิบัติธรรมแบบโรงเรียนมัธยม บังคับเข้าร่วมกิจกรรมสังคมในระบบโซตัส ซึ่งจะทำให้งานกิจกรรมนักศึกษารูปแบบต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือนักศึกษาอย่างเป็นทางการ สามารถกำหนดการจบการศึกษาหรือไม่จบการศึกษาได้ มีการบันทึกลงทรานสคริป โดยมหาวิทยาลัยอ้างว่า เป็นทักษะทางสังคมและคุณธรรมทางสังคม ที่ผู้จ้างงานพึงต้องการ ซึ่งก็ย่อมแน่นอนว่า ถ้าผู้จ้างงานต้องการผู้คนที่จะจูงไปทางไหนก็ได้ คะแนนกิจกรรมนอกหลักสูตรประเภทนี้ ก็จะเป็นตัวชี้วัดที่ดี ลากไปวัดก็ไป ลากไปแข่งกีฬา เชียร์กีฬาก็ไป ลากไปเฮฮาปาร์ตี้ก็ไป ลากไปร้องเพลงสถาบันก็ไป เพราะเท่าที่เห็นจัดกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็มีอยู่เท่านี้ แต่ทว่า การบังคับให้มีค่าคะแนนในเรื่องเหล่านี้ขัดกับหลักการของการเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตร ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การส่งเสริมปัจเจกภาพของบุคคล ดังนั้น ต้องปล่อยให้เป็นความสนใจส่วนบุคคลของคนแต่ละคนเพียงอย่างเดียว จะต้องไม่มีการบังคับใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนักศึกษาก็สามารถเก็บประวัติผลงานและประสบการณ์ของตนเอง โดยมีอาจารย์รับรองเพื่อไปสมัครงานได้อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่แท้จริงใดๆ ทั้งสิ้นที่มหาวิทยาลัยจะต้องสร้างคะแนนกิจกรรมนอกหลักสูตรมาบังคับนักศึกษา นอกจากซ่อนเจตนาที่จะให้อำนาจแก่ตนเอง หรือองค์กรนักศึกษาที่จะอ้างเอาคุณธรรมทางศาสนา คุณธรรมทางสังคม มากดขี่ข่มเหงนักศึกษา สร้างนักศึกษาให้เป็นผู้ที่จะยอมตามต่ออำนาจภายนอกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่สนใจว่าจะทำลายความสุขในชีวิตและศักยภาพในการเรียนรู้ของนักศึกษาไปมากเท่าไร

แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในการทำลายศักยภาพในการเรียนรู้ของมนุษย์ ก็คือการทำให้ตัวการศึกษาเองกลายเป็นสิ่งจอมปลอม เรากล่าวมาแล้วว่าในสมัยเผด็จการทุนนิยมการศึกษายังไม่ถูกทำร้าย เพราะการต่อสู้ยังไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างจิตสำนึกทางศีลธรรม แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขวาพิฆาตซ้ายขึ้นที่ธรรมศาสตร์ ด้วยข้อกล่าวหาว่านักศึกษาแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สิ่งที่ตามมาในระยะเวลาใกล้เคียง ก็คือ การปฏิรูประบบการสอบทั้งหมดของประเทศให้เปลี่ยนมาเป็นแบบปรนัยแทนอัตนัย ซึ่งมีผลทำให้ความรู้ถูกลดค่าจากความเข้าใจ ลงมาเป็นความจำทันที ความสามารถทางปัญญาแม้เพียงแค่ในระดับของการคิดเชิงวิเคราะห์ ว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล อะไรมาก่อน อะไรมาหลัง ก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหาได้เลยจากผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และความสามารถในการเขียนภาษาไทยของเด็กไทยก็ตกต่ำอย่างไม่มีทางแก้ไขได้ มาจนถึงปัจจุบัน จนแม้เข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็ยังต้องมาเรียนเพื่อเขียนภาษาไทยให้ถูกอีก ซึ่งทำให้เกิดความสูญเปล่าเสียเวลาอย่างไร้สาระ

การสอบแบบปรนัยแม้จะดีตรงที่เปิดทางให้เกิดการสร้างมาตรฐานกลางและระบบการประเมินผลระดับมวลชน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องบังคับจนทำลายการสอบแบบอัตนัยลงไปโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อทำเช่นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือการเปลี่ยนโรงเรียนให้กลายเป็นโรงงาน แน่นอนว่านี่ย่อมเข้ากับความต้องการของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่จะทำลายศักยภาพในการคิดของเด็ก

การประเมินผลแบบปรนัยมาจากทฤษฎีการเรียนรู้ของพวกพฤติกรรมนิยมที่ปฏิเสธกระบวนการคิดในจิตว่าเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์เข้าไม่ถึง พวกนี้เป็นพวกปฏิฐานนิยมแบบสุดโต่งที่พร้อมจะปฏิเสธแม้กระทั่งแรงโน้มถ่วงของโลก ว่าเป็นสิ่งที่เรารู้จักได้แค่ในฐานะของความคิดเชิงทฤษฎีเท่านั้น ไม่เหมือนอะไรที่สัมผัสรู้ได้ตรงๆ เหมือนสิ่งเร้าและการตอบสนอง แต่ทว่าปัจจุบันเราเชื่อแล้วว่าจิตคือสมองและสมองทำงานเสมือนเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ตรงกลางระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง โดยทำการคิดคำนวณและประมวลผลตามกฎเกณฑ์บางประการ ประเด็นก็คือทฤษฎีการเรียนรู้แบบพฤติกรรมนิยมซึ่งไม่สนใจกระบวนการตรงกลางเช่นนี้ ถูกแทนที่ด้วยทฤษฎีพุทธิปัญญานิยมไปเรียบร้อยร้อยแล้ว

แต่ทั้งที่สำนักพฤติกรรมนิยมนั้นตายไปแล้วอย่างสมบูรณ์ ตัวนักการศึกษาที่ผูกพันอยู่กับนักบริหารก็ยังยึดกระบวนทัศน์ที่ตนเคยชินที่ได้มาจากสำนักพฤติกรรมนิยมอย่างไม่ยอมปล่อย เพราะเข้าได้กับการเห็นโรงเรียนเป็นโรงงาน ได้แก่ การมีจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมของแต่ละบทเรียน และการมีแผนการสอนที่ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนเป็นรายชั่วโมงหรือรายสัปดาห์ ด้วยเหตุเพราะไม่ยอมเชื่อถือในตัวผู้สอนว่าการมีคำบรรยายรายวิชาและเค้าโครงรายวิชาเป็นเครื่องหมายแสดงที่เพียงพอแล้วว่าอาจารย์ผู้สอนมองเห็นทิศทางของเนื้อหาที่ตนจะดำเนินการสอน ทั้งๆ ที่นี่กลับเป็นเกณฑ์ที่เพียงพอแล้วในทัศนะของทฤษฎีการเรียนการสอนแนวพุทธิปัญญานิยม ซึ่งยืนยันว่า การเรียนการสอนต้องมีแผนการสอนที่หลวมๆ เท่านั้น เพื่อให้สามารถปรับให้เข้ากับการสถานการณ์ในชีวิตจริงและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเป็นรายบุคคลของผู้เรียนได้ ซึ่งขอให้ลองคิดในเชิงอุปมาอุปมัยดูเช่นนี้ว่า อาณาเขตของความรู้ในวิชาหนึ่งนั้นย่อมกว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่าที่ผู้เรียนจะรู้ได้หมดในเวลาที่เขาอยู่กับเรา เราควรเป็นเสมือนแค่ผู้นำเที่ยว ที่บางส่วนเราอาจชวนเขาไป เพราะเราเองสนใจ และบางส่วนเขาอาจขอให้เราพาไปเพราะเขาสนใจ แต่เราคือผู้ที่ต้องรู้โครงสร้างหลักๆ ของอาณาเขตนั้นๆ พอที่จะไม่พาตัวเองและพวกเขาไปหลงทางจนไปไหนไม่ถูกก็พอแล้ว คำบรรยายรายวิชาและเค้าโครงรายวิชาคือแผนที่และโครงสร้างกว้างๆ ของอาณาเขตความรู้ดังกล่าว ตามคำอธิบายเช่นนี้

การมีจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมของแต่ละบทเรียน และการมีแผนการสอนที่ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนเป็นทั้งการเห็นผู้เรียนเป็นวัตถุที่ต้องถูกปรับแต่ง แก้ไข ให้ออกมาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพตามต้องการ พร้อมกับการเห็นอาจารย์เป็นเครื่องจักรในระบบการผลิต ที่ต้องควบคุมให้ทำงานอย่างอยู่ในกระบวนการที่แน่นอนตายตัว ฉะนั้นแม้แต่เมื่อเรารู้แล้วว่า สำนักพฤติกรรมนิยมตายไปแล้ว และเราก็เริ่มที่จะอยากเป็นมนุษย์เหมือนชาติอื่นๆ แทนการเป็นไดโนเสาร์บ้างแล้ว แต่ด้วยการที่เรายังมีนักบริหารการศึกษาที่บริหารโรงเรียนแบบโรงงาน เราก็สร้างตัวชี้วัดของประสิทธิภาพทางการศึกษาที่ขัดแย้งในตนเอง เช่น บังคับให้มีการสร้างแผนการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คือ อยากได้แผนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางประเภทที่บอกว่าชั่วโมงที่เท่าไรจะทำอะไร ใช้สื่ออะไรบ้าง ซึ่งเป็นการเอากระบวนทัศน์แบบที่ใช้เนื้อหาเป็นฐาน ( Content-Based ) มาเป็นกรอบมองการสอนแบบที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน ( Problem-Based ) หรือใช้กรอบแบบครูเป็นศูนย์กลางมามองการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นคนละกระบวนทัศน์โดนสิ้นเชิง

พวกไดโนเสาร์ที่เพิ่งจะกลายเป็นมนุษย์พวกนี้ช่างไม่รู้เลยว่า ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางก็คือวิชาการค้นคว้าอิสระ หรือการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งมีอาจารย์คอยเป็นที่ปรึกษา ของแบบนี้ไม่มีแผนให้อาจารย์คอยเดินตาม และมีขั้นตอนแค่สองสามขั้นตอนไว้ให้อาจารย์คอยคุมนักศึกษาเท่านั้น คือ ให้หาหัวข้อและหลักการในการทำงาน ลงมือทำงาน รายงานความก้าวหน้า สอบตัวผลงาน สิ่งที่ต่างออกไปในการเรียนเป็นรายวิชาในระดับปริญญาตรีซึ่งมีนักศึกษาจำนวนมากก็คือ จำเป็นต้องมีการบรรยายความคิดหลักของวิชาพอให้ใช้เป็นจุดเริ่มต้นการออกเดินทาง อาจต้องยอมให้ทำงานเป็นกลุ่ม และกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมาต้องดำเนินไปในชั่วโมงเรียนที่ระบุไว้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นใดๆ ทั้งสิ้นที่จะต้องมีการสร้างแผนการเรียนการสอน สิ่งเดียวที่อาจต้องมีคือการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่นักศึกษาไม่ยอมรับผิดชอบทำงาน โดยอาจต้องเตรียมทางออกไว้ให้กับนักศึกษาที่สอบโครงงานตก หรือไม่ยอมสอบโครงงาน ว่าให้พวกเขาสอบรวบยอดในเนื้อหาที่เตรียมไว้ให้แทน ซึ่งก็ยังอาจเปิดโอกาสให้เขาเลือกได้อย่างอิสระและเป็นตัวของเขาเองอีกเช่นกัน นี่คือการที่เราพยายามจะปฏิบัติต่อเขาอย่างเป็นมนุษย์และเป็นปัจเจกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และก็ไม่ใช่การปล่อยเขาตามอำเภอใจจนไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ที่แน่ๆ เขาไม่ใช่สินค้าที่มีคุณภาพเดียวกัน แม้จะเรียนในวิชาเดียวกัน กับอาจารย์ผู้สอนคนเดียวกัน ในภาคการศึกษาเดียวกัน และไม่ใช่เพราะเขามีศักยภาพทางสมองที่แตกต่างกันออกไป แต่เพราะเขามีความสนใจตามปัจเจกภาพที่แตกต่างกันออกไป

มนุษย์คือผู้ที่มีปัจเจกภาพที่จะต้องได้รับการเคารพ แต่พวกอนุรักษ์นิยมจะพยายามทำลายสิ่งนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และตอนนี้ขอให้เราเข้ามาดูความพยายามระดับนโยบายที่ได้รับการการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมด้วยจำนวนเงินมหาศาลของประเทศในระดับอุดมศึกษา เราฆ่าร่างกายของนักเรียนนักศึกษาไปจำนวนหนึ่งเมื่อ 6 ตุลา 19 หลังจากนั้นเราก็ฆ่าจิตวิญญาณของพวกเขาด้วยการทรมานเขาด้วยวิธีการต่างๆ นาๆ ท้ายที่สุดเราก็ค้นพบวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะสร้างความเป็นทาสทางจิตวิญญาณที่เราต้องการอันได้แก่ การสร้างความเป็นทาสทางศีลธรรม ซึ่งก็คือการทำลายปัจเจกภาพในระบบคิดเชิงคุณค่าในเด็กนักเรียนนักศึกษาของเรา

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาตั้งแต่มหาวิทยาลัยยังอยู่ภายใต้การกำกับของทบวงฯ เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลของชาติได้ถูกละลายลงไปกับโครงการ “บัณฑิตอุดมคติ” ซึ่งพยายามสร้างอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นโซฟิสต์โดยการนำของโซฟิสต์ที่เป็นศาสตราจารย์ทางวิทยาศาสตร์บางคน ตามคำพูดแล้วโซฟิสต์ ( Sophist ) ตรงกันข้ามกับฟิโลโซฟิสต์ ( Philosophist ) คำแรกแปลว่าผู้รู้ คำหลังแปลว่าผู้รักที่จะรู้ คำแรกเป็นชื่อที่คนกลุ่มหนึ่งใช้เรียกตนเอง แล้วก็รับจ้างสอนวิชาต่างๆ รวมทั้งคุณธรรม คำที่สองเป็นคำที่โสเครตีสใช้เรียกตัวเอง แล้วก็ออกไปเถียงกับคนพวกแรกเพราะไม่เชื่อว่าพวกเขามีความรู้เรื่องคุณธรรมจริง คือโสเครตีสเชื่อว่าพวกเขามีแค่ความคิดเห็นที่พอมีเหตุผลบ้างนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น แต่อาจมีวาทศิลป์และความสามารถทางตรรกะที่ดีหน่อย พอที่จะหลอกล่อผู้คนให้หลงเชื่อได้

ทบวงฯ เสียเงินของชาติไปอย่างมากมายกับโครงการสอนศีลธรรมให้นักศึกษาปริญญาตรี ที่มองหาองค์ความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์มารองรับแนวทางปฏิบัติไม่ได้เลย เพราะไม่อ้างอิงความรู้ทางจิตวิทยาไม่ว่าจะสาขาจิตวิเคราะห์ จิตวิทยามนุษย์นิยม จิตวิทยาพุทธิปัญญานิยม รวมทั้งไม่ยอมรับ เหตุผลตามหลักทฤษฎีจริยศาสตร์ของตะวันตกที่สะสมมาอย่างเป็นระบบกว่าสองพันปี ยอมรับก็แต่คำสอนตามหลักของพุทธศาสนาและปรัชญาตะวันออก ซึ่งก็เป็นไปตามลัทธิวัฒนธรรมนิยม ชาตินิยม อย่างตาบอดหูหนวก แต่แล้วก็ไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่แตกฉานอย่างท่องแท้ มีเปรียญ ๙ มาเป็นกำลัง เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งอย่างถึงที่สุดให้สมกับการเป็นวิชาการระดับอุดมศึกษาเลย เพราะผู้นำกระแสก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ก็ไม่ได้มีจิตสำนึกแบบเหตุผลนิยมธรรมชาตินิยมอยู่ในตนเองแต่ประการใด เรียนวิทยาศาสตร์มาก็แต่ในฐานะสิ่งที่เชื่อมอยู่กับเทคโนโลยีที่จะเอามาใช้ประโยชน์ทางวัตถุเท่านั้น เรื่องชีวิตและจิตใจก็ยังพัวพันอยู่ในปมอำนาจที่ตนเองก็รู้ไม่เท่าทันตนเองอยู่นั่นเอง ไม่เช่นนั้นก็รู้เฉพาะตามแบบศาสนาประเภทที่ตัดไม่ขาดจากไสยศาสตร์ เพราะการที่ฝังแน่นอยู่ในปมอำนาจนั่นแหละ

คนแบบนี้สอนศีลธรรมด้วยวาทศิลป์ปนแรงบันดาลใจ มีคำพูดที่ฟังดูดีแต่ถูกตั้งคำถามเมื่อใดก็จะอับจน เพราะฉะนั้น นโยบายบัณฑิตอุดมคติของทบวงฯ จึงพาไปสู่การทางเลือกในการปฏิบัติอย่างง่ายๆ สองแบบ ที่ทำลายคุณภาพของอุดมศึกษาทั้งคู่ หนึ่ง ใช้ระบบอำนาจนิยมแบบครูใหญ่ที่ยืนเทศนาสอนหน้าเสาธง เด็กฟังอย่างเดียว แล้วค่อยเข้าห้องเรียนเนื้อหาวิชา แต่ตัวอาจารย์ประจำวิชาในมหาวิทยาลัยนั่นเองที่จะเล่นบทบาทของครูใหญ่นี้ สอง ให้อาจารย์ประจำวิชาทำตัวเป็นผู้รู้ทุกเรื่อง พูดเนื้อหาวิชาเฉพาะที่ตนรู้จริง แล้วก็คอยแทรกศีลธรรมของสังคมที่ตนไม่ได้รู้จริง แต่นี่ก็จะเหมาะกับการเรียนการสอนแบบยึดเนื้อหาเป็นหลัก และมีครูเป็นศูนย์กลาง และสร้างการเรียนรู้ทางศีลธรรมแบบฉาบฉวยเท่านั้น และอาจารย์จะเอาตัวไม่รอดทันที ที่การเรียนการสอนเริ่มมีทิศทางไปสู่การคิดวิเคราะห์วิจารณ์และมีการตั้งคำถามเจาะลึกในทุกๆ ประเด็นซึ่งอาจารย์ยกขึ้นมาพูด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเนื้อหาทางวิชาเฉพาะ หรือประเด็นทางศีลธรรมที่อาจารย์พยายามจะลากจูงไปหา ต่อให้อาจารย์มีวาทศิลป์แค่ไหนก็จะไปไม่รอดในที่สุด ถ้าเจอนักศึกษาที่มีนิสัยแบบโสเครตีสเพียงแค่คนเดียว

หรือเราจะบอกนักศึกษาว่าให้ตั้งคำถามได้ในทุกๆ เรื่อง ยกเว้นก็แต่ในเรื่องของกรอบทางศีลธรรม ซึ่งก็จะแสดงความไม่มีจิตวิญญาณแบบวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงออกมาทันที ทำไมจึงตั้งคำถามไม่ได้ เพราะศีลธรรมเป็นเรื่องของการได้รับแรงดลใจมาจากสิ่งศักดิ์สิทธ์บางประการใช่หรือไม่ หรือเพราะเรากระหายอำนาจแบบอนีตัส จึงไม่อยากให้ใครมีปัญญาจริง นี่ทำให้นึกถึงท่านพุทธทาสฯ ท่านเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณแบบวิทยาศาสตร์มากที่สุดในสังคมไทยทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพราะท่านยอมรับแต่สิ่งที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลและอยู่ในระบบของธรรมชาติเท่านั้น ท่านยืนยันว่าสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งมวลเป็นเรื่องเกินจำเป็นในการอธิบายพุทธศาสนา ท่านกล้าพูดแม้กระทั้งว่า ความทุกข์ยากในสังคมเกิดจากการที่เรากระทำต่อกัน เหมือนอย่างที่วิชารัฐศาสตร์สังคมศาสตร์จะพูด ไม่ใช่เรื่องของกรรมเก่าแต่ชาติบางก่อนอย่างใดทั้งสิ้น ดังนั้นท่านเสนอว่าเราจะต้องหาทางเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ด้วยแนวคิดที่ท่านเรียกว่า “ธรรมิกสังคมนิยม”

ผมสงสัยว่า การที่เราประกาศคำว่า “เรารักในหลวง” เพื่อแสดงความรักต่อตัวบุคคล ผู้ซึ่งเป็นเสมือนเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรานั้น เราได้พาตัวเองย้อนถอยหลัง กลับไปอยู่ใน “ยุคก่อนหน้าท่านพุทธทาสฯ” เรียบร้อยแล้ว อย่างน้อยที่สุดเราก็ไม่มีความคิดใดๆ ทั้งสิ้นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะเราเป็นนักอนุรักษ์ตามแบบของผู้ที่เรารัก ผู้ที่สอนคุณธรรมให้เรา แต่ก็อยู่สูงเหนือกว่าที่เราจะถามอะไรได้ หรือบางที ที่เราบอกเด็กว่าอย่าถามในเรื่องศีลธรรม ก็เป็นเพราะเรากำลังคิดว่า เมื่อใดก็ตามที่เราสอนศีลธรรมเราคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับในหลวงและพระสงฆ์ พ่อแม่ แต่อะไรที่ทำให้เราไม่รู้ตัวว่า ที่จริงเราเป็นแค่ครูที่ต้องการให้ศิษย์เป็นทาสทางความคิด และนี่คือข้อสรุปของความชั่วร้ายของโครงการบัณฑิตในอุดมคติของทบวงฯ ถ้าเราไม่เป็นเผด็จการทางความคิดเราก็เป็นแค่โซฟิสต์ที่หลอกลวงผู้อื่นว่ารู้ในสิ่งที่ไม่รู้จริง คำว่าบัณฑิตอุดมคติในระบบคิดแบบอนุรักษ์นิยมนั้นไม่มีทางที่จะมีความหมายว่าต้องการให้บัณฑิตเป็นผู้ที่มีอุดมคติในชีวิตไปได้เลย มันหมายความเพียงแค่ให้บัณฑิตเป็นไปตามที่สังคมของนักอนุรักษ์นิยมวาดฝัน คือเรียนให้เก่ง แล้วก็เชื่อฟังคนรุ่นก่อนหน้า ยอมรับมาตรฐานและเข้าร่วมปกป้องระบบคุณค่าทางศีลธรรมของพ่อแม่และครูบาอาจารย์ของตนเองเท่านั้น

ระบบอนุรักษ์นิยมดึงเรากลับไปสู่ยุคมืด ทำลายความสุขในชีวิตของผู้เยาว์ ฆ่าจิตวิญญาณของพวกเขา ทำลายคุณภาพของการศึกษาทุกระดับ ในระดับอุดมศึกษา มันทำลายการที่คนจะมีความสามารถสูงสุดทางวิชาชีพ และความเป็นบัณฑิตของสังคมไปพร้อมๆ กัน จนบัดนี้มหาวิทยาลัยไทยก็ยังก็ไม่รู้วิธีที่จะสร้างความสามารถในการคิดวิพากษ์วิจารณ์ในวิชาชีพ แต่ปัญหาอยู่ในสิ่งที่ผมกล่าวไปแล้ว การที่จะให้คนตั้งคำถามกับทุกกรอบความคิดยกเว้นกรอบทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตนเอง ดังนั้น มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้าจึงตั้งปณิธานไว้แค่ ให้นักศึกษามีแค่ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในสาขาวิชาวิชาชีพของตนก็พอแล้ว นี่คือโทษของการเอาพวกอนุรักษ์นิยมมาเป็นกรรมการสภาฯ และเราควรอายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ที่แม้เขาจะมีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่อ่อนแอพอๆ กับเรา แต่เขาก็ยังกล้าตั้งปณิธานที่สูงกว่าเรามาก

นักอนุรักษ์นิยมทำลายอุดมศึกษาลึกลงไปถึงสิ่งที่เรียกกันอย่างผิดๆ ว่า “การศึกษาทั่วไป” หรือ General Education ซึ่งคำเรียกที่ถูกต้องคือ “การศึกษาเพื่อการเติบโตและเสรีภาพทางความคิด” หรือ Liberal Education ซึ่งก็คือกลุ่มของการเรียนรู้ที่ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นมากกว่าแค่โรงเรียนวิชาชีพ วิชาเหล่านี้ควรถูกสอนด้วยผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ที่จะนำความคิดที่ก้าวหน้าที่สุดที่นักศึกษาจะสามารถสู้ไหวมาให้นักศึกษาถกเถียง แต่ด้วยความคิดแบบอนุรักษ์นิยม มหาวิทยาลัยดึงวิชาเหล่านี้ไปจากคณะและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ไปดูแลเองสร้างเป็นหลักสูตรกลาง เอาผู้ที่ไม่มีวุฒิมาดูแล มีเนื้อหาที่อ่อนแอ และมีลักษณะที่คับแคบไปด้วยลัทธิวัฒนธรรมนิยมชาตินิยม แทนที่จะก้าวหน้าไปสู่ลักษณะสากลนิยม แสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะรับหน้าที่ล้างสมองนักเรียนต่อจากโรงเรียนมัธยม ฉะนั้น จึงเป็นเป็นการปฏิเสธตรงๆ ต่อหน้าที่ของอุดมศึกษาที่จะสร้าง “บัณฑิต” ให้แก่สังคม เพราะ “บัณฑิต” ไม่อาจเป็นคนแบบไหนไปได้ นอกจากเป็นปลาที่รู้ตัวว่าตนเองกำลังว่ายอยู่ในน้ำที่สกปรกแค่ไหน และบอกกับปลาตัวอื่นๆ ว่าเราควรจะทำความสะอาดน้ำที่ตนว่ายอยู่อย่างไร เราจะสร้างบัณฑิตแบบนี้ได้ก็ต่อเมื่อเรามี “การศึกษาเพื่อการเติบโตและเสรีภาพทางความคิด” ที่เข้มแข็งมากๆ ซึ่งไม่มีทางได้มาด้วยการที่หน่วยกลางของมหาวิทยาลัยรวบไปทำเอง ซึ่งต้องอาศัยมืออาสาสมัครที่ไม่มีความชำนาญเฉพาะทาง

แต่เราก็มีผู้มีความชำนาญเฉพาะทาง ผู้ที่อาจไต่ขึ้นถึงระดับ “ราชบัณฑิต” ซึ่งอาจชวนเราเล่นเกมวัฒนธรรมนิยม แยกโลกตะวันตกและโลกตะวันออกออกจากกัน พยายามประกาศเอกราชทางวิชาการให้กับคนไทย บอกว่า “คนไทย” เรียนรู้เฉพาะของของ “คนไทย” ก็พอแล้ว ผมไม่รู้จริงๆ ว่าคนจะเอาเหตุผลที่ไหนมาสนับสนุนความคิดว่า ความคิด ความเชื่อ ความรู้ เป็นสิ่งที่มีเชื้อชาติ ของแบบนี้มีแต่ผู้ที่ คิด ไม่คิด รู้ ไม่รู้ เชื่อ ไม่เชื่อ เข้าใจ หรือไม่เข้าใจ เท่านั้น มันไม่ใช่วัตถุสิ่งของ มันไม่กินที่ในเวลาและอวกาศ ดังนั้น จะมีเจ้าของได้อย่างไร ฉะนั้นต้องมีความสับสนหลงผิดอะไรบางอย่างในเรื่องนี้แน่ๆ

ราชบัณฑิตอาจบอกเราว่า เราอาศัยอยู่ในโลกตะวันออกดังนั้น เราควรฟังแต่พระพุทธเจ้าคนเดียวก็พอแล้ว และเราก็ภาคภูมิใจว่าคนตะวันตกกำลังหันมานับถือพุทธศาสนา เคยมีการโต้เถียงกันระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออกว่า ทำไมคนเอเชียถึงคิดไม่เก่ง คำตอบที่คนเอเชียให้ก็คือเพราะเรามีตัวตนที่เป็นแบบหมู่คณะ ไม่ใช่แบบปัจเจก แต่รับรองว่าคนตะวันตกไม่มีวันเห็นดีเห็นงามกับตัวตนแบบหมู่คณะแน่ เพราะด้วยตัวตนที่ได้รับการทะนุถนอมในภาวะแห่งปัจเจกนี้เท่านั้น ที่ตะวันตกเป็นผู้นำโลกในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเศรษฐกิจการเมือง ตัวตนร่วมหรือตัวตนแบบหมู่คณะของเอเชียไม่ใช่อะไรนอกจากความรักแบบชนชั้นที่ไม่เคยบริสุทธิ์หรือความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์นิยม ที่ไม่มีอะไรให้ต้องพูดอีกแล้ว แต่อย่าลืมว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา และคำสอนที่สำคัญที่สุดคำสอนหนึ่งก็คือ ตนเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งของตน ดังนั้นพุทธศาสนาไม่สนับสนุนตัวตนร่วมแน่นอน

ถูกต้องว่าคนตะวันตกกำลังหันมาหาพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีความเป็นเหตุผลนิยมสูงสุด แต่ผมก็สงสัยว่า แม้แต่ในหมู่คนไทยที่มีการศึกษา เราก็นับถือศาสนาพุทธแบบอำนาจนิยมศักดิ์สิทธ์นิยม ที่ผูกพันอยู่กับอำนาจเหนือธรรมชาติ เราไม่รู้เลยว่า กรรมเก่า ชาติภพ นั้นมีบทบาททางอภิปรัชญาที่ไม่ได้ต่างไปเลยจากพระเจ้า เราคิดว่าสมาธิจะพาเราไปสู่การเห็นชาติเห็นภพก่อนๆ เราไม่เคยฉุกคิดเลยว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น เพราะสืบทอดมาจากฮินดู เหมือนที่คำสอนเรื่องพระเจ้ามีอยู่ก่อนพระเยซู เพราะเป็นของศาสนายูดาย ที่จริงแล้ว สมาธิให้สิ่งที่วิเศษแท้จริงเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ ทำให้มีสติที่จะเฝ้าตามดูเหตุการณ์ต่างๆในจิตตามธรรมชาติที่แท้จริงของมัน ว่าเกิดขึ้น คงอยู่ แล้วก็ดับไป หาตัวตนที่แท้จริงไม่มี เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นคำสอนเดียวเท่านั้นที่เป็นของพระพุทธเจ้าแท้ๆ

พระเยซูและพระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ในยุคแห่งไสยศาสตร์ แต่เวลาก็ได้ผ่านมาสองพันห้าร้อยปีแล้ว ถ้าตอนนี้เรายังยึดในตัวอักษรของพระไตรปิฎก โดยไม่ดูว่าอันไหนคือสิ่งที่มาจากสิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้าพระพุทธเจ้า อันไหนคือเนื้อแท้ของคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็คงต้องดูเจตนาของตัวเราเองแล้วว่าเรากำลังเอาคำสอนนั้นไปใช้ทำอะไร โลกตะวันตกมีบทเรียนที่มีราคาแพงมากในเรื่องนี้ คำสอนเรื่องความรักของพระเยซูโยงอยู่กับสิ่งเหนือธรรมชาติคือพระเจ้าซึ่งเป็นผู้สร้าง ดังนั้นคริสต์จักรจึงตัดสินว่าอะไรที่กล่าวขัดกับตำนานเรื่องการสร้างโลกย่อมผิด และพระบาทหลวงก็ฆ่าคนไปเสียมากมายมหาศาล แต่พระเยซูยอมถูกตรึงกางเขนเพื่อยืนยันการสร้างโลกของพระเจ้าหรือเพื่อสอนเรื่องความรักและการให้อภัยกันแน่ คนตะวันตกคงไม่ต้องการปฏิเสธความรักและการให้อภัย แต่ก็ต้องการปฏิเสธสิ่งเหนือธรรมชาติตามอภิปรัชญาแบบของศาสนายูดายไปเสียอย่างเด็ดขาด ไม่ให้เหลือสิ่งศักดิ์สิทธ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ผู้รู้ของเราเองก็กำลังชวนเราเล่นเกมแบ่งโลกแบ่งตัวตน เพื่อให้เราเลิกเรียนรู้ความคิดที่มาจากผู้ตะวันตก โดยอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องมือ ทั้งๆที่เราก็ไม่รู้ตัวเลยว่าคนตะวันตกจะสามารถเข้าถึงพุทธศาสนาที่แท้จริงได้ดีกว่าเราอีก เพราะเขามีความเป็นเหตุผลนิยมธรรมชาตินิยมสูงกว่าเรามากนัก เราคิดว่าพุทธศาสนาไม่งมงายเพราะไม่มีพระเจ้า แต่เราก็ไม่เคยคิดว่าพุทธศาสนาก็เชื่อมต่ออยู่กับอภิปรัชญาของฮินดูเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็นระบบที่สลับซับซ้อนกว่าอภิปรัชญาเรื่องพระเจ้าของศาสนายูดายอีกหลายเท่าตัว

ดังนั้น อย่าหลงตนเองคิดว่าเรามีของที่ดีวิเศษกว่าเขา และคิดว่าคนตะวันตกจะหันมาหาพุทธศาสนาแบบที่คนไทยนับถือ เขานับถือพุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยมธรรมชาตินิยมของท่านพุทธทาสเท่านั้น และขอให้ทำนายไว้ได้เลยว่า ทันทีที่คนตะวันตกเรียนรู้ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นภาษาที่สองได้เหมือนเรา พุทธศาสนาแนวเหตุผลนิยมธรรมชาตินิยมก็จะไปงอกงามอยู่ในตะวันตก ทิ้งให้เราอยู่กับพุทธแบบไสยศาสตร์และอภิปรัชญาตามแบบที่เชื่อมอยู่กับรากเหง้าของฮินดูไปตามความพอใจ และขอให้กรุณาเข้าใจผมด้วยว่าผมไม่ได้กล่าวหาศาสนายูดายและฮินดูว่าเป็นศาสนาที่ไม่ดี แต่ผมยืนยันว่าศาสนาที่ดีคือศาสนาที่สามารถเปลี่ยนให้เป็นเหตุผลนิยมธรรมชาตินิยมได้ เพราะเมื่อนั้นเท่านั้นที่เราจะได้ศีลธรรมที่อ่อนโยนด้วยความเป็นมนุษยนิยมเสรีนิยม และจิตใจของมนุษย์ก็จะไม่ถูกบิดเบือนไปด้วยความกระหายอำนาจทางทางการเมือง และหยิบเอาอาวุธทุกชนิด ความรักแบบลุ่มหลง ศรัทธาทางศาสนา มาใช้ประหารกายและจิตวิญญาณ และปัญญาของกันและกัน.

Modifié le: Tuesday 24 July 2012, 20:36