สำหรับเราคนหนุ่มสาว เมื่อได้ยินคำว่าการรู้จักตนเอง เราอาจคิดง่ายๆ ว่า คือการรู้จักว่าตนเองชอบอะไร รู้จักว่าตนเองคิดอะไร เชื่ออะไร ต้องการอะไร รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และทำไปเพื่ออะไร เช่น รู้ตัวว่าตัวเองเป็นนักศึกษา กำลังมาเรียนหนังสือเพื่อเอาความรู้และใบปริญญาไปประกอบอาชีพ แต่ถ้าถูกถามว่า “ แล้วสิ่งที่คุณชอบมีค่าอย่างไร ?” คุณอาจตอบว่า “ ไม่รู้ ” “ รู้แต่ว่าตัวเองชอบ ” ถ้าอย่างนั้นการรู้จักตนเองของคุณก็เป็นเพียงแค่ความรู้สึกอย่างง่าย ๆ เท่านั้น ผู้เขียนยอมรับว่าความรู้สึกจากใจจริงเป็นสิ่งที่ต้องทะนุถนอม และไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ ความรู้สึกจากใจจริงของใครได้ แต่เราจะไม่คิดอีกสักหน่อยหรือว่าสิ่งที่เราชอบนั้นมีค่าอย่างไร เมื่อเราชอบอะไร เราน่าจะรู้ด้วยว่าสิ่งที่เราชอบนั้นมีคุณค่าอย่างไร เพราะด้วยการชอบหรือ “รัก” ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างจริงใจเท่านั้น ที่สักวันหนึ่งเราจะรู้เรากำลังดำเนินชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมด้วยความหมาย และพร้อมที่จะกล่าวว่า “ชีวิตคือการสร้างสรรค์ ” และเราจะกล่าวเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าสิ่งที่เราชอบหรือรักนั้นมีค่าและเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์อย่างไร

มนุษย์ถามตนเองอยู่เสมอว่าอะไรคือความหมายของชีวิต และคำตอบที่ดีที่สุดที่เคยให้กันมาก็คือคำตอบว่า “ชีวิตคือการสร้างสรรค์” ความรักเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์อย่างไร และความรักที่ว่านี่ก็คงไม่ใช่ความรักระหว่างคนที่เป็นเรื่องทางเพศ หรือระหว่างบุคคลใดก็ตาม ความรักระหว่างบุคคลสร้างได้อย่างมากก็คือความสุขที่มอบให้กัน และจะเป็นความทุกข์ถ้าเป็นความรักที่ผิดๆ แต่คำว่าการสร้างสรรค์คงกว้างกว่านั้นมาก และคงต้องหมายถึงความรักในของอย่างอื่น คุณมีความรักอะไรที่จะกลายเป็นการสร้างสรรค์ได้บ้างหรือไม่ และถ้าคุณรักมันสิ่งนั้นก็ต้องมีค่าในสายตาของคุณไม่ใช่หรือ ความหมายที่แท้จริงของคำว่าชีวิตคือการสร้างสรรค์ก็คือ เราต้องอุทิศชีวิตของเราให้กับอะไรสักอย่างที่เรารัก นั่นก็คือ อะไรสักอย่างที่เราเห็นว่ามีค่าและมีความหมายอย่างแท้จริงต่อชีวิตของเราและชีวิตของคนอื่น

เมื่อคุณเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นวันแรก คุณคงพบเห็นป้ายแสดงความยินดีมากมาย มีป้ายหนึ่งที่ติด อยู่หน้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อต้นปีการศึกษา พ . ศ . 2547 ป้ายแสดงความยินดีนี้น่าสนใจมากเพราะบอกถึงความจริงในชีวิตของคนหนุ่มสาวในสังคมไทยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี “ติด ถาปัด ครับ ชอบ แม่ให้เรียน” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชีวิตของคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยดูเหมือนจะเป็นชีวิตที่ไร้อิสรภาพ ถูกขีดทางให้เดิน จะเลือกทางเดินชีวิตที่ตนเองชอบได้ก็ต่อเมื่อพ่อแม่ อนุญาต ดูเหมือนว่าหลายคนที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยก็เพียงเพราะมันเป็นขั้นตอนหนึ่งของชีวิตที่ตัวเองเลือกไม่ได้ ดังนั้น คุณจึงกำลังดำเนินชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเองน้อยมาก เวลาที่คุณรู้สึกเป็นตัวของตัวเองจริง ๆ ก็คือเวลาหลังเลิกเรียนที่คุณจะพักผ่อน เที่ยว เล่น ถ้าเป็นเช่นนี้จริงๆ ก็น่าคิดว่าจะมีนักศึกษาสักกี่คนที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยด้วยจิตวิญญาณของความอยากรู้อยากเห็น อยากจะเป็นในสิ่งที่ตนเองรักด้วยใจจริง และรู้สึกว่าเวลาที่เขากำลังเรียนนั้น เขากำลังทำสิ่งที่เป็นตัวของตัวเอง คนที่โชคดีแบบนี้คงจะมีอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่มากนัก ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าเราจึงมีนักศึกษาจำนวนมากที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยด้วยความรู้สึกไร้ความสุข และแปลกแยกต่อตนเอง

เราจะอธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้อย่างไรดี ? นักศึกษาจำนวนมากไม่ยอมเข้าเรียนหลายๆ วิชา ถ้าไม่ถูกบังคับ และเมื่อถูกถามหาเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ยอมเข้าเรียน เขาก็อธิบายไม่ได้ ตอบได้แค่ว่าเขาทำตัวไปตามความรู้สึกเท่านั้นเอง แต่ถ้าให้เวลากับตัวเองที่จะนั่งคิดถึงความรู้สึกของตัวเองบ้าง เขาคงเข้าใจตัวเองมากกว่านั้น ที่แน่ๆ ก็คือ ระบบการศึกษาที่เขาผ่านมาทำลายความสุขของเขา ด้วยการบังคับให้เขาท่องจำข้อมูลความรู้ให้ได้เยอะๆ เพื่อสอบแข่งขัน มันทำให้เขาเหนื่อยและเกลียดการเรียน แต่ก็จำเป็นต้องทำเพราะพ่อแม่และสังคมรอบข้างบังคับ ที่จริงเขาน่าจะได้พักให้หายเหนื่อยจากการเรียนระดับมัธยม รอให้รู้แน่ว่าชอบอะไร ใช้เวลาให้พอ เตรียมตัวให้พร้อม สอบให้ได้ในสิ่งตนรักจริงๆ อาจใช้เวลาสักสองสามปี แต่ทุกคนกลับบอกว่าให้รีบเรียนต่อ หาวิชาชีพที่จะทำเงินได้ดีที่สุด เรียนจบให้เร็วที่สุดเพื่อออกมาทำงานหาเงิน เพราะเป้าหมายของการศึกษาก็คือเงิน เงินคือเป้าหมายของชีวิต ความรู้ความสามารถเป็นแค่เครื่องมือไว้หาเงิน ความรู้ความสามารถไม่ได้มีค่าอะไรในตัวเอง ความชอบความรักของเขาไม่สำคัญถ้ามันหาเงินได้น้อย ดังนั้นจึงไม่แปลกว่า ทำไมเขาจึงรู้สึกแปลกแยกในตนเอง และไม่มีความสุขในการเรียน และนั่นก็เป็นเพราะ เขากำลังป่วยเป็นโรคของสังคมทุนนิยม คำนิยามของสังคมทุนนิยมก็คือสังคมที่อนุญาตให้คนครอบครองและใช้ประโยชน์แสวงหาผลกำไรจาก “ ทุน ” อย่างอิสระ ความรู้เป็นทุนที่พิเศษเพราะมันติดตัวไปจนตาย สังคมส่วนใหญ่ในโลกรวมทั้งสังคมของเราเป็นสังคมทุนนิยม ในสังคมแบบนี้เงินคือพระเจ้า และคนส่วนน้อยที่โชคดีเท่านั้นที่จะรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง คนส่วนใหญ่จะรู้สึกแปลกแยกต่อตนเอง ต่อสิ่งที่ตนเองทำ นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ฝืนใจเรียนไปวันๆ อย่างแกนๆ ก็เพราะถูกพ่อแม่ และสังคมบังคับให้เห็นเงินเป็นพระเจ้า เราจะเห็นว่า การเข้าใจตนเองจึงต้องหมายถึงการเข้าใจด้วยว่า ความไร้อิสรภาพ ความรู้สึกแปลกแยก ที่ตนแบกรับอยู่นั้นเกิดขึ้นมาจากเงื่อนไขภายนอกอย่างไร ซึ่งต้องเข้าใจไปถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคม และเข้าใจไปจนถึงว่า ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว อะไรที่ทำให้เราเป็นคนโชคร้ายที่ต้องรู้สึกแปลกแยกต่อตนเอง และอะไรทำให้คนบางคนโชคดีไม่ต้องรู้สึกอย่างเรา

คงเป็นไปไม่ได้ที่จะคิดว่าเงินเป็นเรื่องไม่สำคัญเลย เพราะอย่างไรเสียเราก็ต้องเอาชีวิตรอด แต่บางทีเวลาที่คนพูดว่าเขาต้องเอาตัวรอดในสังคม เขาหมายความว่าเขาต้องเอาชนะ และขึ้นไปอยู่เหนือคนอื่นให้ได้ แต่คุณคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีคนที่คิดว่าเงินไม่ใช่พระเจ้า หมายความว่าเขาพอใจกับการทำอย่างอื่นมากกว่าการพยายามดิ้นรนหาเงินให้มากขึ้นๆ เรื่อยๆ คนเหล่านี้มีอยู่จริง ลองคิดถึงคนที่เสียสละตนเองอยู่ในที่ต่างๆ คุณรู้จักใครที่มีชีวิตเช่นนั้นบ้างหรือไม่ สิ่งที่น่าสนใจก็คือจิตใจของคนเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร พวกเขามีอะไรเป็นแรงผลักดันอยู่ข้างใน นี่คงไม่ใช่เพราะสวรรค์สร้างคนพวกนี้ขึ้นมาอย่างพิเศษแน่ เขามีเลือดมีเนื้อมีพ่อมีแม่เหมือนพวกเรา ที่จริงแล้ว ทฤษฎีจิตวิทยารู้มากพอที่จะทำนายได้ด้วยซ้ำว่าใครจะเติบโตขึ้นไปเป็นคนเช่นนั้น และวิชาจิตวิทยาก็พอจะอธิบายได้ว่าอะไรคือแรงจูงใจสูงสุดของคนส่วนใหญ่ในสังคมทุนนิยม และแรงจูงใจเช่นนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

แต่ สำหรับเรา สิ่งที่ร้ายหนักยิ่งไปกว่าเรื่องของการถูกบังคับให้เรียนอย่างเห็นเงินเป็นพระเจ้าก็คือ แม้ขณะที่คุณหมดชั่วโมงเรียนแล้วก็ไม่ใช่ว่าคุณจะมีอิสระหรือมีความสุข เพราะทันทีที่คุณก้าวออกนอกห้องเรียนคุณก็ก้าวเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์ของระบบโซตัส ความเป็นจริงของสถานศึกษาไทยทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในขณะนี้ก็คือ นักศึกษาใหม่หลายๆ คน หรือทั้งหมดกำลังเริ่มต้นลิ้มรสความเจ็บปวดจากการถูกบังคับ ควบคุม ข่มขู่ อย่างไร้สาระ จากอำนาจของรุ่นพี่ภายใต้ระบบโซตัส แต่ความเจ็บปวดนี้ก็แลกเปลี่ยนด้วยอะไรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือในการปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ ความบันเทิงจากงานเลี้ยงต้อนรับ ที่สำคัญก็คือ การยอมรับจากรุ่นพี่ และการได้รับเกียรติยศ และการขนานนามว่าเป็นส่วนหนึ่งของชื่อที่ตั้งขึ้นเป็นพิเศษ ได้แก่ “เลือดสีชมพู” “เลือดสีอิฐ” “กาลพฤกษ์ช่อที่ 40 ” “กาสลองช่อที่ ... ” ฯลฯ โดยคุณต้องยอมรับการแบ่งแยกสถานะเป็นชนชั้น “รุ่นพี่” “รุ่นน้อง” และในท่ามกลางเกียรติยศ ความภาคภูมิใจของการเป็นที่รัก เป็นคนดี มีคุณค่า เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองด้วยชื่อพิเศษๆ พวกนั้น คุณต้องยอมรับว่าการถูกกระทำด้วยความรุนแรง เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในสังคมนั้นๆ แต่ทว่าสิ่งที่ชวนหดหู่อย่างที่สุดใน “วัฒนธรรม” ที่มีความรุนแรงเป็นส่วนประกอบเช่นนี้ก็คือ การสูญเสียชีวิตของคนที่อ่อนแอ ที่คนอื่นยอมแลกไปเพื่อความเข้มแข็งสถาพรของวิถีชีวิตใน “ลัทธิสถาบันนิยม ” และในความสัมพันธ์แบบ “ชนชั้น” ของนักศึกษา ระบบโซตัสนั้นเป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสมัยที่มนุษย์ยังป่าเถื่อนที่จะต้องมีเลือดและน้ำตามาเป็นเครื่องสังเวย แต่นี่เป็นความจริงที่รุ่นพี่และครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะไม่ยอมเอ่ยปากถึง ในเวลาที่เขาชักชวนคุณให้เข้ามาสู่ระบบ (เพื่อให้ชัดเจนขึ้น ขอให้ข้อมูลว่า ในช่วงปีที่กำลังข้าพเจ้าเขียนหนังสือเล่มนี้ มีคนตายสองคน คนหนึ่งเป็นนักศึกษาในสถาบันราชภัฎ จมน้ำตายเพราะถูกบังคับให้ลงทะเลทั้งที่ว่ายน้ำไม่แข็ง คนที่สองเป็นนักศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร ตายเพราะถูกบังคับให้ดื่มน้ำ 40 ลิตร ทั้งสองกรณีไม่สามารถเอาผิดลงโทษและเรียกร้องเอาค่าเสียหายทางกฎหมายกับใครได้ เพราะไม่มีการประทุษร้ายทางร่างกาย)

ถ้าคุณรู้ว่าใครบางคนต้องสูญเสียชีวิตเพื่อเป็นเครื่องบูชาให้กับความศักดิ์สิทธิ์ของระบบโซตัส ไปจริงๆ คุณก็น่าจะได้หยุดคิดและตั้งคำถาม ทำไมครูบาอาจารย์จึงปิดบัง ? ทำไมพ่อแม่ของคุณจึงบอกว่าทนไปเถอะลูกแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง ? และคุณก็อาจหวนกลับมาถามตัวเองว่า ทำไมเราจึงควรยอมรับความรุนแรงในระบบโซตัส ? ความรุนแรงอาจทำให้ผู้ใช้มีความสุขด้วยความสะใจ แต่ทำให้ผู้รับมีทุกข์ ทำไมเราจึงควรยอมทนต่อความทุกข์ที่ผู้อื่นก่อให้แก่เรา เพียงเพื่อจะได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นคนดี รักพวกพ้องเท่านั้นหรือ ? คำว่า “เป็นคนดี มีสามัคคี รักพวกพ้อง” ทำให้เราเป็นคนมีคุณค่าจริงๆ หรือ ? ทำไมคุณค่าของเราในสังคมจึงต้องแลกมาด้วยการสูญเสียความสุขและความเป็นตัวของตัวเอง ?

ระบบโซตัสอยู่คู่ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทยมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยรับมาจากอังกฤษ ซึ่งอังกฤษใช้ระบบนี้ในการสร้างนักปกครองอาณานิคมของตน ระบบนี้เคยหายไปในช่วงเวลาสั้นๆ ในยุคที่นักศึกษามีการตื่นตัวทางการเมือง คือยุค 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 และสามสี่ปีหลังจากนั้น โดยทั่วไปแล้ว จะมีคนเสียชีวิตให้กับความรุนแรงในระบบโซตัส อาจจะเป็นสองสามปีต่อหนึ่งคน ดังนั้นจึงมีคนตายมาแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย (ถ้ามีการหาสถิติความตายและความบาดเจ็บของนักศึกษาไทยในเรื่องนี้ คงมีคนตายไปไม่น้อยกว่า 20 คน บาดเจ็บทางร่างกายหลายร้อย บาดเจ็บทางจิตใจคงนับไม่ถ้วน) สิ่งที่น่าฉงนที่สุดก็คือ สังคมไทยไม่เคยยอมรับที่จะเรียนรู้จากข้อเท็จจริงเรื่องนี้เลย ราวกับมีอะไรบางอย่างที่มีอำนาจอยู่ในสังคม ต้องการให้ระบบนี้คงอยู่ต่อไป ราวกับว่าความสูญเสียนี้เป็นราคาที่ต้องจ่ายไปเพื่ออะไรบางอย่างที่มีค่าอย่างมากต่อสังคม ซึ่งหมายความว่า ความตายไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือเป็นเพียงแค่อุบัติเหตุ ซึ่งอาจจะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต (เพราะถ้าป้องกันได้ก็ควรป้องกันมานานแล้ว) แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากมีใครที่อ่อนแอถึงจุดที่ทนไม่ไหว เพราะธรรมชาติของระบบโซตัสคือการข่มเหงรังแก โดยมีสตาฟ รุ่นพี่ทำหน้าที่ “เสียสละ” ทำตัวเป็น “ผู้ร้าย” คอยข่มเหง หาเรื่อง รังแก รุ่นน้อง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างให้เกิดความโกรธ และความรู้สึกว่ามีศัตรูร่วมกันในหมู่นักศึกษารุ่นน้อง เพื่อในที่สุดแล้วจะได้หันหน้าเข้าหากัน รักและสามัคคีกัน เกิดความรู้เป็นพวกเป็นพ้องขึ้นมา ความรักและความสามัคคีนี้เองคือสิ่งที่สังคมให้ค่าและถือว่าคุ้มแล้วที่จะยอมให้มีการบาดเจ็บสูญเสีย และหากแม้นจะมีใครโชคร้ายตายไปบ้างก็ยอม ระบบโซตัสเป็นส่วนสำคัญของลัทธิสถาบันนิยม ลัทธิสถาบันนิยมเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิชาตินิยม ทั้งหมดอยู่ภายใต้คำสอนเรื่องความรักพวกพ้องและความสามัคคี ซึ่งก็คงพอทำให้เราเห็นได้ว่าใครคือผู้ที่สอนเรื่องพวกนี้อยู่ทุกวัน และผู้ที่สอนมีเสียงดังมากขนาดไหนในสังคม

สังคมไม่เคยกล้าพูดออกมาตรงๆ ว่ามันคุ้มแล้วที่จะมีคนสักคนตายเพื่อแลกกับความรักความสามัคคีในสังคมของนักศึกษาจำนวนสักแสนสองแสนคน หรือสักล้านคน ต่อห้าหกปี แล้วคุณละจะกล้าพูดไหม แล้วถ้าเกิดว่าคนที่จะต้องตายคือคุณละ คุณจะยินดีหรือไม่ ความตายเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย การข่มเหงรังแกก็เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย แต่ความรักพวกพ้องและความสามัคคีดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ดูเหมือนว่าดีก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีจริงๆ ก็ได้ เราจะใช้อะไรตัดสิน ลัทธิสถาบันนิยม ลัทธิชาตินิยม เป็นสิ่งที่ดีจริงหรือ ทำไมคนจำนวนหนึ่งพูดกรอกหูเราอยู่ทุกวันว่ามันคือสิ่งที่ดี ทั้งๆ ที่นักประวัติศาสตร์บอกเราว่าลัทธิชาตินิยมเผ่าพันธุ์นิยมพาไปสู่การข่มเหงรังแกคนชาติพันธุ์อื่นที่ด้อยอำนาจกว่า จับเขามาเป็นทาส การรุกรานชาติเพื่อนบ้านเพื่อขยายอำนาจ การขยายดินแดนและลัทธิล่าอาณานิคม นี่คือสิ่งที่สยามเคยทำกับคนลาวในภาคอีสาน และคนมลายูในภาคใต้ ลัทธิชาตินิยมเผ่าพันธุ์นิยมเคยนำไปสู่การสังหารหมู่คนยิว และสงครามโลกที่มีคนตายเป็นหลายสิบล้านคน และสำหรับลัทธิสถาบันนิยมในยุดปัจจุบันนั้น นักรัฐศาสตร์ก็บอกเราว่ามันพาไปสู่การเล่นพรรคเล่นพวก ระบบอุปถัมภ์ ความอ่อนแอและการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศชาติ และเราก็ไม่ได้อยู่ในยุคที่มีสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือกับลัทธิคอมมิวนิสต์อีกต่อไปแล้ว เรามีแต่สงครามทางเศรษฐกิจ สงครามกับยาเสพติด สงครามกับการก่อการร้าย สงครามกับคอรัปชั่น ซึ่งระบบอุปถัมภ์และลัทธิชาตินิยมคือตัวสร้างและขยายปัญหา แต่ผลประโยชน์บางอย่างก็ทำให้ชนชั้นสูงยังคงพร่ำสอนลัทธิชาตินิยม และ คนในมหาวิทยาลัยก็ยังหลับหูหลับตาบูชาลัทธิสถาบันนิยมและระบบโซตัส จิตสำนึกทางศีลธรรมของผู้คนในเรื่องนี้คงทำงานบกพร่อง เพราะเหตุผลด้านลบอย่างที่กล่าวมาไม่อาจเจาะเข้าไปสู่ส่วนลึกของจิตใจเขาได้เลย เขาไม่อาจมองเห็นเลยว่าเขากำลังสนับสนุนสิ่งที่พาไปสู่ความ อยุติธรรม เพราะมันไม่ยุติธรรมเลยที่คนๆ หนึ่งต้องตายเพียงเพื่อคนอื่นๆ จะได้รักกัน ไม่ว่าจะมีจำนวนมากแค่ไหนก็ตาม และนี่ยังไม่กล่าวถึงความอ่อนแอของสังคมไทยโดยรวม

แต่ แม้ว่าคุณจะเจ็บปวดและเห็นความชั่วร้ายของระบบโซตัสอย่างไร ถ้าคุณก็ยังไม่ยอมถอยออกมา ( และถ้าสถาบันการศึกษาของคุณไม่ได้บังคับให้การเข้าร่วมกิจกรรมโซตัส เป็นส่วนหนึ่งของคะแนนความประพฤติ ) และทั้งที่ว่ากันตามจริงแล้ว คุณเข้ามาในมหาวิทยาลัยก็เพื่อมาเรียนเอาความรู้และใบปริญญาไม่ใช่มาเป็นทาสของระบบโซตัส คำถามที่น่าฉงนที่สุดก็คือ อะไรทำให้จิตใจของคุณอ่อนแอราวกับทาสที่ไม่ยอมรับการปลดปล่อย ?

ดูเหมือนว่าจะมีคำพูดบางคำที่ถูกฝังไว้ในสมองของคุณ ที่สามารถผูกคุณไว้กับการเป็นทาสได้ นั่นก็คือคำพูดที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” ซึ่งหมายความว่า คุณอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้คุณต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น ดังนั้นคุณต้องยอมตัวเองอยู่ใต้อำนาจคนที่อยู่มาก่อน ยอมประจบเอาอกเอาใจพวกเขาด้วยการยอมทำตามคำสั่ง เขาถึงจะรักและรับคุณเข้าเป็นพวกเป็นรุ่นน้อง เหมือนที่คุณต้องเอาดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปกราบเท้าฝากตัวกับครูบาอาจารย์ในวันไหว้ครูท่านถึงจะรักจะเมตตารับเข้าเป็นศิษย์ เรื่องที่สองนี้เป็นเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมอัน “ดีงาม” แต่ก็มีอะไรที่ตรงกันอยู่มาก ระบบโซตัสเองก็อ้างคำว่าประเพณี และตามทฤษฎีวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์แล้ว พิธีไหว้ครูก็คือสัญลักษณ์สุดยอดของระบบอุปถัมภ์ระหว่างชนชั้นผู้ให้และชนชั้นผู้รับในสังคมไทย ดังนั้น อาจอนุมานได้ตรงๆว่าระบบโซตัสก็คือระบบอุปถัมภ์ระหว่างชนชั้นในหมู่นักศึกษากันเอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากระบบอุปถัมภ์และระบบชนชั้นในสังคมไทย

คุณคงจำได้ว่าใครบ้างที่คอยพร่ำบอกคุณว่าคุณอยู่ด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ คุณต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นในสังคม ทั้งหมดนั้นก็เพื่อที่จะทำให้คุณกลัวที่จะเป็นตัวของคุณเองใช่หรือไม่ มันทำลายความเชื่อมั่นในตัวของคุณเองไปมากเท่าไร มันจะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าคุณถูกสอนว่า คุณสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ด้วยตัวของคุณเองไม่ต้องพึ่งใคร และจงอย่าพึ่งใครทั้งสิ้น และนี่ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนหรอกหรือ ที่จริงแล้วศาสนาพุทธสอนคนไม่ให้เชื่อในอะไรทั้งสิ้นนอกจากการกระทำของตนเอง การเข้าใจตนเองและการดูแลจิตใจของตนเอง โดยไม่พึ่งพาสิ่งภายนอกอื่นใดทั้งสิ้น แต่ถ้าใครบอกคุณว่าคำสอนเรื่องอัตตาหิ อัตตาโนนาโถ ใช้กับเฉพาะเรื่องการบรรลุธรรมเท่านั้น เขาก็เป็นพุทธแบบปลอมๆ และทำให้พุทธศาสนาตัดขาดจากเรื่องทางโลกซึ่งผิดจากเจตนาของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง เราคงต้องพูดว่าพุทธศาสนาและระบบอุปถัมภ์เป็นของคนละอย่างกัน คนไทยโชคดีที่มีพุทธศาสนา แต่โชคร้ายที่มีรากเหง้าอยู่ในระบบศักดินา เจ้า-ไพร่ วัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์นิยม วัฒนธรรมอุปถัมภ์ทำให้คนไทยซึ่งแปลว่า “ไท” มีหัวใจเป็น “ทาส” ชนิดที่ไม่ยอมปลดปล่อยตัวเอง ทั้งๆ ที่นับถือศาสนาที่ปลดปล่อยมนุษย์ออกจากอำนาจของสิ่งนอกตัวทุกประการ แต่วัฒนธรรมอุปถัมภ์กลับทำให้คนไทยกลัวแม้แต่การเป็นอิสระจากสังคม

แต่ความกลัวต่ออิสรภาพจากสังคมอาจเป็นสภาพธรรมดาของมนุษย์ทุกหนทุกแห่ง และตามทฤษฎีจิตวิทยาสังคมแขนงหนึ่ง มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของพลังทางการเมืองในสังคม ในทุกสังคมมีพลังใหญ่ๆ อยู่สองส่วน ส่วนหนึ่งคือพลังที่ต้องการรักษาประโยชน์สุขของกลุ่มคนที่มีอำนาจในสังคม และอีกส่วนคือพลังที่ต้องการต่อสู้เพื่อประโยชน์สุขของกลุ่มคนที่ไร้อำนาจ กลุ่มแรกคือพลังอนุรักษ์นิยม กลุ่มที่สองคือพลังเสรีนิยม กลุ่มแรงเกลียดกลัวอิสระ กลุ่มหลังต้องการให้มีอิสระและเสรีภาพมากขึ้นในสังคม สังคมที่คนกลัวอิสรภาพอย่างรุนแรงคือสังคมที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมมีอำนาจครอบงำเด็ดขาดเหนือกลุ่มเสรีนิยม โดยอำนาจครอบงำดังกล่าวเป็นอำนาจทางวัฒนธรรม ประเด็นสำหรับเราก็คือ ในวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์นิยมนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่นักศึกษาจะมีชีวิตที่มีความสุข แม้กับสิ่งเล็กน้อยๆ เช่นการแต่งตัวสบายๆ มาเข้าเรียน ระบบโซตัสบังคับนักศึกษาปีหนึ่งให้แต่งเครื่องแบบ ใส่เสื้อแขนยาว ผูกเน็คไท บังคับนักศึกษาใหม่ให้ไหว้อาจารย์ทุกคน ไหว้รุ่นพี่ทุกคน พาทำพิธีไหว้ครู เป็นที่พอใจของมหาวิทยาลัย และเป็นที่พอใจของนักอนุรักษ์นิยม-วัฒนธรรมนิยม เพราะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของความเป็นดีเด็กน่ารักของนักศึกษา ส่งเสริมภาพพจน์ของมหาวิทยาลัย และภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมอันงดงามของสังคม และที่จริงแล้ว ยิ่งสังคมเป็นอนุรักษ์นิยมจัดเท่าไร สังคมก็จะยิ่งมีศีลธรรมที่จอมปลอมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น และคนที่ไม่มีอำนาจพอที่จะแอบซ่อนและหลบเลี่ยงสายตาของสังคมก็จะยิ่งไร้ความสุขในชีวิตมากขึ้น เพราะสังคมจะสนใจแต่เรื่องของภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมเท่านั้น และจะปิดหูปิดตาต่อความทุกข์ทรมาน ความไร้ความสุขของสามัญชนที่ไร้อำนาจทั้งหลาย ในสังคมไทยลัทธิวัฒนธรรมนิยมก็มาร่วมกับลัทธิชาตินิยมและพยายามสร้าง“ความเป็นไทย” ใส่เข้าไปในตัวคุณ ขอให้คุณคิดดูเอาเองว่าจากที่คุณเติบโตมา “ความเป็นไทย” ทำให้คุณหมดความสุขไปมากเท่าไรในชีวิต (แต่คุณก็อาจมีความสุขด้วยความภาคภูมิใจ เวลาที่เกิดเหตุการณ์อะไรให้คนไทยได้ยกยอกันเองตามสถานีวิทยุโทรทัศน์ หรือเวลาได้ยินเพลงของคาราบาว หรือได้ดูการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ที่อาศัยลัทธิวัฒนธรรมนิยม-ชาตินิยมเป็นเครื่องมือ)

คำว่า “ศีลธรรมจอมปลอม” อาจทำให้คนหลายคนไม่อยากอ่านหนังสือเล่มนี้ต่อไป [1] แต่ขอให้คิดง่ายๆ ว่าเด็กไทยถูกทำให้โง่ และถูกทำลายความสุขไปมากเท่าไรจากการถูกบังคับไม่ให้ตั้งคำถามโต้เถียงกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์และคนที่มีอาวุโสกว่า เด็กนักเรียนถูกทำลายความสุขในชีวิตไปมากเท่าไรกับการถูกบังคับให้ตัดผมสั้น นักศึกษาถูกบังคับให้แต่งเครื่องแบบ และถูกบังคับให้ต้องยอมจำนนกับเหตุผลแบบจำกัดจำเขี่ย คือเท่าที่ผู้ใหญ่พอใจ ภายใต้คำว่า “ นี่คือวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ” ตัวอย่างของเหตุผลแบบจำกัดจำเขี่ยก็คือ เด็กควรจะต้องตัดผมสั้นเพราะอากาศเมืองไทยร้อน แต่ครูไม่ต้อง หรือเด็กควรจะต้องตัดผมสั้นเพื่อให้คนทั่วไปรู้ว่าเป็นนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน ปีละ 365 วัน แต่ครูไม่ต้องบอกให้ใครรู้ว่าเป็นครู อาจจะทันทีที่ออกจากชั่วโมงสอน หรือโรงเรียนใช้ศีลธรรมบังคับให้เด็กไปปฏิบัติธรรมในวัดเป็นเวลาเจ็ดวัน ถ้าไม่ไปจะไม่ให้สำเร็จการศึกษา แต่ครูไม่เคยถูกบังคับว่าต้องไปปฏิบัติธรรมเจ็ดวัน ถ้าไม่ทำจะไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปี ระบบโซตัสใช้คำว่าความเป็นคนดีของสังคมเป็นเครื่องมือกดขี่นักศึกษารุ่นใหม่จนตาย ศีลธรรมที่ให้ผลเป็นความเจ็บปวดและไม่มีความเสมอภาคเป็นศีลธรรมแบบไหนกันแน่ ศีลธรรมอะไรกันที่ใช้การลงโทษและการบังคับให้คนสร้างความดีทั้งๆ ที่เขาก็ยังไม่ทันได้ทำอะไรผิด นี่คือศีลธรรมจอมปลอมของพวกนักอนุรักษ์นิยม ที่ต้องการที่จะสร้างภาพลักษณ์ของศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามให้แก่สังคมที่ตนครองอำนาจ และใช้กดขี่และทรมานสามัญชนที่ไร้อำนาจทั้งหลาย

เครื่องหมายหนึ่งของความเป็นศีลธรรมจอมปลอมก็คือการเป็น “ทวิมาตรฐาน” (double standard) หมายถึงความไม่เสมอภาคในการตัดสิน ซึ่งปรากฏอย่างชัดเจนในสังคมชนชั้น สังคมไทยจึงมีศีลธรรมจอมปลอมปนอยู่ในทุกเรื่องที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับ ผู้น้อยและผู้ใหญ่ ผู้หญิงและผู้ชาย อีกเครื่องหมายหนึ่งก็คือศีลธรรมที่เป็นอคติ ( prejudice ) หมายถึง ไม่อาจแสดงเหตุผลให้ถึงที่สุดได้ และไม่คำนึงถึงความสุขความทุกข์ของผู้คนที่มีตัวมีตนอยู่จริงๆ ซึ่งให้ผลเป็นความเคร่งครัดทางศีลธรรมที่ไร้สาระ ที่สร้างความเจ็บปวดสูญเสียอย่างไร้สาระตามมาในที่สุด ตัวอย่างเช่น สังคมอนุรักษ์นิยมจะพยายามสร้างความศักดิ์สิทธ์ให้เรื่องเพศ ทั้งที่ก็อธิบายไม่ได้ว่าเรื่องเพศมันเลวร้ายอย่างไรกันหนักหนาในโลกยุคปัจจุบัน พยายามจะปิดกั้นผู้คนจากเรื่องเพศ ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องตามธรรมชาติ สร้างแรงกดดันทางสังคมที่ไม่จำเป็น ทำให้การท้องนอกสมรสกลายเป็นสิ่งที่ผิดอย่างรุนแรง ทำให้คนต้องทำแท้ง แล้วก็เข้าไปกำหนดกฎหมายให้เป็นความผิดทางอาญาอีก ในที่สุดผู้หญิงทนถูกสังคมตราหน้าไม่ได้ก็ฆ่าตัวตาย หรือไม่ก็ไปทำแท้งเถื่อน แล้วก็ตกเลือกตายปีละมากมาย ทั้งหมดนี้ก็เพราะศีลธรรมจอมปลอมของนักอนุรักษ์นิยมทางวัฒนธรรม พวกเขาปิดหูปิดตาต่อความตายของผู้หญิงที่ทำแท้ง เหมือนที่ปิดหูปิดตาต่อความตายในระบบโซตัส แต่คราวนี้พวกเขาจะมีคำแก้ตัวว่า เพราะผู้หญิงพวกนั้นเป็นคนชั่ว เป็นผู้หญิงสำส่อน เป็นแม่ใจยักษ์ จึงสมควรตาย ซึ่งก็แสดงความใจหยาบไร้เมตตาธรรมของพวกเขาเอง อีกตัวอย่างหนึ่งของศีลธรรมจอมปลอมก็คือ คุณธรรมของความสุภาพอ่อนโยน นักอนุรักษ์นิยมมองเรื่องนี้เป็นคุณธรรมที่นิยามความเป็นไทยเสียด้วยซ้ำ แต่ฝ่ายเสรีนิยมจะมองว่าความสุภาพอ่อนโยนของคนไทยนั้นแลกมาด้วยความอ่อนแอทางความคิดอย่างที่สุด ซึ่งเป็นผลของการที่เราสอนกันให้ไหว้ ให้อ่อนน้อมให้เก็บกดอารมณ์กันแบบที่แทบไม่ต้องคิดอะไรกันอีกแล้วว่าด้วยเหตุผลอะไร

นอกจากคำพูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ยังมีอีกคำพูดหนึ่งที่พวกผู้ใหญ่จะใช้พูดกับคุณ เพื่อทำให้คุณยอมรับระบบโซตัสหรือยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอยู่ มันจะฟังดูราวกับเป็นสัจธรรมที่ลึกซึ้ง แต่ก็ไร้สาระโดยสิ้นเชิง ทันทีที่คุณเข้าใจเจตนาของมัน นั่นก็คือคำพูดว่า “ทุกอย่างมีดีมีไม่ดี ไม่มีอะไรที่ดีหมด และเลวหมด” เจตนาที่แท้จริงของคำพูดนี้ก็คือจงเลือกมองเฉพาะสิ่งที่ดีๆ ของสิ่งที่เธอกำลังเผชิญและจงปิดหูปิดตากับสิ่งที่เลวๆของมันเสีย แล้วเธอก็จะอยู่กับมันได้ โซตัสทำให้เธอได้รับการยอมรับในสังคม ได้รับความรัก ความช่วยเหลือ จงสนใจเท่านั้นพอแล้ว อย่าไปใส่ใจกับการถูกบังคับ ความทุกข์ทรมาน ตัดมันออกจากจิตใจ อย่าไปนึกเรื่องคนที่ตายไปเพราะมัน อย่าไปนึกถึงคนที่พยายามปิดบังความจริงจากเธอ จงเชื่อว่าทั้งหมดที่เขาทำ ก็เพื่อเปลี่ยนเธอให้เป็นคนดีของสังคม จงเชื่อว่าเธอเป็นคนเลวอยู่ข้างใน จนกว่าเธอจะยอมละลายพฤติกรรมแข็งขืน แต่คุณก็คงเห็นไม่ใช่หรือว่านี่คือวิธีคิดของคนขี้แพ้ หลอกตัวเอง และขี้ขลาด

คนที่กล้าหาญจะกล่าวว่า เมื่อเราเผชิญหน้ากับสิ่งที่ปนดีปนชั่ว เรามีหน้าที่ที่จะต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงมัน ทำให้ความดีของมันเพิ่มพูนและความชั่วของมันลดลง พร้อมไปกับแสวงหาปัญญามาตัดสินว่า สิ่งที่ดีนั้นดีจริงหรือเปล่า ชั่วนั้นชั่วจริงหรือเปล่า ทำไมมันจึงเกิดขึ้นด้วยกัน มันเป็นแค่ความบังเอิญ หรือมันมีความเป็นสาเหตุและผลต่อกัน เป็นไปได้อย่างไรที่สิ่งที่ดีจริงๆ จะเป็นสาเหตุของสิ่งที่ชั่วจริงๆ ดีชั่วดูเหมือนจะเป็นของที่ทั้งเรียบง่ายและซับซ้อนที่สุด และไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะยอมรับคำพูดของคนอื่นง่ายๆ

แต่หากคุณจริงใจกับคำพูดดังกล่าว แล้วนำไปใช้กับระบบโซตัส มันก็พาไปสู่ข้อสรุปที่ไร้สาระอย่างที่สุดอีกเช่นกัน เพราะ ประการที่หนึ่ง มันจะพาคุณไปลงเอยด้วยการพูดว่า เนื่องจากระบบโซตัสเป็นระบบอุปถัมภ์ จึงมีระบบอุปถัมภ์ที่ดีและไม่ดี ทั้งๆ ที่ตามทฤษฎีระบบอุปถัมภ์แล้ว ทุกๆ ระบบอุปถัมภ์มีการเอารัดเอาเปรียบระหว่างชนชั้น เพียงแต่อาจมีมากหรือน้อยต่างกันเท่านั้น ระบบอุปถัมภ์แบบพ่อปกครองลูกอาจดูมีความเมตตากว่าระบบแบบเจ้า-ไพร่ แต่ก็เป็นศีลธรรมที่จอมปลอมอยู่ดี แม้ว่าจะแนบเนียนอ่อนโยนกว่าก็ตาม ขอให้คุณดูนึกง่ายๆ ว่าความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกแบบที่ไม่เคยยอมให้ลูกมีเสรีภาพที่จะโต้เถียงได้เลยนั้น เป็นความรักที่ถูกต้องจริงหรือ เป็นไปได้หรือว่าพ่อแม่จะถูกทุกอย่างและถูกตลอดเวลา แล้วความรู้สึกส่วนตัวของลูกละ ไม่มีความหมายเลยหรือ พูดอย่างง่ายๆ ว่าพ่อแม่ที่ทำลายปัจเจกภาพของลูกนั้นเป็นพ่อแม่ที่มีความรักที่บริสุทธิ์ต่อลูกจริงหรือ และ ประการที่สอง คำพูดว่าทุกสิ่งมีทั้งดีและไม่ดี จะพาคุณไปสู่การยืนยันว่า แม้นักวิชาการจะบอกว่าลัทธิสถาบันนิยมพาไปสู่การเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งพาไปสู่ปัญหาการคอรัปชั่นในวงราชการ แต่การคอรัปชั่นก็ทำให้เกิดสิ่งที่ดีเช่นกัน เพราะคนที่ได้เงินไปก็เอาเงินไปใช้จ่าย เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ การพูดเช่นนี้เป็นการหลอกตนเองอย่างไร้สาระที่สุด เหมือนการพูดว่าการปล่อยน้ำให้ไหลทิ้งเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ เพราะมันจะไม่ได้หายไปไหน มันจะไหลลงดิน ลงทะเล ระเหยกลายเป็นไอ กลายเป็นเมฆ เป็นฝน กลับมาให้เราใช้ในที่สุด แต่ประเด็นก็คืออย่าทำให้มันไหลทิ้งเสียเลยแต่ต้นจะไม่ดีกว่าหรือ

เรื่องของลัทธิชาตินิยม ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์นั้น คุณได้เห็นภาพของความดีของมันมามากมาย แต่ปัญหาของมันนั้นกลับถูกปิดบังมาตลอด เรื่องของมันซับซ้อนจนนักสังคมวิทยาแทบจะคิดว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีจะไม่มีภูมิปัญญาพอที่จะเข้าใจ เพราะมันมีแกนกลางอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตนร่วม” หรือ “อัตลักษณ์ร่วม” ของคนในสังคม หมายความง่ายๆ ว่าทุกคนเอาส่วนหนึ่งของความเป็นตัวของตัวเองเขาไปอยู่ในนั้น มันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการที่คนนิยามตัวเขาว่าคือใคร เช่น ฉันคือ “คนไทย” “ฉันคือเลือดสีชมพู” “ฉันคือชาวพุทธ” มันเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความดีในสังคมนั้นได้เท่าๆ กับความชั่ว แต่ปัญหาจะอยู่ที่ความชั่ว เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วมักจะหนักหนาเกินกว่าความดีอย่างเทียบกันไม่ได้ ประเด็นก็คือ ความรักในสถาบันที่เป็นตัวแทนทางจิตใจของสังคมบางอย่าง อาจทำให้คนร่วมกันสร้างความดีได้ แต่ก็สร้างความเกลียดชังในสิ่งตรงกันข้ามได้ และความเกลียดชังก็อาจพาไปสู่ความรุนแรงอย่างไร้ขอบเขตไร้มนุษยธรรม แล้วเมื่อความเกลียดชังของคนหมู่มากถูกปลดปล่อยออกไปจริงๆ มันจะมีพลังการทำลายล้างอย่างสูง แล้วหลังจากนั้นพวกเขาก็พยายามปิดบังเรื่องราวของมันไม่ให้คนรุ่นหลังรับรู้ ความดีในลัทธิชาตินิยม หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็น “อัตลักษณ์ร่วมนิยม” จึงอาจปนมากับการอนุญาตให้คนรู้ความจริงแต่เพียงด้านเดียว ซึ่งก็คือความดีบนการโกหกนั่นเอง ถ้าคุณอยากเห็นตัวอย่างก็ลองค้นหาความจริงเรื่องเหตุการณ์หกตุลาดูให้ถึงที่สุด หรือลองหาดูว่าในสังคมไทยนั้นมีอะไรบ้างที่ถูกปิดบังไม่ให้คนไทยรู้ ดังนั้น การบอกทุกอย่างมีทั้งดีทั้งชั่ว ก็คือการบอกว่า ไม่ต้องคิดแยกแยะอะไรให้เหนื่อย ลืมส่วนที่ไม่ดีเสียก็พอแล้ว

ดังนั้น ไม่จริงเลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ใหญ่สอนเรา จะเป็นสิ่งที่สูงค่าทางศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ทำให้เรายอมรับสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม จารีตประเพณี แบบแผนชีวิตใดๆ ก็ตาม เขาเพียงต้องการให้เรายอมรับวิถีชีวิตของเขาเท่านั้น ซึ่งก็คือเขาต้องการให้เรามีชีวิตอยู่ในอดีตและปัจจุบันของเขา โดยอาจไม่สนใจจริงๆ ว่าปัจจุบันของเราเป็นอย่างไร และอนาคตของเรา ซึ่งเป็นลูกหลานของเขาจะเป็นอย่างไร

วัฒนธรรมเป็นเรื่องของอดีต แต่ก็เป็นสิ่งที่เราถูกปลูกฝังจนกลายเป็นธรรมชาติที่สอง คือ ถูกปลูกฝังจนทำไปโดยแทบไม่ต้องคิด เพื่อให้เรารักษาอดีตไว้ เราถูกสอนให้ยอมตามโดยแทบจะไม่คิด แต่ที่จริงเราก็ไม่มีความสุขและพยายามขัดขืนต่อสู้ แต่ก็มีแรงในสังคมทุกรูปแบบ ที่จะพยายามกำหนดเราให้ได้ดังใจของคนที่มีอำนาจอยู่ตลอดเวลา จนบางทีเราก็ยอมแพ้อย่างง่ายๆ แต่ก็มีคนที่มีจิตวิญญาณที่กล้าแข็ง ต่อสู้ขัดขืนอย่างไม่ยอมแพ้ง่ายๆ และไม่ยอมให้ใครมาทำลายตัวตนที่เป็นปัจเจกของพวกเขา และไม่ยอมให้ใครมากำหนดให้เขาได้ง่ายๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกหรือผิดโดยที่เขาไม่ได้พิจารณาสิ่งนั้นด้วยเหตุผลจนถึงที่สุด และเมื่อเขาเข้ามาในมหาวิทยาลัย เขาก็ยอมรับการถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่รักพวกพ้อง และเดินหนีออกไปจากความเป็นทาส ในอดีตคนที่กล้าแข็งพวกนี้หลายๆ คนใช้อำนาจที่จะตัดสินความถูกผิดทางศีลธรรมให้ตนเอง บอกตนเองว่าเขาควรทำอะไร เพื่อใคร และกลายเป็นวีรชนของยุค 14 ตุลา คนเช่นนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เขาต่างออกไปอย่างไรจากคนอย่างเราๆ

ที่จริงแล้วการจะเป็นเช่นคนอย่างพวกเขาไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงแค่คุณมั่นใจในตนเองว่าคุณไม่ต้องพึ่งพาใคร เชื่อในตนเอง เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่ายอมให้สังคมมากำหนดถูกผิดให้คุณ คุณมีความคิด มีอำนาจที่จะตัดสินถูกผิดได้ด้วยตัวคุณเอง คุณถูกทำลายความสุขมามากพอแล้ว อย่ายอมให้สังคมทุนนิยมทำให้คุณป่วยด้วยการเลือกเงินยิ่งกว่าความรักความชอบของตนเอง ใช้ชีวิตแบบที่คุณชอบจนกว่าคุณจะอยากเรียนในมหาวิทยาลัยจริงๆ ไม่ใช่เพราะตามคนอื่นเขาเข้ามา หรือให้พ่อแม่ขีดเส้นทางให้ และเมื่อเข้ามาแล้วก็อย่าให้ระบบโซตัสและวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมกดขี่ข่มเหงคุณ อย่าทำตัวเป็นคนขี้ขลาด คนหลอกตัวเอง ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริง อย่าทำตัวเป็นคนขี้แพ้ที่ต้องคอยประจบเอาใจคนรอบข้าง ไม่ว่าเพื่อน รุ่นพี่ หรือครูบาอาจารย์ ไม่มีใครจะทำอะไรคุณได้ถ้าคุณเลือกที่จะเป็นอิสระ อย่างมากที่สุดที่พวกเขาจะทำได้ก็คือเอาศีลธรรมจอมปลอมมากดดันคุณ ถ้าจิตใจของคุณเข้มแข็งมันก็ไม่มีความหมายอะไร จงปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการต่างๆ สร้างความสุขให้ตัวเองในสิ่งต่างๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อสะสมไว้เป็นพลังที่จะใช้ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายที่แท้จริงของชีวิต คือการเรียนรู้วิชาการต่างๆ อย่างเต็มความสามารถ พัฒนาปัญญา พัฒนาความสามารถ แสวงหาอุดมคติ อุดมการณ์ของชีวิต เพื่อสร้างชีวิตให้มีความหมายอย่างแท้จริงในทุกๆ วัน

คุณควรจะหาความสุขในอะไรบ้าง เมื่อถูกถามว่าชีวิตของคุณมีคุณค่าอย่างไรบ้าง นักศึกษามักตอบว่า ชีวิตเขามีค่าเพราะเขามีความสุขในการทำสิ่งต่างๆ ที่เขาต้องการที่ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน การตอบเช่นนี้แสดงความสับสนระหว่างความสุขกับคุณค่า การมีชีวิตที่มีความสุข กับการมีชีวิตที่มีคุณค่าเป็นของคนละอย่างกัน แต่คนที่ไม่มีความสุขในชีวิตเลย คงยากที่จะต้องการทำให้ชีวิตของตนเองมีคุณค่า ดังนั้นก่อนจะพูดเรื่องชีวิตที่มีค่าเราต้องพูดเรื่องชีวิตที่มีความสุขก่อน หลักการที่นักศึกษากล่าวมาจึงเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดที่สามัญสำนึกของคนทุกคนบอกต่อตนเองว่า เรามีสิทธิที่จะทำทุกอย่างที่เป็นความสุขของตนเองตราบเท่าที่เราไม่ได้ทำร้ายต่อใครโดยตรง นี่คือหลักการของความไม่สมควรที่จะต้องถูกลงโทษ หรือเรียกง่ายๆ ว่าหลักขันติธรรม ( Tolerance ) ซึ่งก็คือหลักการของลัทธิเสรีนิยมทางศีลธรรม หมายถึง ศีลธรรมต้องให้เสรีภาพต่อบุคคลมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ต้องไม่ลงโทษต่อเสรีภาพของใคร ตราบเท่าที่การใช้เสรีภาพนั้นไม่ไปทำร้ายผู้อื่นโดยตรง ยกตัวอย่างง่ายๆ เพศสัมพันธ์นอกสมรสที่มีความระมัดระวังทุกประการที่จะไม่ให้เกิดผลร้ายตามมา และเป็นความสมัครใจของสองบุคคล ย่อมไม่ได้ทำร้ายใครโดยตรง นั่นก็คือ เมื่อมันไม่ได้สร้างให้เกิดการจองเวรเกิดขึ้นตามหลักเบญจศีล ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ผิด แม้ว่าสองบุคคลจะไม่มีเจตนาที่จะอยู่เป็นคู่ชีวิตกันต่อไป ดังนั้น Free Sex ที่มีสติ รวมทั้งการซื้อขายบริการทางเพศด้วย ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่หลักเบญจธรรมก็บอกว่ามนุษย์ควรจะรักษาพรหมจรรย์ คือควรจะมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของตนเท่านั้น ซึ่งควรจะหมายความว่า ผู้ที่ตนรักและตัดสินใจที่จะครองชีวิตร่วมด้วย แม้อาจก่อนสมรสก็ตาม ซึ่งหมายถึงความซื่อสัตย์ต่อความรักของตน ซึ่งหมายความว่าถ้ามีคู่รักแล้ว Free Sex และการซื้อขายบริการทางเพศก็เป็นสิ่งที่ไม่ควร แม้อาจไม่สร้างให้เกิดการจองเวรต่อกันก็ตาม แต่ประเด็นหลักของลัทธิเสรีนิยมทางศีลธรรมที่ทำให้มันต่างจากหลักอนุรักษ์นิยมทางศีลธรรมก็คือ เมื่อพ้นจากการสร้างการจองเวร ซึ่งได้แก่ การทำร้ายผู้อื่นโดยตรงแล้ว คุณธรรมทางเพศเป็นเรื่องของเสรีภาพที่เจ้าตัวพึงตัดสินใจเอาเองโดยสังคมไม่พึงเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยเหตุทั้งปวง ลัทธิอนุรักษ์นิยมใช้อำนาจเข้าบังคับอย่างไม่สนใจเสรีภาพส่วนบุคคล ไม่ว่าจะในระดับใด ตราบใดที่คุณอยู่ในชนชั้นที่ต่ำค่าในความเป็นมนุษย์มากกว่าพวกเขา นั่นก็คือ ตราบใดที่คุณเป็นคนพวกที่พวกเขาเชื่อว่าไม่อาจจะดีได้ด้วยตัวเองเหมือนเขา (หรือไม่เช่นนั้น เขาก็กำลังบังคับคนอื่นให้บริสุทธิ์สะอาดเหมือนอย่างเขา)

คุณคงรู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นความสุขที่ไม่ได้ไปทำร้ายใคร หรือไป “หนักหัว” ใครเลย สังคมตะวันตกยอมรับเสรีภาพพวกนี้ เพราะถือหลักเสรีนิยมทางศีลธรรม สังคมไทยไม่ยอมรับเพราะเป็นสังคมชนชั้น และถือหลักอนุรักษ์นิยมทางศีลธรรม ในสังคมตะวันหลักแห่งเสรีภาพได้รับการประกาศอย่างชัดเจนและมีการปกป้องกันอย่างเต็มที่ ในสังคมไทย สามัญสำนึกของเราทุกคนบอกว่าหลักการนี้คือความถูกต้อง แต่เราก็ไม่กล้าประกาศมันออกมา และไม่กล้าแสดงเหตุผลต่างๆ เพื่อปกป้องมัน อาจเพราะเราถูกพวกนักอนุรักษ์นิยมข่มขู่ไว้จนหัวหด ไม่กล้ามีปากมีเสียง หรืออาจเป็นเพราะเขาเป็นผู้อุปถัมภ์ของเรา คือเป็น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และเป็นพระ เป็นชนชั้นสูงที่คอยทำสิ่งต่างๆ ให้คนส่วนใหญ่ในสังคมที่ยังขาดแคลน ความรักและหนี้บุญคุณทำให้เราหมดสิทธิ์ที่จะโต้เถียงหรือตั้งคำถาม แต่นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องอีกเช่นกัน

ในตอนนี้ ความสว่าง ความดำมืด คงปนเปกันอยู่ในใจคุณ ลองทบทวนเรื่องทั้งหมดดูอีกสักครั้งสอง แล้วพิจารณาดูว่า คุณจะกล้าแหกออกมาจากระบบโซตัสหรือไม่ อย่าลืมว่า ไม่มีอะไรสำคัญยิ่งไปกว่าการมีความสุขให้มากที่สุดในชีวิตแต่ละวัน ไม่ใช่เพื่อตัวความสุขเอง แต่เพื่อที่จะได้มีพลังหาความหมายและคุณค่าของชีวิตด้วยตัวของคุณเองต่อไป

..................................

เมื่อมาถึงจุดนี้ ถ้าคุณยังไม่กล้าก้าวออกไปจากระบบโซตัส อุปสรรคที่แท้จริงก็คงจะมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือจิตใจของตัวคุณเอง และที่จริงนี่อาจจะเป็นทั้งหมดของปัญหา ที่จริงคำพูดว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” หรือคำพูดอะไรอื่นๆ ของสังคมอาจไม่ได้มีความหมายจริงๆ เลย คำพูดที่มีความหมายจริงๆ คือคำพูดที่คุณพูดกับตัวคุณเองว่า “ฉันอยากให้คนทั้งหลายรักฉันมากกว่าเกลียดฉัน” ดังนั้นทั้งหมดก็คือความต้องการความรักความชื่นชมจากคนรอบข้างต่างหากที่ผลักดันคุณเข้าหาสังคม นี่ต่างหากที่ทำให้คุณกลัวเสรีภาพ กลัวความเป็นปัจเจก กลัวการตัดขาดจากผู้อื่น กลัวที่จะต้องอยู่โดดเดี่ยว ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกไร้ค่า คุณต้องการคนอื่น เพื่อทำให้คุณรู้สึกว่าคุณมีตัวมีตนอยู่ในโลกนี้ น่าสงสัยเหลือเกินว่าความรู้สึกไร้ค่าของคุณมาจากไหน อาจเป็นเพราะคุณได้รับความรักมาน้อยไปสักนิดในวัยเด็ก อาจเป็นเพราะคุณขาดโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถ และศักยภาพต่างๆ ที่จะทำให้คุณภาคภูมิใจและเห็นค่าในสิ่งต่างๆ ที่คุณมีอยู่ภายในตนเอง แต่ไม่ว่าอย่างไร คุณควรเข้าใจว่านั่นเป็นสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว ขอให้คุณนึกว่า มนุษย์ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ศาสดา นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน นักปรัชญา นักวิชาการ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นผู้ที่ใช้เวลาในตอนเริ่มต้นของชีวิตตัดขาดจากสังคมทั้งสิ้น เพราะด้วยการตัดขาดจากสังคมเท่านั้นที่พวกเขาจะมีเวลาพัฒนาตนเอง แสวงหาสิ่งที่เขาเชื่อว่ามีค่าที่สุดสำหรับชีวิตโดยไม่สนใจว่าใครอื่นจะคิดอย่างไร แสวงหาสัจธรรม สร้างปัญญาความรู้ความสามารถ ที่จะนำกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับมวลมนุษย์คนอื่น พวกเขาอยู่เหนือความต้องการความรักจากผู้อื่นโดยสิ้นเชิง และพวกเขาต่างหากที่มีความรักให้มนุษย์ผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ และสำหรับบางคนแล้วเป็นความรักที่ไม่มีขอบเขตจำกัดเสียด้วยซ้ำ

คนที่เป็นชาวพุทธไม่ควรลืมเลยว่า เจ้าชายสิทธัตถะปฏิเสธความเชื่อของพระบิดา ครูบาอาจารย์และทุกคนในสังคมที่แวดล้อมพระองค์ที่ประสงค์ให้พระองค์ครองราชย์เป็นมหาราชา พระองค์เชื่อในคำตัดสินของพระองค์เองเท่านั้นว่าพระองค์ปรารถนาที่จะบรรลุธรรมเพื่อปลดปล่อยสัตว์โลกจากห้วงทุกข์ พระองค์เชื่อว่านั่นคือการมีชีวิตที่มีค่าที่สุดสำหรับสำหรับพระองค์เอง จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพระองค์ให้คนในสังคมมาตัดสินว่าอะไรคือสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้องสำหรับพระองค์

ถ้าเราศึกษาประวัติของคนที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย เราก็จะพบว่า พวกเขามักจะมีวัยเด็กที่บริบูรณ์ด้วยความรักและศิลปวิทยาการ ซึ่งน้อยคนนักในสังคมจะมีโอกาสเช่นนั้น จริงอยู่ว่า คุณอาจจะไม่เคยมีโอกาสดีเช่นพวกเขา แต่ก็ขอให้ดูพวกเขาเป็นบทเรียน และโอกาสก็ยังมีสำหรับคุณ ในมหาวิทยาลัย ศิลปวิทยาการอยู่แค่มือเอื้อมของคุณเท่านั้น อย่าไปเสียเวลาอยู่กับความเป็นทาส เพราะการเป็นทาสของสังคมนั้นไม่มีทางที่จะทำให้คุณมีชีวิตที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงได้เลย และสุดท้ายคุณจะลงเอยด้วยการเป็นนักแก่งแย่งแข่งขันอยู่ในสังคมเท่านั้น ในบั้นปลายคุณอาจเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน มีชีวิตที่มีเงินมากกว่าใคร แต่ก็จะหาความสุขจริงๆ ไม่ได้ เพราะเงินไม่อาจทำให้คุณรู้สึกว่ามีชีวิตที่มีคุณค่า และการให้เงินออกไปเท่าไรก็ไม่ทำให้คุณรู้สึกมีค่าถ้าคุณไม่ได้ให้ออกไปด้วยความรักในผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ใจ และด้วยเหตุเช่นนั้นแล้วปัญหาก็จะกลายเป็นว่า ทำอย่างไรคุณจึงจะสามารถเห็นว่าคนอื่นมีค่าสมควรแก่ความรักของคุณ เพราะในชีวิตที่ผ่านมาคุณรักเฉพาะคนที่ให้ความรักกับคุณเท่านั้น อะไรทำให้เราสามารถรักได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด คนเรารักได้น้อยเพราะเขาโชคไม่ดีเติบโตมาอย่างไม่มีโอกาสที่จะมีความสุขมากนักหรืออย่างไร เขาไม่มีความสุขเพราะเมื่อมีคนมาจำกัดความสุขของเขาแล้ว เขาไม่ยอมสู้เพื่อปกป้องความสุขของตนเองใช่ไหม

ปัญหาทุกอย่างของเราตอนนี้ดูเหมือนจะขมวดเขาด้วยกัน เราต้องการที่จะเข้าใจตนเอง ค้นพบตนเอง เพื่อที่จะปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการของสังคม เพื่อที่จะมีชีวิตที่มีความสุขและมีคุณค่า แต่คนอื่นๆ ในสังคมกลับต้องการใช้อำนาจบังคับเราให้ได้ดังความต้องการของเขา ความคิดของเขาปนถูกปนผิด คำพูดของเขาปนจริงปนเท็จ แต่เขาก็พยายามบังคับให้เราคล้อยตามมัน เราเองมีทั้งความกลัว ทั้งความกล้า ทั้งต้องการความรักความชื่นชม ความยกย่องจากพวกเขา แต่ก็ต้องการที่จะคิดตัดสินสิ่งต่างๆ ให้ตนเอง ไม่ชอบการถูกทำร้าย ทรมาน แต่ก็ทั้งอยากคล้อยตามต่อไป ทั้งอยากขัดขืน แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องพยายามบังคับนักหนา เขาหวังดีจริงหรือ จริงหรือเปล่าว่าเป็นเพราะเขาเคยมีชีวิตที่ไม่มีความสุขมาก่อน ดังนั้นการเข้าใจตนเองจึงเป็นการเข้าใจชีวิตทั้งชีวิต เข้าใจความต้องการของมนุษย์เมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เข้าใจความซับซ้อนในจิตใจของตนเองและของผู้อื่น ทำไมเขาจึงก้าวล่วงเข้ามาบังคับเราเช่นนี้ และไม่ใช่เพื่อที่จะชี้ความชั่วร้ายของเขา แต่เพื่อที่จะแสวงหาความเข้าใจตามหลักเหตุผล และมีเป้าหมายเพียงเพื่อที่จะเปลี่ยนชีวิตของเรา และของทุกคนที่ทุกข์ทรมานอยู่เพราะเหตุนั้น ให้ดีขึ้นในทางที่ถูกต้องดีงามไปพร้อมๆ กัน และเราก็จะพบว่านี่คือทางของการมีชีวิตที่มีคุณค่าที่แท้จริงไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะมันคือชีวิตของความรักที่บริสุทธิ์และไม่มีขีดจำกัด

แม้จะเป็นการกล่าวที่ไกลเกินไปข้างหน้าสักหน่อย แต่ขอให้คุณเข้าใจว่าความแตกต่างทางศีลธรรมที่กล่าวมาระหว่าง “นักอนุรักษ์นิยม” และ “นักเสรีนิยม” ไม่ใช่ความแตกต่างระหว่าง คนดีกับคนไม่ดี แต่เป็นความแตกต่างระหว่างคนดีที่แตกต่างกันในทัศนะคติเกี่ยวกับอำนาจ อำนาจคือความชั่วร้าย นักอนุรักษ์นิยมที่จริงใจนั้นคือคนที่เชื่อว่าเราสามารถอาศัยความชั่ว ซึ่งได้แก่การลงโทษและการบังคับมาสร้างความดีได้ ส่วนนักเสรีนิยมที่จริงใจนั้นคือคนที่ไม่เชื่อว่าเราสามารถสร้างความดีที่แท้จริงจากความชั่วใดๆ ได้ โลกตะวันตกได้เรียนรู้เรื่องนี้จากเหตุการณ์จริงๆ สองเหตุการณ์คือ การประหารชีวิตโสเครตีส และการประหารชีวิตพระเยซู บุคคลที่สูงส่งที่สุดสองคนถูกคนจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นคนดี เกลียดชังและฆ่าจนตาย ก็เพราะเขาสอนความดีที่สูงกว่าที่คนพวกนั้นสามารถเข้าใจได้ และคนพวกนั้นก็เข้าใจผิดว่าความดีที่พวกเขาสอนนั้นเป็นอันตรายต่อสังคม การเรียนรู้ว่าความคิดเรื่องความดีสามารถขัดแย้งกันเองได้เป็นสิ่งที่นักทฤษฎีทางจริยศาสตร์รู้ดีอยู่แล้ว แต่การที่มันสามารถพาไปสู่โศกนาฏกรรมและความหมายของชีวิตที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงนั้นได้รับการอธิบายโดยปรัชญาแห่งการดำรงอยู่ หรือปรัชญาอัตถิภาวะนิยม ( existentialism ) และเคยถูกนำเสนอไว้ในวรรณกรรมทางศีลธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกตะวันตก Les Miserables ของวิคเตอร์ ฮูโก (Victor Hugo) (เราจะได้พูดถึงเรื่องทั้งหมดนี้อย่างละเอียดในภายหลัง) ปัญหาจริงๆ สำหรับเราคือ ในความรักเราย่อมต้องการสิ่งที่ดีต่อคนที่เรารัก แต่ทำไมเราจึงคิดว่าเราจึงควรใช้การบังคับและการลงโทษเพื่อสร้างความดีในคนที่เรารัก ถ้าพ่อแม่ครูบาอาจารย์รุ่นพี่หรือเพื่อนทำสิ่งนี้กับเรา เขาทำถูกหรือ และคุณเองเริ่มมีความเชื่อไปในทางใดทางหนึ่งแล้วหรือยัง ข้ออภิปรายของเราเกี่ยวกับชีวิตที่มีค่าที่ผ่านมา ลงเอยที่คำถามว่าทำไมคนบางคนจึงรักได้กว้างและคนบางคนจึงรักได้แคบ เป็นไปได้ไหมว่า คนที่มีความเชื่อแบบที่นิยมอำนาจจะมีความรักให้กับเฉพาะคนที่ยอมอยู่ใต้อำนาจของเขาเท่านั้น แต่คนที่ไม่เชื่อในอำนาจนั้นจะสามารถรักคนได้กว้างกว่า ถ้าเช่นนี้เราก็พอมีคำตอบบางส่วนให้กับเรื่องชีวิตที่มีค่าที่แท้จริงแล้ว

ในหนังสือเล่มนี้ แม้จะมีการใช้ถ้อยคำแบ่งแยกผู้คนผู้คนบ้าง แต่ก็ไม่มีเจตนาที่จะแบ่งคนเป็นฝ่ายถูก ฝ่ายผิด คนดี คนเลว อย่างเด็ดขาด เพราะที่สุดแล้วก็คือการที่จะชี้ว่าคือคนที่รักได้กว้าง และคนที่รักได้แคบ คนที่กระหายอำนาจมาก กระหายอำนาจน้อย ต่างกัน คนที่เข้าถึงความจริงและความดีต่างระดับกัน โอกาสยังมีอยู่เสมอที่ทั้งสองฝ่ายที่ต่างกันเพียงในระดับของสิ่งต่างๆ จะช่วยกันชี้และแก้ไขความผิดของกันและกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันตามครรลองของเหตุผล เพราะเราทุกคนก็คือมนุษย์เท่าๆ กัน.



--------------------------------------------------------------------------------

[1] ถ้าคำว่า “ศีลธรรมจอมปลอม” ฟังดูรุนแรงเกินไป เราก็อาจทำให้อ่อนลงได้ เช่น ใช่คำว่า “ศีลธรรมที่เป็นเท็จ” “ศีลธรรมที่ไม่จริง” “ศีลธรรมที่ผิดปกติ” คำที่อ่อนที่สุดน่าจะเป็น “ศีลธรรมที่ไม่บริสุทธิ์” ในสาขาวิชาจริยศาสตร์มีทฤษฎีจริยศาสตร์ประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “ศีลธรรมแบบอัตนิยม” หมายถึงศีลธรรมที่ซ่อนประโยชน์ส่วนตัวของผู้สอนหรือผู้สร้างคำตัดสินทางศีลธรรมไว้เบื้องหลัง ซึ่งเป็นศีลธรรมที่ไม่แท้จริง ในทางพุทธศาสนา พระอรหันต์อยู่เหนือศีลธรรม เพราะศีลธรรมเป็นความจริงระดับโลกียะ ปุถุชนยังมีมิจฉาทิฐิจึงมีศีลธรรมที่จริงปนเท็จ มากบ้างน้อยบ้าง ต่างกันออกไป
最終更新日時: 2012年 07月 24日(Tuesday) 20:37