ตัดตอนจาก บทที่ 1

.......................................

คุณควรจะหาความสุขในอะไรบ้าง เมื่อถูกถามว่าชีวิตของคุณมีคุณค่าอย่างไรบ้าง นักศึกษามักตอบว่า ชีวิตเขามีค่าเพราะเขามีความสุขในการทำสิ่งต่างๆ ที่เขาต้องการที่ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน การตอบเช่นนี้แสดงความสับสนระหว่างความสุขกับคุณค่า การมีชีวิตที่มีความสุข กับการมีชีวิตที่มีคุณค่าเป็นของคนละอย่างกัน แต่คนที่ไม่มีความสุขในชีวิตเลย คงยากที่จะต้องการทำให้ชีวิตของตนเองมีคุณค่า ดังนั้นก่อนจะพูดเรื่องชีวิตที่มีค่าเราต้องพูดเรื่องชีวิตที่มีความสุขก่อน หลักการที่นักศึกษากล่าวมาจึงเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดที่สามัญสำนึกของคนทุกคนบอกต่อตนเองว่า เรามีสิทธิที่จะทำทุกอย่างที่เป็นความสุขของตนเองตราบเท่าที่เราไม่ได้ทำร้ายต่อใครโดยตรง นี่คือหลักการของความไม่สมควรที่จะต้องถูกลงโทษ หรือเรียกง่ายๆ ว่าหลักขันติธรรม ( Tolerance ) ซึ่งก็คือหลักการของลัทธิเสรีนิยมทางศีลธรรม หมายถึง ศีลธรรมต้องให้เสรีภาพต่อบุคคลมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ต้องไม่ลงโทษต่อเสรีภาพของใคร ตราบเท่าที่การใช้เสรีภาพนั้นไม่ไปทำร้ายผู้อื่นโดยตรง ยกตัวอย่างง่ายๆ เพศสัมพันธ์นอกสมรสที่มีความระมัดระวังทุกประการที่จะไม่ให้เกิดผลร้ายตามมา และเป็นความสมัครใจของสองบุคคล ย่อมไม่ได้ทำร้ายใครโดยตรง นั่นก็คือ เมื่อมันไม่ได้สร้างให้เกิดการจองเวรเกิดขึ้นตามหลักเบญจศีล ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ผิด แม้ว่าสองบุคคลจะไม่มีเจตนาที่จะอยู่เป็นคู่ชีวิตกันต่อไป ดังนั้นฟรีเซ็กซ์ ( Free Sex) ที่มีสติ รวมทั้งการซื้อขายบริการทางเพศด้วย ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่หลักเบญจธรรมก็บอกว่ามนุษย์ควรจะรักษาพรหมจรรย์ คือควรจะมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของตนเท่านั้น ซึ่งควรจะหมายความว่า ผู้ที่ตนรักและตัดสินใจที่จะครองชีวิตร่วมด้วย แม้อาจก่อนสมรสก็ตาม ซึ่งหมายถึงความซื่อสัตย์ต่อความรักของตน ซึ่งหมายความว่าถ้ามีคู่รักแล้วฟรีเซ็กซ์ และการซื้อขายบริการทางเพศก็เป็นสิ่งที่ไม่ควร แม้อาจไม่สร้างให้เกิดการจองเวรต่อกันก็ตาม แต่ประเด็นหลักของลัทธิเสรีนิยมทางศีลธรรมที่ทำให้มันต่างจากหลักอนุรักษ์นิยมทางศีลธรรมก็คือ เมื่อพ้นจากการสร้างการจองเวร ซึ่งได้แก่ การทำร้ายผู้อื่นโดยตรงแล้ว คุณธรรมทางเพศเป็นเรื่องของเสรีภาพที่เจ้าตัวพึงตัดสินใจเอาเองโดยสังคมไม่พึงเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยเหตุทั้งปวง ลัทธิอนุรักษ์นิยมใช้อำนาจเข้าบังคับอย่างไม่สนใจเสรีภาพส่วนบุคคล ไม่ว่าจะในระดับใด ตราบใดที่คุณอยู่ในชนชั้นที่ต่ำค่าในความเป็นมนุษย์มากกว่าพวกเขา นั่นก็คือ ตราบใดที่คุณเป็นคนพวกที่พวกเขาเชื่อว่าไม่อาจจะดีได้ด้วยตัวเองเหมือนเขา (หรือไม่เช่นนั้น เขาก็กำลังบังคับคนอื่นให้บริสุทธิ์สะอาดเหมือนอย่างเขา)

คุณคงรู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นความสุขที่ไม่ได้ไปทำร้ายใคร หรือไป “หนักหัว” ใครเลย สังคมตะวันตกยอมรับเสรีภาพพวกนี้ เพราะถือหลักเสรีนิยมทางศีลธรรม สังคมไทยไม่ยอมรับเพราะเป็นสังคมชนชั้น และถือหลักอนุรักษ์นิยมทางศีลธรรม ในสังคมตะวันหลักแห่งเสรีภาพได้รับการประกาศอย่างชัดเจนและมีการปกป้องกันอย่างเต็มที่ ในสังคมไทย สามัญสำนึกของเราทุกคนบอกว่าหลักการนี้คือความถูกต้อง แต่เราก็ไม่กล้าประกาศมันออกมา และไม่กล้าแสดงเหตุผลต่างๆ เพื่อปกป้องมัน อาจเพราะเราถูกพวกนักอนุรักษ์นิยมข่มขู่ไว้จนหัวหด ไม่กล้ามีปากมีเสียง หรืออาจเป็นเพราะเขาเป็นผู้อุปถัมภ์ของเรา คือเป็น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และเป็นพระ เป็นชนชั้นสูงที่คอยทำสิ่งต่างๆ ให้คนส่วนใหญ่ในสังคมที่ยังขาดแคลน ความรักและหนี้บุญคุณทำให้เราหมดสิทธิ์ที่จะโต้เถียงหรือตั้งคำถาม แต่นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องอีกเช่นกัน

…………………………………………

ตัดตอนจาก บทที่ 3

เราได้เห็นจากการศึกษาประวัติศาสตร์ความพ่ายแพ้ของลัทธิคอมมิวนิสต์ มาแล้วว่า “ โลก ” ถูกสร้างขึ้นด้วยความคิดความเชื่อในเรื่องของสิ่งที่มีค่า หมายถึงความคิดว่าอะไรน่าปรารถนาเหนือกว่าอะไร เราอาจจะกล่าวว่าโลกของสัตว์ถูกกำหนดโดยสัญชาติญาณ แต่โลกของมนุษย์ถูกกำหนดโดยความคิดความเชื่อที่มนุษย์สร้างขึ้นมา แล้วนำมาใช้สนับสนุน ตอบสนอง หรือขัดขวางต่อสัญชาติญาณ อีกทีหนึ่ง เมื่อความคิดความเชื่อหลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิต ก็กลายเป็นวัฒนธรรมจารีตประเพณี และกลายมาเป็นโครงสร้างทางสังคม โครงสร้างของอำนาจทางการเมือง โครงสร้างทางความคิด ซึ่งกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคม อย่างที่แบ่งแยกกันด้วยสถานะบทบาท เป็น ชาย หญิง เจ้า ไพร่ ผู้น้อย ผู้ใหญ่ นายจ้าง ลูกจ้าง แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียมกันในเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ( human dignity ) ได้รับการจัดสรรแบ่งปันความสุขอย่างไม่เท่าเทียมกัน ขอให้เราลองมาดูตัวอย่างจากความคิดความเชื่อที่กำหนดรูปแบบโครงสร้างความสัมพันธ์ของชายหญิง

ผู้ชาย ผู้หญิง พบกัน รักกัน แต่งงานกันเป็นครอบครัว นี่ดูเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ในสถานะของการเป็นภรรยา หรือผู้ที่จะเป็นภรรยาของใครสักคนในอนาคต เราจะพบว่าในทุกอารย ะ ธรรมใหญ่ๆ ของมนุษย์ มีการกำหนดให้ผู้หญิงมีสถานะที่ต่ำกว่าผู้ชาย คือเป็นสมบัติของผู้ชาย กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือสังคมฮินดูของอินเดีย ผู้หญิง “ ที่ดี ” ถูกสังคมกำหนดว่าต้องกระโดดเข้ากองไฟตายตามสามีในพิธีสตี หรือ ในสังคมอาหรับผู้หญิงไม่มีอิสระในการแต่งกาย และในอะไรอื่นๆ อีกมากมาย ลูกสาวเป็นสมบัติของพ่อแม่ที่จะบังคับให้แต่งงานกับใครก็ได้ ในสังคมไทย ผู้หญิงยังถูก(หรือเคยถูก)บังคับให้แสดงการเป็นสมบัติของผู้ชายด้วยการเปลี่ยนคำนำหน้าจาก “ นางสาว ” เป็น “ นาง ” แต่แม้เมื่อหย่าขาดเป็นอิสระแล้ว ก็ไม่สามารถกลับมาใช้คำนำหน้าว่า “นางสาว” ได้ ต้องมีคำตีตราไว้อย่างเป็นทางการว่าไม่ใช่หญิงพรหมจรรย์ และเคยเป็นสมบัติของผู้ชายมาแล้ว ยิ่งกว่านั้น กฎหมายไทยยังอนุญาต (หรือเคยอนุญาต) ให้สามีฆ่าภรรยาและชายชู้ได้ โดยไม่ถูกลงโทษรุนแรง แต่ถ้าภรรยาฆ่าสามีและหญิงชู้ กลับต้องรับโทษเต็มความผิด เพียงเพราะว่า ผู้ชายมีเกียรติและศักดิ์ศรีในสังคมที่จะต้องปกปักษ์รักษา แต่ผู้หญิงไม่มี ในสังคมไทย พฤติกรรมทางเพศของผู้หญิงผู้ชายจะถูกตัดสินถูกผิดด้วยมาตรฐานคนละอย่าง ผู้หญิงไม่มีอิสระทางเพศอย่างที่ผู้ชายมี ผู้ชายที่มีการศึกษามีฐานะ เป็นที่หมายปองแก่งแย่งกันของผู้หญิง เห็นได้จากการที่ในละค ร โทรทัศน์จะต้องมี “ นางอิจฉา ” แต่ไม่มี “ นายอิจฉา ” ทุกละครจะต้องมี “นางอิจฉา” แสดงบทเป็น “ นางร้าย ” เพื่อบอกให้รู้ว่าผู้หญิงที่ดีจะต้องเป็นคนอย่างไร ทั้งๆที่ปมหลักของเรื่องจะเป็นความขัดแย้งระหว่างพระเอกกับนางเอกเท่านั้นก็ตาม

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความแตกต่างกันของเกียรติ ศักดิ์ศรี คุณค่าของมนุษย์ที่เกิดในสถานภาพต่างๆ เช่น เป็นหญิง เป็นชาย เป็นเจ้า หรือไพร่ นาย หรือบ่าว ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ได้รับการอ้างเหตุผลรองรับด้วยความเชื่อทางศาสนา ศาสนาให้คำอธิบายที่เรียกว่า “ จักรวาลวิทยา ” ที่อธิบายว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีกำเนิดมาอย่างไร ลองดูตัวอย่างจากศาสนาคริสต์ อดัมเป็นผู้ชาย ถูกสร้างขึ้นตาม “ ฉายา ” ของพระเจ้า อีฟ เป็นผู้หญิง ถูกสร้างขึ้นให้มาเป็น “ เพื่อน ” ของอดัม และสร้างขึ้นมาจากกระดูกซี่โครงของอดัม เห็นได้ชัดว่าศาสนาคริสต์ให้คำอธิบายรองรับสถานะและอำนาจที่เหนือกว่าของเพศชาย ยิ่งกว่านั้นในศาสนาคริสต์ สัตว์อื่นๆ ก็ล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารและรับใช้มนุษย์ ศาสนาฮินดูมีจักรวาลวิทยาที่สลับซับซ้อนน่ามหัศจรรย์ รองรับระบบชนชั้นวรรณะทั้งระบบ ทำให้ชนชั้นจัณฑาลเป็นผู้ที่ต่ำค่า จนชนชั้นอื่นสัมผัสแตะต้องไม่ได้ มีค่าเท่ากับผงธุลีดินที่สกปรก จึงไม่น่าแปลกที่ศาสนาฮินดูจะกำหนดให้ภรรยาจะต้องติดตามไปรับใช้สามีในโลกหน้า ในศาสนาพุทธผู้หญิงถูกตราหน้า ว่าเกิดเป็นหญิงเพราะสร้างบุญสร้างกุศลไว้น้อยในชาติก่อน ส่วนเจ้าพระยามหากษัตริย์คือผู้ที่ “ มีความเมตตาอันมหาศาลต่อมวลสัตว์และได้สั่งสมบุญญาบารมีไว้อย่างเหลือคณานับ ” จึงได้เกิดมามีฤทธิ์อำนาจเหนือผู้อื่นในแผ่นดิน ในศาสนาฮินดู กษัตริย์คือ “ เทพ ” จุติมาเกิดเพื่อปราบ “ มาร ” ในศาสนาคริสต์ กษัตริย์คือผู้ที่พระเจ้าเลือกและมอบอำนาจให้ปกครองหมู่มนุษย์ นี่คือที่มาของความคิดเรื่องเทวาสิทธิราชที่ใช้รับรองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่เพิ่งจบลงไปในยุคประชาธิปไตย

ยุคประชาธิปไตย มาพร้อมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจช่วยลดอำนาจของความคิดความเชื่อทางศาสนาลงบ้าง แต่ความเชื่อทางศาสนาก็ยังคงเป็นคำสอนหลักทางศีลธรรม มีอิทธิพลผ่านทางขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่ประสมกลมกลืนกับวิถีชีวิต วางโครงสร้างและกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม และได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาในฐานะวัฒนธรรม แต่ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างที่เราเห็นในความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและชายในทุกสังคม ในแง่นี้ระบบประชาธิปไตย คือการพัฒนาของระดับความคิดและความสำนึกทางสังคมของคนในสังคม และเป็นอุดมคติทางศีลธรรมที่ชี้ทางให้กับการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สภาวะที่ดีกว่าเดิม สังคมตะวันตกจึงเป็นตัวอย่างให้แก่สังคมอื่นในแง่ของพัฒนาการทางศีลธรรมของคนในสังคม

ในสังคมตะวันตก ผู้หญิง รวมตัวกันต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิทางการเมืองที่เสมอภาคทัดเทียมกับผู้ชาย ตั้งคำถามต่ออคติทางเพศ ที่ทำให้ผู้ชายมีอิสระทางเพศมากกว่าผู้หญิง ทำให้ทั้งสังคมตั้งคำถามต่อความเข้มงวดทางเพศทุกชนิด นำไปสู่การปฏิวัติในเรื่องของวัฒนธรรมทางเพศ ที่ทำให้ค่าของผู้หญิงไม่ถูกตัดสินด้วยพรหมจรรย์ เปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ทำให้หญิงชายสามารถอยู่ร่วมกันเพื่อเรียนรู้นิสัยใจคอของกันและกัน ก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงาน คือก่อนการที่จะสร้างพันธะทางกฎหมายระหว่างกัน โดยผู้หญิงไม่ถูกสังคมตัดสินว่าประพฤติในสิ่งที่ผิดศีลธรรม

กล่าวได้ว่าการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ในความเป็นจริงทางป ฏิ บัติ ในโลกตะวันตก ได้จบสิ้นลงแล้ว แต่ก็ยังมีการต่อสู้ในขั้นต่อไป คือในขั้นของความเป็นจริงที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ของอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน นั้นคือ ภาษา ที่เราใช้สื่อสารกันในสังคมสะท้อนโครงสร้างของวิธีคิดและโครงสร้างของการกระจายอำนาจในสังคม ใครเป็นใหญ่ ใครเป็นรอง ใครเป็นผู้มีอำนาจ ใครเป็นผู้ไร้อำนาจ ใครมีสถานะเหนือใคร ซึ่งภาษาอังกฤษเองก็สะท้อนว่าผู้ชายเคยมีอำนาจเหนือผู้หญิง สัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดก็คือในคำนำหน้าชื่อที่เป็นทางการ คือ คำว่า Mister Mrs Miss ซึ่งตรงกับ นาย นาง นางสาว ซึ่งเท่ากับการกำหนดว่า ผู้หญิงต้องบ่งบอกสถานะว่าสมรสมาแล้วหรือยังไม่เคยสมรสต่อสังคม ในขณะที่ผู้ชายไม่ต้อง ดังนั้นผู้หญิงตะวันตกจึงต่อสู้ด้วยการสร้างคำว่า Ms ซึ่งเป็นคำกลางๆ ไม่บ่งบอกสถานะการสมรส ซึ่งเท่ากับการบ่งบอกว่า ความเป็นบุคคล หรือความเป็นตัวตนของผู้หญิงในสังคม ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงว่าแต่งงานแล้วหรือยังไม่ได้แต่งงาน หรือหากสังคมคิดว่าเกี่ยว สังคมก็ต้องกำหนดให้ผู้ชายต้องเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ เพื่อแสดงสถานะสมรสเหมือนกัน ดังนั้น นี่จึงเป็นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันในระดับสัญลักษณ์ ซึ่งก็ทำให้คำที่เคยใช้บ่งบอกตำแหน่งหน้าที่ว่าเป็นของผู้ชายเป็นหลัก ก็ต้องเปลี่ยนเป็นคำกลาง ๆ แทน เช่น การใช้คำว่า person แทนในคำประสมที่มีการใช้คำว่า man เป็นส่วนประกอบ เช่น chairman ต้องเปลี่ยนมาเป็น chairperson หรือ spokesman เปลี่ยนมาเป็น spokesperson เป็นต้น

ในสังคมไทย วัฒนธรรมแบบศักดินา ( feudalism ) และวัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่ ( patriarchy ) ที่ตกทอดมาจากอดีต กำลังต่อสู้กับวัฒนธรรมแห่งความเสมอภาค ( egalitarianism ) ซึ่งสูงค่ากว่าทางศีลธรรม แต่ดูเหมือนว่าวัฒนธรรมเก่าและจิตสำนึกแบบเก่าจะยังมีอำนาจเหนือประชากรส่วนใหญ่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังคงยอมรับวิถีป ฏิ บัติและค่านิยมแบบชนชั้นที่กำหนดโดยคนที่มีอำนาจเหนือตน เหมือนกับที่ผู้หญิง ส่วนใหญ่ยังคงไม่ตั้งคำถามและยอมรับค่านิยมที่กำหนดสร้างขึ้นเพื่อความได้เปรียบของผู้ชาย ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่คิดที่จะต่อสู้เพื่อความเสมอภาคและความมีอำนาจที่เท่าเทียมกัน ภาษา ไทยยังคงเต็มไปด้วยสัญลักษณ์แห่งความแตกต่างในอำนาจและสถานะ เราเรียกคนที่ดำรงตำแหน่งสูงทางการเมืองและการบริหารประเทศว่า พณฯท่าน ซึ่ง ย่อมาจากคำว่า “พ่อเหนือหัวเจ้าท่าน” เช่นเดียวกับการเรียกตนเองว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” เพื่อเป็นการแสดงความต่ำต้อยอย่างที่สุดของตนเอง เสมือนกับเป็นคนในชนชั้นจัณฑาลของอินเดีย เพื่อเปรียบเทียบกับความสูงส่งกว่าของผู้ที่ตนกำลังพูดด้วย การที่ผู้พูดสามารถใช้ถ้อยคำลักษณะเช่นนี้ได้ด้วยความรู้สึกจากใจจริง แสดงกรอบหรือโครงสร้างของวิธีคิดทางศีลธรรมซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งเราจะพยายามอธิบายต่อไปในตอนท้ายของหนังสือ

แต่แม้ว่าคุณจะถูกปลูกฝังมาให้คิดเช่นนั้นรู้สึกเช่นนั้น แต่ความรู้สึกจากใจจริงของคุณเป็นอย่างไร คุณคิดว่า ผู้หญิง ควรจะรู้สึกเสมอภาคหรือไม่เสมอภาคกับผู้ชาย ? มนุษย์เราควรจะรู้สึกถึงเกียรติและศักดิ์ศรี ว่าเท่าเทียมกันหรือเหลื่อมล้ำกันเป็นระดับชั้น ? ถามจิตใจของคุณเองอย่างบริสุทธิ์ที่สุด คิดถึงความสุขความทุกข์ของคนทุกคน ด้วยความรักที่คุณมีต่อชีวิตอื่น คุณจะตอบว่าอย่างไร ? นี่คือสิ่งในสังคมที่เราควรแก้ไขหรือรักษาให้คงไว้ ? สังคมดีเพียงพออยู่แล้วสำหรับทุกคนหรือสังคมยังไม่ดีเพียงพอ ? ถ้าคุณตอบว่า สังคมดีเพียงพอแล้ว คุณปิดตาตนเองต่อความทุกข์ความเจ็บปวดของใครหรือไม่ ? ถ้าคุณตอบว่าสังคมยังดีไม่พอ เราเองคือผู้ที่จะต้องเข้าร่วมแก้ไข ด้วยการแสดงออกว่า เราไม่ยอมรับการปฏิบัติที่เอารัดเอาเปรียบของผู้ชายต่อผู้หญิง เราไม่ยอมรับการปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์แตกต่างกันในเกียรติและศักดิ์ เราไม่ยอมรับในความเชื่อทางศาสนาหรือความเชื่อทางปรัชญาที่กำหนดว่าผู้ชายมีสถานะเหนือผู้หญิง หรือที่กำหนดว่ามนุษย์มีค่ามีเกียรติและศักดิ์ศรี ไม่เท่าเทียมกัน และเราจะเข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้ผู้หญิงผู้ชายและคนทุกคนในสังคมได้รับการกระจายความสุขอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน นี่ไม่ใช่การปฏิเสธความเชื่อทางศาสนาทั้งหมด แต่ปฏิเสธเฉพาะส่วนที่ขัดกับเหตุผลที่เป็นความรู้สึกทางศีลธรรมจากใจจริงของเรา ซึ่งเราสงสัยว่ามีการนำเอาอคติและการเอารัดเอาเปรียบไปซ่อนใส่ไว้ หรือมีการตีความเจตนาของคำสอนทางศาสนาหรือปรัชญาอย่างผิดๆ [1] สรุปก็คือ เรามีหน้าที่ที่จะต้องสร้างโลกใหม่ด้วยความเชื่อและการปฏิบัติที่ต่างไปจากเดิม

................................................

ตัดตอนจาก บทที่ 4

ในเรื่องความกลัวต่อความเท็จนั้น มิลล์กล่าวว่า การปิดกั้นความเท็จคือการปิดกั้นปัญญาของมนุษย์ที่จะเรียนรู้และเข้าใจความจริง เพราะความจริงจะปรากฏเป็นความจริงอย่างชัดเจนที่สุด ก็แต่เพียงเมื่อมีความเท็จมาวางเคียงข้างให้เห็นความแตกต่างเท่านั้น หมายความว่า เราไม่อาจเห็นความจริงอย่างชัดเจนได้เมื่อมันปรากฏอยู่แต่เพียงลำพัง คือเมื่อไม่มีใครได้รับอนุญาตให้พูดถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามกับมันได้ ความกลัวต่อความเท็จจึงเป็นความกลัวของคนขี้ขลาด เป็นความกลัวที่ทำร้ายตนเอง ดังนั้น เราจะต้องกล้าเผชิญหน้ากับคำพูดทุกชนิดและใช้ปัญญาเข้าตรวจสอบหาความจริงจากมัน ถ้าเรากลัวความเท็จ หรือขี้เกียจคิด เราก็จะไม่มีวันมีปัญญาที่แท้จริงเลย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการใช้สติปัญญาเข้าตรวจสอบหาความจริงไปเรื่อยๆ ชีวิตเราจึงจะพบกับสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง ดังคำกล่าวของโสเครตีสว่า “ชีวิตที่ไม่มีการตรวจสอบคือชีวิตที่ไร้ค่า” และดังนั้นเสรีภาพในการพูดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะหากไม่มีเสรีภาพในการพูด ความสามารถในการคิดก็จะถูกทำลายลงไปด้วย เพราะหากคิดไปแล้วก็พูดออกไปไม่ได้ ก็ไม่รู้จะคิดไปทำไม และไม่มีใครจะมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อให้ความคิดพัฒนา [2]

ดังนั้น ขอให้เรามาลองตั้งคำถาม ตามแบบของโสเครตีส ต่ออะไรบางอย่างที่สังคมไทยเรียกร้องต่อเราอย่างเหลือเกิน นั่นก็คือเรื่องของเพศสัมพันธ์

สังคมไทยเรียกร้องให้คนหนุ่มคนสาวยึดถือเรื่องเพศสัมพันธ์ ว่าเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธ์ เป็นคุณค่าที่ตัดสินความดีงามของบุคคล การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานถือเป็นการกระทำที่ผิดต่อจารีตประเพณี ผิดต่อขั้นตอนที่ดีงามของชีวิต แต่ข้อเรียกร้องที่จำกัดควบคุมเสรีภาพทางเพศ ของคนหนุ่มสาวนี้ ก็ ดู เหมือน จะมุ่งไปที่ผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย นี่อาจจะเป็นสิ่งที่สืบทอดมาจาก “ ค่านิยมพรหมจรรย์ ” ซึ่งถ้าใช้แนวคิดเรื่องอำนาจเข้ามาวิเคราะห์ก็อาจจะตัดสินว่า เกิดขึ้นจากอดีตที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในสังคม และเป็นผู้ ถือครองทรัพยากรของสังคม จึง มีอำนาจที่จะสร้างค่านิยมให้ผู้หญิงถือปฏิบัติ เพื่อผลประโยชน์ของฝ่าย ตน แต่เราเคยกล่าวถึงการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสัญลักษณ์ของอำนาจที่แสดงออกในภาษา ซึ่งสังคมของเราก็ก้าวตามตะวันตกไปแล้วโดยการให้ผู้หญิงสามารถเลือกใช้คำนำหน้าว่านางสาว หรือ นาง ได้ตามสมัครใจ สามารถใช้นามสกุลของตนเองหรือนามสกุลของสามีก็ได้ ซึ่งก็เป็นอะไรที่แปลก เพราะเราเปลี่ยนแปลงทางสัญลักษณ์ตามโลกตะวันตก โดยที่ยังไม่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมทางเพศสัมพันธ์เลย ในขณะที่ในโลกตะวันตก การปฏิวัติของวัฒนธรรมทางเพศสัมพันธ์ เกิดก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเสมอภาคในเชิงสัญลักษณ์ของอำนาจ เป็นเวลานานมาก [3]

เรา ควร จะสมมติ ว่า ความต้องการที่จะให้เพศสัมพันธ์เป็นเรื่องศักดิ์สิทธ์มีความเป็นจริงบางอย่างรองรับที่มากกว่า เรื่องของอำนาจที่แตกต่างระหว่างสองเพศ สามารถที่จะเป็นเรื่องของความคิดความต้องการที่เสมอกันของชายและหญิง เช่น เป็นเรื่องของความรัก การสร้างครอบครัว และชีวิตคู่ ที่ชายและหญิงจะเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ ร่วมกัน

ในสังคมตะวันตก แม้ชายและหญิงจะมีเสรีภาพทางเพศอย่างเท่าเทียมกัน แต่ความต้องการให้เพศสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธ์ก็ยังคงมีอยู่ ตัวอย่างเช่น เมื่อภัยของโรคเอดส์เริ่มเป็นที่ตระหนัก เคยมีกระแสของการชักชวนจากกลุ่มเคร่งศาสนา - อนุรักษ์นิยมที่ข้ามทวีป มาชักชวนให้เยาวชนคนหนุ่มสาวในเอเชียเข้าร่วมสร้างพันธะสัญญาสาบานตนว่าจะรักษาพรหมจรรย์ และจะมีเพศสัมพันธ์ต่อเมื่อเข้าสู่การสมรสแล้ว และมีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคู่สมรสเท่านั้น แต่ก็ดูเหมือนว่ากระแสอนุรักษ์นิยม นี้จะไม่สามารถพาสังคมตะวันตกส่วนใหญ่ ให้ย้อนกลับไปสู่การเป็นสังคมอนุรักษ์นิยม-ศักดิ์สิทธ์นิยมในเรื่องเพศได้สำเร็จแต่ประการใด แต่ก็ทำให้สังคมเห็นว่าทัศนะคติต่อเพศสัมพันธ์เป็นทางเลือกส่วนบุคคล คือบุคคลเลือกเอาเองที่จะเป็นนักอนุรักษ์นิยมหรือนักเสรีนิยมทางเพศ ซึ่งก็ช่วยทัดทานค่านิยมที่ผิดๆ ของเยาวชนที่เห็นเรื่องเพศสัมพันธ์ ว่าเป็นเรื่องของความโก้เก๋ เหมือนเรื่องของ เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ใช้อวดกัน เพื่อแสดงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่เหนือกว่าผู้อื่น ทำให้วัยรุ่นในตะวันตกเห็นว่านี่คือการเลือกของตนเองที่แตกต่างกัน ในการให้คุณค่าต่อเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่เรื่องของการเป็นคนหัวโบราณ เชย ล้าสมัย

ไม่ว่าจะอย่างไร การสร้างให้พรหมจรรย์เป็นเรื่องศักดิ์สิทธ์ในแบบสมัยโบราณเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะมนุษย์ไม่มีความเชื่อในอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติ ภูติ ผี ปีศาจ ที่ควบคุมลงโทษมนุษย์จากภายนอก ปิดกั้นมนุษย์จากการหาความสุขทางเพศ อีกแล้ว จะมีได้ก็แต่ความศักดิ์สิทธ์ที่เกิดจากการรับรู้ถึงความดีงามบางอย่าง ที่ผู้คนรู้สึกและเลือกที่จะผูกพันตนเองจากภายในเท่านั้น และสิ่งที่วิทยาศาสตร์ให้กับเราได้ในเรื่องนี้ก็มีแต่วิชาสุขศึกษา เพศศึกษา และการวางแผนครอบครัวเท่านั้น ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าวิทยาศาสตร์จะสนับสนุนฟรีเซ็กซ์ที่รู้จักระวังควบคุมตนเองไม่ให้ติดโรคและตั้งครรภ์ด้วยซ้ำไป จึงดูเหมือนว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับสถานะการณ์ที่ ทางหนึ่งก็คือทำให้เรื่องเพศสัมพันธ์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างสมบูรณ์ห้ามตั้งคำถามแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง อีกทางหนึ่งคือเห็นเป็นสิ่งที่ไม่มีสาระแก่นสาร ปราศจากคุณค่าจนจะทำอย่างไรก็ได้ ทางที่หนึ่งใช้ศรัทธาและอารมณ์เป็นตัวนำอย่างไร้ปัญญา ทางที่สองก็ใช้ปัญญาอย่างไม่จริงใจเพื่อพาไปสู่การหาประโยชน์หาความสุขใส่ตัวไปตามอำเภอใจ

แต่เราก็มีทางที่อยู่ตรงกลาง เหมือนที่โสกราตีสอยู่ตรงกลางระหว่างพวกที่ถือศีลธรรมแบบศักดิ์สิทธิ์นิยม และพวกโซฟิสต์ที่ใช้เหตุผลแบบที่เห็นศีลธรรมเป็นสิ่งไร้แก่นสาร เราควรเชื่อว่าสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นคุณธรรมความดีงามจะต้องมีเหตุผลบางอย่างอยู่เบื้องหลัง ที่สามารถเข้าใจได้ด้วยการใช้ปัญญา ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์อย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเราจะไม่ยอมจำนนง่ายๆ ต่อเหตุผลและวาทะศิลป์ที่จะพาไปสู่ความว่างเปล่าไร้คุณค่า หน้าที่ของเราคือการคิดค้นหาเหตุผลสำหรับการมีคุณธรรมทางเพศ ด้วยการทำความเข้าใจความเป็นจริงต่างๆ ในตัวเราอย่างละเอียด ใช้ความรู้สึกจากส่วนลึกของจิตใจถามหาความต้องการที่แท้จริงของเราอย่างยุติธรรมต่อตนเอง อย่าคิดเข้าข้างความต้องการบางอย่างของตนเอง อย่างที่เราก็รู้ว่าจะพาไปสู่โทษ โสกราตีส เตือนเราว่า ถ้าเราไม่รู้จักตัวเราเองอย่างแท้จริง เราก็อาจหลงเห็นสิ่งที่เป็นโทษว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเราก็ได้ เราอาจจะหลงไปกับผลได้เฉพาะหน้า และลืมความต้องการของเราในระยะยาว

อะไรคือสิ่งที่ดีงามต่อตัวตนของเราอย่างแท้จริงในเรื่องเพศสัมพันธ์ วิทยาศาสตร์และเพศศึกษาให้เราได้แต่การดูแลตัวเราเองไม่ให้เกิดผลร้ายทางกายภาพ ไม่ว่าจะการติดโรค หรือการมีครรภ์ในเวลาที่ยังไม่พร้อม แต่นี่คือเรื่องของร่างกายเท่านั้น เป็นการมองว่าเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องของความสุขทางร่างกาย ซึ่งก็ต้องอาศัยสติความยับยั้งชั่งใจ และความรู้ในการระวังตัว แต่การมองเช่นนี้ย่อมไม่เพียงพอ เพราะเราไม่ได้มีแต่ร่างกาย เรามีจิตวิญญาณและมีความต้องการทางจิตใจ เราต้องการความรู้สึกมั่นคงสมดุลย์สุขสงบในจิตใจ เราต้องการความเติบโตของตัวตนทางจิตวิญญาณและศักยภาพ ต่างๆ ความต้องการทั้งสองอย่างนี้มีความรักแบบหนุ่มสาว ช่วยเป็นฐาน อาจกล่าวว่าตัวตนที่เป็นเนื้อหนังมังสาของเราต้องการความสุขทางเพศ แต่ตัวตนที่เป็นจิตวิญญาณของเราต้องการความรัก ในความสัมพันธ์ทางเพศที่เป็นไปด้วยความรัก มิใช่ด้วยเพียงความใคร่ ร่างกายและหัวใจอยู่ด้วยกัน ความรักเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งที่เราจะต้องแสวงหาความเข้าใจไปตามวัยและเวลา แต่ด้วยการที่ความรักและเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่มาคู่กันนี้เอง ที่เราต้องมีทั้งสติและคุณธรรมทางเพศ สัมพันธ์ และสติและคุณธรรมในความรัก เพื่อไม่ให้ทั้งเพศสัมพันธ์และความรักกลับกลายมาทำร้ายตัวเราเองหรือทำร้ายกันและกัน นี่คือสิ่งที่เราจะต้องค้นหาเหตุผลและความเหมาะสมเอาด้วยปัญญาและญาณทัศนะของตัวเองเองในการเติบโต และย่อมดีกว่าการถือเอาตามจารีตโดยไม่ใช่ปัญญาไตร่ตรอง ซึ่งหากเราเอาปัญญาเข้ามาตรวจสอบ เราก็อาจพบอะไรมากมาย ที่ตอบคำถามได้แม้แต่สิ่งที่ยากที่สุดที่จะตอบ

ในบทที่ 1 เราได้เคยพูดถึงหลักการของความไม่สร้างการจองเวร เพื่อเป็นเหตุผลให้กับความไม่ควรถูกถือว่าผิดของฟรีเซ็กซ์ และพูดถึงหลักพรหมจรรย์ ซึ่งหมายถึงความซื่อสัตย์ต่อคู่รักของตนเอง ในฐานะหลักแห่งความดีงามของความรัก เหตุผลเป็นสิ่งที่เรารู้อยู่โดยหัวใจ เมื่อเรามีความรักและเมื่อความรักพาเราไปสู่เพศสัมพันธ์ ตัวเหตุผลจริงๆ ก็คือ ความรักเชื่อมโยงคนสองคนเข้าด้วยกันราวกับจะเป็นคนๆ เดียวกัน ทั้งโดยร่างกายและจิตใจ และหากด้วยจิตใจแล้วคนสองคนปรารถนาที่จะอยู่คู่กันโดยไม่เปลี่ยนไปหาคนอื่น ความซื่อสัตย์ทางเพศสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น

คนอาจจะพยายามโต้เถียงเรื่องฟรีเซ็กซ์ว่าผิดเพราะเป็นเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีความรัก และไม่พาไปสู่การครองคู่ แต่ก็พูดยากจริงๆ ว่าถ้าไม่มีการทำร้ายใครเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นสิ่งที่ผิดตรงไหน อย่างมากที่สุดที่จะพูดได้ก็คือ มันจะทำให้คนหลงติดในเซ็กซ์จนเห็นว่าเซ็กซ์สำคัญกว่าความรัก แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่คนควรจะเรียนรู้เอาด้วยตัวเอง ว่าอะไรกันแน่คือสิ่งที่มีค่าจริงๆ สำหรับชีวิตเขา ไม่ใช่ด้วยการบังคับว่าเซ็กซ์เป็นเรื่องต้องห้ามจนกว่าจะแต่งงานแล้ว หรือคนอาจจะพยายามโต้เถียงว่าฟรีเซ็กซ์เป็นเรื่องของคนที่พ้นการเลี้ยงดูของพ่อแม่แล้วเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการทำร้ายจิตใจของพ่อแม่ แต่นี่ก็จะรวมไปถึงกรณีที่ไม่ใช่ฟรีเซ็กซ์แต่เป็นคู่รักที่ยังอยู่ในวัยเรียนและยังพึ่งการส่งเสียของพ่อแม่ทั้งหมดด้วย ดังนั้น ประเด็นที่แท้จริงจึงไม่ใช่เรื่องฟรีเซ็กซ์ แต่เป็นเรื่องของวัยที่เหมาะสมที่คนควรมีอิสระทางเพศ

ขอให้เราเข้าใจว่าความต้องการให้เรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ มีอยู่ในทุกสังคมที่ก้าวหน้าถึงระดับหนึ่ง และส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการที่จะป้องกันเพศสัมพันธ์ก่อนเวลาอันควร ดังนั้น คำถามที่สำคัญจริงๆ ก็คือคำถามว่าวัยที่สมควรต่อการมีเพศสัมพันธ์ได้คือเมื่อใด ถ้าถามพ่อแม่ พ่อแม่ก็คงตอบว่า ต้องการให้ลูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกสาว มีเพศสัมพันธ์ช้าที่สุดเท่าที่จะช้าได้ คือเมื่อแน่นอนแล้วว่าจะสามารถจัดการกับชีวิตของตนเองโดยไม่เกิดปัญหาจากเพศสัมพันธ์ และไม่ใช่เพียงปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์เท่านั้น แต่เป็นปัญหาเรื่องการหลงใหลต่อเรื่องเพศด้วย วัยไหนที่คนจะเติบโตพอที่จะมีสติในเรื่องนี้ พวกคุณเองคงมีคำตอบให้ตัวเอง และกฎหมายก็ยอมรับคำตอบเช่นนั้นด้วย คือกำหนดไว้ที่อายุ 18 ซึ่งก็คือช่วงวัยของการเป็นนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งถ้าใครที่ไม่ได้เรียนก็มักจะเริ่มต้นมีชีวิตการทำงานเลี้ยงดูตนเองแล้ว

พวกอนุรักษ์นิยมอาจจะยืนยันความศักดิ์สิทธ์ของเพศสัมพันธ์ ว่าต้องเกิดขึ้นหลังสมรสเท่านั้น แต่เขาจะให้เหตุผลว่าอย่างไรนอกจากกล่าวว่านี้คือวิถีของจารีตและวัฒนธรรม ศาสนาคริสต์อาจอ้างว่าเป็นประสงค์ของพระเจ้า ศาสนาพุทธอ้างว่า เพราะเมื่อนั้นคุณก็จะได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ และจะไม่เป็นการทำร้ายจิตใจของพ่อแม่ ซึ่งเป็นการสร้างการจองเวร ซึ่งก็เป็นการจองเวรที่แปลกๆ เพราะขึ้นอยู่กับความใจกว้างหรือใจแคบของพ่อแม่ด้วย และพ่อแม่ก็ไม่ควรจองเวรกับลูกอยู่แล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด แต่นักอนุรักษ์นิยมจะยืนยันว่า ตราบใดที่คุณยังเป็นนักศึกษาที่อาศัยเงินพ่อแม่เรียน ก็ยังไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ เพราะยังไม่ใช่เวลาที่จะสมรสสร้างครอบครัวของตนเอง แต่ถ้าเกิดคุณตัดสินใจเรียนปริญญาโท - ปริญญาเอก ด้วยเงินพ่อแม่ต่อไปอีกละ คุณก็จะต้องไม่มีอิสระทางเพศไปจนกว่าจะอายุสัก 28 หรือ 30 หรือจนกว่าจะหาคนมาแต่งงานด้วยได้ แล้วถ้าเกิดคุณหาใครมาแต่งงานด้วยไม่ได้เลยละ คุณก็ไม่มีสิทธ์มีเพศสัมพันธ์ไปจนตายอย่างนั้นเลยใช่หรือไม่ คุณจะเลือกเป็นคนดีตามที่วัฒนธรรมกำหนด ว่าคน (ผู้หญิง) ที่ดี คือคนที่มีเพศสัมพันธ์ในสมรสเท่านั้น แล้วอยู่เป็นโสดไปจนตายแบบไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แม้สักครั้งในชีวิต หรือจะเป็นคน (สาว)โสดที่ไม่ดี คือเคยมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสมาบ้างก่อนตาย คงเห็นแล้วว่า ความคิดของนักอนุรักษ์นิยมทางเพศนั้นหาหลักการที่ถือเอาเป็นจริงเป็นจัง ที่พอยอมรับได้ ไม่ได้เลย

ชีวิตที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลยเพราะถูกจารีตและวัฒนธรรมขวางไว้อย่างไร้สาระ คงไม่ใช่ชีวิตที่มีความสุขมากเท่าใดนัก และถ้ามีค่าก็คงมีค่าอย่างปลอมๆ แต่กระนั้นก็ตาม เราก็ต้องยอมรับว่า ความสุขที่เสพจนติด และเสพจนไร้สติย่อมเกิดโทษ และเรื่องเพศ แม้จะตัดอันตรายจากเรื่องโรคและการตั้งครรภ์ออกไปแล้ว ก็ยังมีขอบเขตที่สังคมต้องสร้างความศักดิ์สิทธ์บางอย่างเพื่อปกป้องต่อความดีงาม นั่นก็คือ เพื่อปกป้องต่อสมาชิกใหม่ของสังคมที่จะไม่ถูกนำพาไปสู่หนทางที่พาลงต่ำ ทุกสังคมจะต้องป้องกันไม่ให้ผู้เยาว์ถูกใช้เป็นวัตถุทางเพศ เพราะเด็กอาจถูกทำให้เสพติดต่อเรื่องเพศจนเสียอนาคตได้ หมายถึง จนยากมากที่จะมีชีวิตคู่ที่ดีได้ในอนาคต เหมือนคนติดยาเสพติด ที่จะเอาชนะใจตนเองได้ยากมาก เสียเวลาและพลังงานในชีวิตไปอย่างไร้ค่าไร้ประโยชน์ที่แท้จริงอันใดต่อตนเอง ดังนั้น เด็กจะต้องถูกปกปิดจากการถูกยั่วยุปลุกเร้าทางเพศทุกประการ และผู้ใหญ่อาจซื้อขายบริการทางเพศกันได้ตามสมัครใจ แต่เด็กต้องไม่มีอิสระดังกล่าว เด็กควรใช้เวลากับการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพต่างๆ ในตัวมากกว่าที่จะหมกมุ่นกับเรื่องเพศ มิเช่นนั้นแล้วเด็กผู้ชายจะถูกความต้องการที่ถูกปลุกเร้าไว้อย่างผิดธรรมชาติของวัย ชักจูงให้ล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่นอย่างไม่รู้ถูกผิด และเด็กผู้หญิงจะถูกความต้องการที่ถูกปลุกเร้าไว้อย่างผิดธรรมชาติของวัย ชักจูงให้ทำตัวเป็นวัตถุทางเพศให้กับผู้ชายอย่างไม่รู้จักค่าของตนเอง นี่คือความรักที่สังคมมีต่อเด็ก และเป็นการปกป้องเด็กที่อธิบายได้อย่างสมบูรณ์ สังคมควรจะลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ใหญ่ที่กระทำผิดทางเพศต่อเด็ก หรือละเลยปล่อยให้เด็กถูกยั่วยุทางเพศ

ทุกสังคมมีข้อห้ามทางเพศที่เด็ดขาด เป็นของต้องห้ามที่เรียกว่าตาบู ( taboo) คือเพศสัมพันธ์ในสายเลือดใกล้ชิด คือระหว่าง พ่อหรือแม่ กับลูก พี่กับน้องร่วมสายโลหิต ปัญหาของเราก็คือ ถ้าหากว่ามันพ้นจากเกณฑ์ความผิดทุกข้อที่กล่าวไปแล้ว คือ ไม่สร้างการจองเวร เป็นการเลือกอย่างอิสระ ไม่เป็นการละเมิดหรือยั่วยุทางเพศต่อเด็ก ไม่ใช่การข่มขืนหรือการอ้างบุญคุณเพื่อบังคับ เราจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร แม้ว่าในความเป็นจริง กรณีของเพศสัมพันธ์ในสายเลือดใกล้ชิดอาจเริ่มต้นจากความผิดบางข้อ แต่ก็อาจดำเนินไปจนพ้นจากความผิดเช่นนั้นก็เป็นได้ ดังนั้น เราควรสมมติว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้อย่างพ้นจากความผิดตามเกณฑ์ดังกล่าว ถ้าเช่นนั้น มันจะผิดตามเกณฑ์อะไร

นักสังคมวิทยาพบว่าเพศสัมพันธ์ในสายเลือดใกล้ชิดมีอยู่จริงในสังคม แม้สังคมจะเอาผิดทางกฎหมายตามเกณฑ์อื่นๆ เมื่อพ้นผิดแล้ว คู่เพศสัมพันธ์ในสายเลือดใกล้ชิดก็จะยังกลับมาอยู่ด้วยกันเหมือนคู่รักอื่นๆ แม้สังคมรอบข้างจะติฉินนินทา ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่ากฎหมายและสังคมจะเข้าไปรังแกพวกเขาเสียมากกว่า และทำให้นักสังคมวิทยาสรุปว่าการห้ามเพศสัมพันธ์ในสายเลือดใกล้ชิดเป็นแค่อคติของสังคม ที่มีต่อคนที่กระทำต่างไปจากคนส่วนใหญ่เท่านั้น คือหาเหตุผลใดๆ ที่แท้จริงไม่ได้เลย แต่ก็เป็นเรื่องเป็นไม่ได้เลยที่สังคมจะยอมรับว่านี่เป็นเพียงอคติ เพราะในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เราได้เห็นอคติมากมายถูกถอนออกไปจากจิตใจมนุษย์ ไม่ช้าก็เร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนชั้น ศาสนา เชื้อชาติ สีผิว เพศ และอคติเกือบทุกอย่างเป็นของที่จิตนาการให้หายไปได้ไม่ยาก แต่การที่เพศสัมพันธ์ในสายเลือดใกล้ชิดมีอยู่จริงนั้น ไม่ได้ช่วยให้เราจิตนาการได้ง่ายขึ้นเลยว่ามันจะเป็นสิ่งที่เราควรเห็นเป็นปกติ

ปัจจุบันเรารู้ว่ารักร่วมเพศมีมาทุกยุคทุกสมัย บางยุคก็ยอมรับ บางยุคก็ไม่ยอมรับ อารยธรรมปัจจุบันเริ่มต้นด้วยการไม่ยอมรับ แต่ด้วยอิทธิพลของอุดมการณ์ประชาธิปไตย ก็กำลังเปลี่ยนมาสู่การยอมรับ อีกไม่นาน สังคมทั่วไปคงยอมรับได้ทั้งสถานะทางกฎหมายและสถานะทางศีลธรรมว่า รักร่วมเพศเป็นสิ่งที่เท่าเทียมกันทุกประการกับรักระหว่างต่างเพศ แต่ในปัจจุบันและอนาคตเท่าที่พอมองเห็น การสมรสระหว่างพ่อกับลูกสาวนั้นควรจะถูกถือว่าเท่าเทียมกันทุกประการในทางศีลธรรมกับการสมรสอื่นๆ ได้หรือ เป็นไปได้ที่จะมองย้อนกลับไปหาเวลาในอดีตของมนุษย์ชาติ ที่การที่พ่อและลูกสาว หรือแม่และลูกชาย เปลี่ยนมาเป็นผัวเมีย เป็นสิ่งที่ถูกต้องและจำเป็น ทั้งทางธรรมชาติและทางศีลธรรมของชีวิตขณะนั้น เช่น ศีลธรรมของความจำเป็นต่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ เช่น ในยุคสมัยที่มนุษย์ยังมีชีวิตที่ไม่ต่างจากสัตว์มากนัก อยู่กันเป็นกลุ่มเล็กๆ และเกิดขาดแคลนคู่ที่จะผลิตสมาชิกใหม่ให้กับกลุ่ม ในสภาพเช่นนั้น ชีวิตไม่ได้มีทางเลือกมากพอที่มนุษย์จะมีความสูงส่งทางศีลธรรมสักเท่าใด การกระทำดังกล่าวย่อมดีกว่าการปล่อยให้เผ่าหรือกลุ่มของตัวเองเล็กลงจนอาจสูญไปได้

และนั่นคือทางสำหรับคำตอบสำหรับความผิดของเพศสัมพันธ์ในสายเลือดใกล้ชิด ในกรณีของพ่อหรือแม่กับลูก ในโลกยุคปัจจุบันชีวิตคือความเป็นไปได้ที่เปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ มันวางหน้าที่ของความเป็นพ่อแม่ที่สูงส่งทางศีลธรรมยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ความรักของพ่อแม่เป็นสิ่งพิเศษที่เราจะต้องอภิปรายต่อไปในอนาคต เป็นความรักที่เรียกร้องการเสียสละในทุกๆ วัน และต้องอาศัยคุณธรรมและปัญญาที่เหมาะสมมากำกับเพื่อให้เป็นความรักที่บริสุทธิ์และดีงามอย่างแท้จริง ซึ่งประเด็นหลักก็คือ ลูกมีชีวิตของตนเอง พ่อแม่และลูกทุกคนเป็นปัจเจกบุคคลคนละคน พ่อแม่มีตัวตนที่ใกล้ชิดกันมากกว่าที่มีต่อลูก เพราะลูกก็คือลูก แต่พ่อแม่คือคู่ของกันและกัน ลูกจะต้องหาคู่ที่เหมาะสมของตนเองในอนาคต ไม่ใช่พ่อแม่ยัดเยียดตนเองให้เป็นคู่ของลูก (และในปัจจุบัน การที่พ่อแม่จะหาคู่ให้ลูกก็ไม่ใช่สิ่งที่จะถือได้ว่าถูกต้องอีกต่อไปแล้ว) หน้าที่ของพ่อแม่คือเลี้ยงลูกเพื่อให้เป็นอิสระออกไปจากตน ไม่ใช่เพื่อผูกไว้กับตน ลูกมีชีวิตในวันข้างหน้าที่พ่อแม่มองไปไม่ถึง เพราะอยู่กันคนละช่วงยุคเวลา แม้จะคาบเกี่ยวกันก็ตาม คือไม่ว่าจะอยู่ใกล้กันแค่ไหนลูกก็เป็นคนของอนาคต และพ่อแม่เป็นคนของอดีต ถ้าพ่อแม่ดึงลูกไว้กับตนก็เป็นความเห็นแก่ตัว และหากยิ่งดึงไว้ด้วยเรื่องของความต้องการทางเพศด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นความเห็นแก่ตัวที่หนักมากขึ้นไปอีก และยิ่งกว่านั้น ทันทีที่ ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกเปลี่ยนมาเป็นความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยา สิ่งที่เคยเป็นของจิตใจล้วนๆ ก็กลายเป็นของร่างกาย ความเป็นพ่อแม่ลูกจะจบลงอย่างเด็ดขาดทั้งที่ยังมีชีวิตกันอยู่ นับเป็นการสูญเสียที่ไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้อีกแล้ว การเป็นสามีภรรยานั้นเปลี่ยนมาเป็นความเกลียดชังจนฆ่ากันเองได้ง่ายกว่าที่พ่อแม่และลูกจะฆ่ากันเองมากนัก ความผิดเป็นของพ่อหรือแม่ที่หน่วงเหนี่ยวชีวิตลูกไว้เป็นความสุขทางเพศของตน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่พ่อแม่ลูกที่เป็นสามีภรรยากันจะมีสถานะทางศีลธรรมเท่าเทียมกับสามีภรรยาแบบอื่น

เราได้อภิปรายให้เหตุผลในเรื่องเพศในแบบที่สังคมไทยไม่เคยกล้าพูดถึงมาก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยถือว่าศักดิ์สิทธ์ไม่ควรถูกตั้งคำถามนั้น เป็นเพราะมันมีเรื่องของความดีงามที่เกี่ยวข้องกับความหมายของชีวิตอยู่ข้างใน เราใช้ศรัทธาเพื่อสืบทอดมัน แต่ที่จริงแล้วการใช้ปัญญาเข้ไปตรวจสอบ ไม่จำเป็นต้องเป็นการทำลาย แต่เป็นการทำให้มันเข้มแข็งขึ้น และเอาชนะความไร้สาระบางอย่างที่เข้ามาแอบแฝง ซึ่งทำให้วัฒนธรรมเองมีจิตวิญญาณที่มีความอ่อนโยนและมีมนุษยธรรมมากยิ่งขึ้น และในส่วนของตัวเราเองผู้เข้าร่วมคิดโต้เถียงวิพากษ์วิจารณ์ เราก็ได้สร้างความเติบโตทางปัญญาให้กับตนเอง ไม่มีเหตุผลใดที่เราควรจะปฏิเสธการเติบโตทางปัญญาของตัวเราเอง นอกเสียจากเราจะถูกทำให้ไม่คิดจนเกียจคร้านที่จะคิด เราก็ได้เห็นแล้วว่า ผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองและกระแสอนุรักษ์นิยม จารีตนิยมในสังคมอาจพยายามบังคับเราให้หยุดคิด หยุดโต้แย้ง หยุดตั้งคำถาม นั่นเป็นเพราะสังคมฉ้อฉล หลงผิด ใช้อารมณ์จนไร้สติ หรือเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้ายิ่งกว่าประโยชน์ระยะยาว เราได้เห็นแล้วว่าความเข้มแข็งของตัวเราเองและความเข้มแข็งของสังคมนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน คนในสังคมตะวันตกมีสติปัญญาที่เข้มแข็งกว่าเราและมีสังคมที่เข้มแข็งกว่าเรา เพราะสังคมของเขามีเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก หรือเสรีภาพในการพูดและในการกระทำ สูงกว่าสังคมของเรา เด็กๆ ในสังคมตะวันตกได้รับการสนับสนุนให้โต้เถียงและแสวงหาเหตุผลจนถึงที่สุด คนหนุ่มสาวได้รับการสนับสนุนให้เป็นตัวของตัวเอง ให้รักและบูชาในปัจเจกภาพของตนเอง ไม่ถูกบังคับให้ต้องคล้อยตามสังคม ประพฤติตามจารีตไปอย่างเชื่องๆ

.................................................

ตัดตอนจาก บทที่ 11

.............

ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ของฟรอยด์ บุคลิกภาพตลอดจนปมปัญหาทางจิตตลอดช่วงชีวิตของเรา ล้วนแต่มีต้นตอมาจากปมปัญหาที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพ่อและแม่ ตามช่วงพัฒนาการทางเพศ ในวัยเด็กทั้งสิ้น โดยแม้เราจะลืมเรื่องทั้งหมดไปแล้ว แต่มันก็ยังเก็บซ่อนไว้ในจิตใต้สำนึก และผลักดันความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม และบุคลิกภาพของเราอยู่ตลอดเวลา ปมในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ ที่มีรากเหง้ามาจากวัยเด็กนี้เอง ที่ซ่อนกุญแจไขปริศนาของสิ่งที่อธิบายได้ยาก ที่เป็นลักษณะร่วมของพัฒนาการของมนุษยชาติ อันเป็นเรื่องทางสังคมที่ข้ามเผ่าพันธุ์และปรากฏเป็นข้อมูลทางมานุษยวิทยา ได้อย่างมากมาย ซึ่งฟรอยด์ ให้ข้อสรุปว่า ยิ่งมนุษย์พัฒนาไปสู่อารยธรรมที่สูงขึ้นมากเท่าไร มนุษย์ก็จะยิ่งเป็นโรคจิตมากขึ้นเท่านั้น เพราะเขาเห็นว่า อารยธรรมของมนุษย์ ถูกผลักดันจากความต้องการของสังคมสองประการเท่านั้น คือ ความต้องการที่จะขัดขวางพฤติกรรมที่เป็นไปตามสัญชาตญาณธรรมชาติของมนุษย์ และการหาทางออกให้กับการเก็บกดที่เกิดตามมา ในรูปแบบที่สังคมยอมรับได้ ซึ่งเป้าหมายทั้งสองนี้ก็จะปรากฏซ่อนอยู่ใน ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศาสนา ศิลปวิทยาการ ของทุกอารยธรรม

................................

บางส่วนของทฤษฎีบุคลิกภาพของฟรอยด์ ได้รับการโต้เถียงอย่างหนัก คือการอธิบายความแตกต่างของบุคลิกภาพหญิงชาย แบบปมเด่นและปมด้อย ด้วยปัจจัยทางชีววิทยา นักจิตวิทยายอมรับว่าผู้ชายโดยทั่วไปจะมีลักษณะเหมือนคนมีปมเด่น มีความภาคภูมิในตนเองสูง คือมีความกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งท้าทายมากกว่าผู้หญิง กล้าคิด ริเริ่มและนำคนอื่น กล้าเผชิญหน้า ชอบการแข่งขันและพัฒนาศักยภาพ ของตนเอง เป็นฝ่ายนำการกระทำ ในขณะที่ผู้หญิง มีลักษณะเหมือนคนมีปมด้อย ที่ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง คือเป็นผู้คล้อยตาม รอคอย สะกดกลั้น เป็นผ่ายรับ และเมื่อเปรียบเทียบเชิงความสัมพันธ์ทางอำนาจแล้วจะเห็นว่า ผู้หญิงถูกกำหนดโดยผู้ชาย เช่น ในขณะที่ผู้ชายมีอิสระทางเพศ ผู้หญิงกลับถูกหน่วงเหนี่ยวไว้ด้วยค่านิยมพรหมจรรย์ ผู้หญิงนิยามคุณค่าของตนตามความต้องการของผู้ชาย คือสร้างบุคลิกภาพและรูปลักษณ์ ให้เป็นไปตามความพอใจของผู้ชาย มากกว่าที่ผู้ชายจะพยายามทำตามความพอใจของผู้หญิง ผู้หญิงสนใจเรื่องความสวยงามของรูปร่างหน้าตาอย่างรุนแรง ยอมใส่รองเท้าส้นสูงที่ทรมานตนเอง (อันเป็นลักษณะของคนมีปมด้อยอย่างชัดเจน) ออกกำลังกายด้วยการเต้นแอร์โรบิคเพื่อรักษาทรวดทรง และแข่งขันกันในความเซ็กซี่ ซึ่งก็คือการแสดงออกของการเป็นวัตถุที่ผู้ชายปรารถนาทางเพศ ในขณะที่ผู้ชายสร้างคุณค่าของตนเองตามแบบที่ตนเองพึงพอใจ ไม่ต้องอ้างอิงความต้องการของผู้หญิง เล่นกีฬาเพื่อความสนุกสนาน และการพัฒนาศักยภาพ ไม่ใช่เพื่อการสร้างรูปลักษณ์ทางร่างกาย

ฟรอยด์ อธิบายเรื่องนี้ด้วยปมที่เกี่ยวข้องกับสัณฐานของอวัยวะเพศเพียงอย่างเดียว คือผู้ชายมีอวัยวะเพศที่ยื่นออกมา ในขณะที่ผู้หญิง มีอวัยวะเพศที่เข้าไปข้างใน ทำให้เด็กผู้หญิงคิดว่าตนเคยมีอวัยวะเพศแบบผู้ชายมาก่อน แต่ถูกพ่อแม่ตัดทิ้งไป เป็นการลงโทษต่อความไม่ดีของตนเอง เด็กผู้หญิงจึงเสียความภาคภูมิใจในตนเองและพัฒนาต่อไปเป็นบุคลิกภาพแบบปมด้อย ในขณะที่เด็กผู้ชายยังรักษาความภาคภูมิใจที่เกิดจากอวัยวะส่วนนี้ไว้ได้ และพัฒนาต่อไปเป็นบุคลิกภาพแบบปมเด่น ซึ่งการอธิบายเช่นนี้ มีค่าเท่ากับการตีตราว่าผู้หญิงจะนิยามคุณค่าของตนเอง ตามความต้องการของผู้ชายต่อไปจนโลกสลาย เพราะมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่ได้มาแต่กำเนิดและความกลัวต่ออำนาจของพ่อแม่

นักสังคมวิทยาเถียงว่าลำพังกลไกการเลียนแบบแม่จากปมโอดิบุส ก็เพียงพอแล้วที่จะอธิบายบุคลิกภาพแบบยอมตามผู้ชายของเพศหญิง ซึ่งเป็นบทบาทที่สังคมกำหนดให้กับแม่ จากการที่ผู้ชายเป็นฝ่ายที่ถือครองอำนาจและทรัพยากรทางเศรษฐกิจในสังคม ซึ่งอธิบายได้ด้วยวิวัฒนาการของเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ตามทฤษฎีของมาร์คซ์ ดังนั้นเรื่องนี้จึงน่าจะเกิดจากปัจจัยหลังกำเนิด คือเงื่อนไขในการเลี้ยงดูตามลักษณะแบบผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัวมากกว่า ซึ่งผู้หญิงก็จะสามารถปลดปล่อยตนเองจากอำนาจการกำหนดของผู้ชายได้ เมื่อเงื่อนไขของสังคมเปลี่ยนไปเป็นแบบเท่าเทียมกัน

การที่ผู้หญิงถูกปิดกั้นเรื่องทางเพศเพื่อประโยชน์ของผู้ชาย เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานของกลไกความผิดปกติทางจิต ที่เกิดจากการที่ซูเปอร์อีโก้ รับศีลธรรมแบบจอมปลอมของสังคมไว้ผ่านการใช้อำนาจของพ่อแม่ ในยุคสมัยของฟรอยด์ ความเข้มงวดทางเพศของสังคมมุ่งไปที่ผู้หญิง เพื่อจะประกันว่า ผู้หญิงจะเป็นสมบัติที่ดีของผู้ชาย พ่อแม่จะคอยกันไม่ให้เด็กหญิงแตะต้อง และเล่นอวัยวะเพศของตนเอง (ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการทางเพศ) ในรายที่พ่อแม่ใช้การลงโทษทางกาย และการว่ากล่าวอย่างรุนแรงเพื่อควบคุม ใช้ความผิดบาปทางศาสนาเป็นเครื่องมือ เด็กจะเกิดความรู้สึกผิด เมื่อเกิดความรู้สึกทางเพศ ซึ่งกลายเป็นความขัดแย้งทางจิตใจ ผู้หญิงคนนั้นจะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนไม่ดี ไม่มีค่า หาทางเก็บกดความต้องการทางเพศไม่ให้ปรากฏขึ้นในจิตใจ เมื่อเผลอเกิดความรู้สึกทางเพศก็จะคิดลงโทษตนเอง เช่นเดียวกับที่พ่อแม่เคยทำกับตน เมื่อแต่งงานแล้วก็ยังรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องชั่วร้าย และขัดข้องกับการมีเพศสัมพันธ์......



[1] ผู้อ่านน่าจะลองศึกษาประวัติศาสตร์การใช้มนุษย์เป็นทาส การเหยียดสีผิว และการต่อสู้ในเรื่องนี้ของโลกตะวันตก เพื่อให้เห็นบทบาทของความเชื่อทางศาสนาและปรัชญาว่าถูกบิดเบือนมาใช้ตอบสนองผลประโยชน์และอคติทางเชื่อชาติและเผ่าพันธ ุ์ อย่างไรบ้าง ที่จริงแล้วพุทธศาสนาเองก็เตือนว่าเหตุผลสามารถที่จะถูกฉ้อฉลเพื่อเอาไปรับใช้ตัณหาได้ตลอดเวลา และเป็นไปได้ด้วยซ้ำที่เราจะหาเหตุผลต่างๆ มาหลอกตัวเราเอง เท่าๆ กับที่หลอกคนอื่น เพื่อที่ตนเองจะได้ไม่รู้สึกผิดในการทำสิ่งที่ตนก็รู้ว่าสึกขัดแย้งอยู่ด้วยใจอันบริสุทธิ์ แต่ที่ทำลงไปก็เพราะแรงของราคะ โทสะ โมหะ นั้นมีอำนาจเหนือกว่า ดังนั้น อย่างน้อยที่สุด เราก็ควรวิพากษ์ตัวเราเองอยู่เสมอว่าเรากำลังจริงใจต่อตัวเอง ในสิ่งที่เรากำลังคิดอยู่ หรือไม่

[2] การที่สังคมไทยมีวัฒนธรรมที่ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ก็คือมีวัฒนธรรมของความขี้ขลาดทางปัญญานั่นเอง หมายความว่า ถ้าจะคิดอะไรก็ต้องคิดในกรอบที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แม้นี่จะเป็นคำพูดที่รุนแรง แต่ก็ไม่มีคำอื่นที่ดีกว่านี้อีกแล้ว วัฒนธรรมไทยสอนให้คนไทยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล นี่คือสิ่งที่คนไทยไม่อยากยอมรับ แต่ก็จะแสดงออกทันทีที่มีคนไทยที่กล้าวิจารณ์วัฒนธรรมของตนเองในทางลบ เช่น อาจจะประณามคนเช่นนั้นว่าเป็นทาสของตะวันตก ทั้งที่การวิจารณ์ตนเองเป็นสิ่งที่ไม่ว่าคนในวัฒนธรรมไหนก็ควรกระทำ เว้นก็แต่ผู้ที่เชื่อว่าตนเองดีงามอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น

[3] นักสังคมวิทยาตะวันตกมองการเปลี่ยนแปลงตามโลกตะวันตกเกือบทุกอย่างของเราว่า เป็นการ “ westernization” แต่ไม่ใช่การ “modernization” หมายความง่ายๆ ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแค่ในเชิงวัตถุหรือรูปแบบ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับแนวคิดที่รองรับ โลกตะวันตกถือว่ายุค modern เกิดขึ้นจากกระบวนการ Enlightenment ที่เปลี่ยนโลกทัศน์ของคนตะวันตกมาเป็นแบบเหตุผลนิยม - สัจจะนิยมอย่างเต็มที่นั่นเอง โดยมีความสำเร็จของวิทยาศาสตร์เป็นพลังผลักดัน ซึ่งวิทยาศาสตร์เองก็ต้องสู้กับโลกทัศน์แบบศักดิ์สิทธ์นิยมของศาสนาก่อน คนที่โลกเป็นหนี้ไม่น้อยไปกว่าโสเครตีสในเรื่องนี้ก็คือกาลิเลโอ ผู้ซึ่งถูกศาสนจักรกักขังและปิดปากจนวันสุดท้ายของชีวิต แต่ท้ายที่สุด เมื่อลัทธิเหตุผลนิยมชนะ ลัทธิศักดิ์สิทธินิยมก็ต้องถอยออกไป ศาสนาก็ต้องลดตัวลงจากการเป็นผู้ให้ความจริงที่เด็ดขาดตายตัว มาเป็นผู้ให้คำตอบสำหรับ “มโนธรรม” หมายความว่าคัมภีร์ของศาสนาไม่ควรถูกถือว่าเป็นจริงตามตัวอักษร แต่เป็นเพียงตัวบทสำหรับการตีความ เพื่อหาความหมายเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่ดีงามเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเชื่อคัมภีร์ไบเบิลตามตัวอักษรพร้อมๆ กับยอมรับทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถเชื่อเรื่องนรกสวรรค์และการเวียนว่ายตายเกิด พร้อมๆ กับการเชื่อว่าโลกนี้มีแต่สสารและพลังงาน ในสังคมไทย วิทยาศาสตร์ไม่เคยกลายเป็นโลกทัศน์ที่มีอิทธิพลในสังคมมากพอที่จะทำให้บทบาทของศาสนาถูกทบทวนอย่างเป็นจริงเป็นจัง แม้ว่าจะมีพุทธศาสนาแนวปัญญานิยมเกิดขึ้น เช่น แนวทางของท่านพุทธทาส แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิพลในสังคมวงกว้างเท่าใดนัก

Modifié le: Tuesday 24 July 2012, 20:35