ประเด็นสำคัญของบทที่แล้วก็คือ ชีวิตที่ไร้เสรีภาพ ไร้ความสุขของคนหนุ่มคนสาวที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีจำเลยหลักๆ อยู่สามตัวคือ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ลัทธิสถาบันนิยม และพลังของกระแสอนุรักษ์นิยมในสังคม ได้เคยเล่าให้ฟังแล้วว่าชีวิตของคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยไม่ได้เคยเป็นเช่นนี้มาตลอดกาล เคยมียุคสมัยที่นักศึกษามีอิสระ อย่างน้อยที่สุดก็จากจากระบบโซตัส และวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์นิยม ในยุค 14 ตุลา 2516 ถึง 16 ตุลา 2519 นักศึกษาเคยมีอิสระทางการแต่งกาย การไว้ผม พวกเขาไม่ต้องคอยทำตัวเป็นเด็กดีเด็กน่ารักตามที่วัฒนธรรมไทยต้องการ เขาไว้ผมยาว สวมรองแตะ ใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ สะพายย่าม แล้วก็ทำกิจกรรมทางการเมือง แล้วเขาก็เรียกตนเองว่าปัญญาชน ด้วยความภาคภูมิใจอย่างยิ่งว่าเขามีส่วนร่วมต่อการสร้างสังคมให้ดีงาม เพราะพวกเขาคือนักสู้ของระบอบประชาธิปไตย

เสรีภาพได้มาด้วยการต่อสู้ เมื่อถึงจุดหนึ่งระบอบประชาธิปไตยแพ้ ชีวิตของนักศึกษาก็ย้อนกลับไปสู่ความไร้เสรีภาพตามเดิม แต่เขาก็ยังทิ้งมรดกไว้เป็นความสุขให้พวกคุณบ้าง เช่นเรื่องความงามทางกาย พวกเขาต่อสู้จนสังคมยอมรับว่า นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยควรมีอิสระเรื่องผม และเรื่องการแต่งหน้าทาปาก และคนทุกคนในสังคมควรมีอิสระในร่างกายของตนเอง จนปัจจุบัน รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิในร่างกายของพลเมืองทุกคน จนคุณสามารถที่จะย้อมสีผมอย่างไรก็ได้ หรือจะแต่งตัวให้เซ็กซี่อย่างไรก็ได้มาเรียน ตราบใดที่ยังแต่งเครื่องแบบที่สถานศึกษากำหนด ในอดีตก่อนหน้า นักศึกษามหาวิทยาลัยมีฐานะเท่าๆ กับนักเรียนมัธยมเท่านั้น คือต้องตัดผมพ้นต้นคอและห้ามแต่งหน้า คุณควรขอบคุณพวกเขา และที่จริงไม่ใช่เฉพาะพวกคุณเท่านั้นที่เป็นหนี้พวกเขา สังคมไทยทั้งสังคมก็เป็นหนี้พวกเขา และเป็นหนี้นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายที่ยอมพลีชีพเพื่อต่อสู้กับลัทธิเผด็จการในอดีต ที่ทำให้ประเทศไทยปัจจุบันมีการเมืองที่ดีกว่าพม่าและประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย แม้จะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ยังอ่อนแอกว่าประเทศพัฒนาแล้วอยู่มากก็ตาม

แม้ว่าปัจจุบันระบอบประชาธิปไตยจะได้รับการฟื้นฟูกลับขึ้นมาแล้ว แต่ก็เป็นประชาธิปไตยที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิงจากยุค 14 ตุลา 6 ตุลา ในช่วงเวลาดังกล่าว ชนชั้นล่างมีอำนาจที่จะต่อสู้เพื่อประโยชน์สุขของพวกเขาผ่านการช่วยเหลือของนักศึกษา ปัจจุบันนักศึกษาไร้จิตสำนึกทางการเมืองและตัดขาดจากชนชั้นล่างโดยสิ้นเชิง เราจึงมีประชาธิปไตยที่ชนชั้นสูงและคนรวยครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในสังคม จึงเป็นประชาธิปไตยภายใต้วัฒนธรรมแบบชนชั้นและระบบอุปถัมภ์นิยม ซึ่งเรารู้จักกันในนามของการเมืองแบบซื้อสิทธิ์ขายเสียงและระบบหัวคะแนน และการแข่งขันกันของพรรคนายทุน ซึ่งก็คือประชาธิปไตยที่ไร้วิญญาณนั่นเอง ส่วนหนึ่งเป็นผลผลิตของกระบวนการหล่อหลอมทางสังคม ที่ทำให้พลเมืองหันไปบูชาสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของลัทธิชาตินิยม เพื่อหันเหคนชั้นล่างออกจากการต่อสู้ทางการเมืองและประชาธิปไตย [1]

การที่เราควรจะต้องกล่าวถึงนักศึกษาในยุค 14 ตุลา 6 ตุลา เป็นพิเศษนั้น ไม่ใช่เพราะเขาเคยมีชีวิตที่มีความเสรีภาพและมีความสุขกว่าเราในขณะเป็นนักศึกษา แต่เพราะเขามีชีวิตที่มีค่าและมีความหมายที่ต่างจากเราอย่างมาก และเป็นตัวอย่างของชีวิตที่มีคุณค่าสูงสุด เพราะเป็นชีวิตที่มีอุดมคติและอุดมการณ์ที่สูงส่งที่สุดที่มนุษย์พึงมี คือการมีชีวิตอยู่เพื่อความดีและความถูกต้อง พวกเขาอาจจะเริ่มต้นด้วยการต่อสู้เพื่อความสุขและเสรีภาพของตนเอง แต่หลังจากนั้นเขาก็ต่อสู้เพื่อความสุขของคนอื่นภายใต้ความคิดเรื่องความดีและความถูกต้อง

ขอให้เราก้าวจากเรื่องของความสุขมาสู่เรื่องของคุณค่าแห่งชีวิต บทบาทที่สำคัญที่สุดของคุณในวันนี้คือการเป็นนักศึกษา หมายถึงคนที่กำลังเรียนรู้ บทบาทนี้เกี่ยวพันอย่างไรบ้างกับคุณค่าในชีวิตของคุณ คุณเรียนไปเพื่ออะไร เพื่อที่จะเลือกว่าจะเป็นอะไร จะมีอาชีพการงานอะไร จะมีบทบาทเป็นอะไรในสังคมต่อไปในอนาคต จะเป็นหมอ พยาบาล ครู วิศวกร ล่าม นักแปล เลขา พนักงานธนาคาร ฯลฯ แต่คุณค่าของคุณรออยู่ในอนาคตเมื่อคุณมีใบปริญญาบัตรอยู่ในมือแล้วเท่านั้นหรือ คุณเคยถามตัวคุณเองบ้างหรือไม่ว่า วันนี้ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ และในแต่ละวัน การเรียน การศึกษาทำให้คุณมีค่าอย่างไรบ้าง

นักศึกษาในยุค 14 ตุลา 6 ตุลา เรียกตัวเองว่า “ ปัญญาชน ” แต่คนอย่างพวกคุณซึ่งอยู่ต่างยุคต่างสมัยนั้นแตกต่างออกไปมาก จนได้รับการขนานนามว่า “ คนพันธุ์ใหม่ ” ซึ่งหมายความว่าเกิดจากการกลายพันธุ์ไปในทางเสื่อม (mutant) แม้คำว่า “ ปัญญาชน ” จะยังคงถูกใช้เรียกคนหนุ่มสาวอยู่บ้างเป็นบางครั้ง เช่น ในวันฉลองการรับปริญญา แต่คุณคิดว่าขณะนี้คุณคือปัญญาชนคนหนึ่งหรือไม่ หรือคุณจะต้องรอให้ถึงวันรับปริญญา จึงจะกล้ารับคำเรียกดังกล่าว ที่จริงแล้วคำว่า “ ปัญญาชน ” ในอดีตและปัจจุบันมีความหมายต่างกัน กล่าวคือ ในอดีตคำนี้หมายถึง คนที่มีพลังทางปัญญา และใช้ปัญญาของตนเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงสังคม ในปัจจุบันหมายถึง คนที่ไม่ได้ใช้แรงกาย แต่ใช้แรงปัญญา ซึ่งรับประกันด้วยใบปริญญา ในการทำมาหากิน นั่นก็คือ ในการทำงานเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่ช่วยหมุนจักรกลของสังคม ดังนั้นนักสังคมศาสตร์จึงเปลี่ยนมาเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ปริญญาชน” แทน “ปัญญาชน ” ซึ่งเป็นการประชดประชันด้วยว่ามีปริญญาแต่ไม่มีปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาอะไรในสังคม

จิตสำนึกของมนุษย์เป็นผลผลิตของเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ คนหนุ่มคนสาวในยุคปัจจุบันถูกเรียกว่า " คนพันธุ์ใหม่ " เพราะต่างไปจากคนหนุ่มคนสาวในอดีต ซึ่งปัจจุบันก็คือพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของเรา หลายคนกลายเป็นนักการเมืองดูแลกิจการของรัฐ หลายคนเป็นปัญญาชน ( จริงๆ ) ระดับแนวหน้าชี้แนวทางให้แก่สังคม ซึ่งพวกเขาเริ่มต้นบทบาทต่อสังคมมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา หรือบางคนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนมัธยมเสียด้วยซ้ำ หนุ่มสาวในยุคนี้แตกต่างไปมาก และแตกต่างไปในด้านลบ คือเต็มไปด้วยลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ความหลงใหลในความสุขความบันเทิง รักสบายและเห็นเงินเป็นพระเจ้า คลั่งไคลในลัทธิสถาบันนิยม และมีจิตวิญญาณเผด็จการ ปราศจากความคิดรับผิดชอบต่อสังคม ไร้จิตสำนึกทางการเมือง ฯลฯ แต่นี่ไม่ใช่ความผิดของใครทั้งสิ้น ทั้งเราและนักศึกษายุค 14 ตุลา ซึ่งเป็นพ่อแม่ของเรา ล้วนเป็นผลผลิตของเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหมายถึงสถานการณ์เงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของยุคสมัย เราไม่มีวันที่จะเข้าใจสิ่งที่เราเป็นอยู่ หากเราไม่เข้าใจถึงพลังของประวัติศาสตร์ที่หล่อหลอมจิตสำนึกและบุคลิกภาพของเรา

แต่ก่อนอื่น ขอให้เรากลับมาพิจารณาให้เข้าใจก่อนว่า การศึกษาคืออะไร ขอให้เรามาดูสิ่งที่เป็นคุณค่าและความหมายของชีวิตที่การศึกษาควรจะให้แก่เราว่ามีอะไรบ้าง

การศึกษา ให้การงานและอาชีพ แน่นอนว่าการงานและอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มีค่า เราทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง ดำเนินชีวิตให้ได้อย่างอิสระ หน้าที่นี้เป็นพันธะทางศีลธรรมที่เรามีต่อพ่อแม่หรือต่อใครก็แล้วแต่ที่เราเคยต้องพึ่งพิงอาศัย แต่การศึกษาก็เป็นหน้าที่ที่เรามีต่อตัวเราเองด้วย การศึกษา คือการพัฒนาตนเองในทุกๆด้าน การพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตนเพื่อให้กลายเป็นผู้ที่มีความสามารถ ขจัดความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ความไร้สมรรถภาพที่จะกระทำการในทุกๆเรื่องที่เราปรารถนาที่จะกระทำ ความไร้สมรรถภาพที่จะสัมผัสและรับรู้ในสิ่งที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นความลึกซึ้งในตนเองหรือในผู้อื่น ขจัดการไร้ความสามารถที่จะจินตนาการ และแสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ในจินตนาการ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะรู้สึก คิด พูด กระทำ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อความเป็นตัวเราที่มีค่าและมีความหมายในทุกๆ ด้าน ทำไมจึงกล่าวว่า นี่คือหน้าที่ที่เรามีต่อตัวเราเอง คำตอบคือ เพราะตัวเรามีอยู่ ไม่ใช่ในฐานะของสิ่งที่หยุดนิ่งอย่างก้อนอิฐก้อนหิน แต่ในฐานะชีวิต ชีวิตคือสิ่งที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงไปในตัวเอง สามารถที่จะกลายเป็นสิ่งที่ ดี - มีค่า - น่าปรารถนา ยิ่งๆขึ้นไปกว่าเดิม กล่าวง่ายๆก็คือ เรามีอยู่ในฐานะศักยภาพ ( potential ) ซึ่งหมายถึงความสามารถที่จะเป็นสิ่งที่เรายังไม่เป็น และดีกว่าเดิม การศึกษาคือการพัฒนาตนเองในทุกๆ ด้าน นี่คืออุดมคติขั้นสูงของการศึกษา อย่างที่สัมพันธ์กับคุณค่าของความเป็นตัวเรา แต่ก็ขอให้เรามามองดูภาพกว้างของการศึกษาดูสักนิดหนึ่ง

ดั่งเดิมแล้ว การศึกษา เพื่อการงานอาชีพย่อมจะถูกจัดขึ้นที่บ้าน พ่อแม่สอนให้ลูกหลาน อาจพัฒนาขยายเป็นกลุ่มบ้านที่เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะสอนกันในกลุ่มบ้าน เมื่อเกิดการเป็นสังคมเมืองที่มีระบบการผลิตและแลกเปลี่ยนที่ซับซ้อน ก็พัฒนาต่อมาจนถึงขั้นเป็นโรงเรียนของสมาคมหรือกลุ่มวิชาชีพ รองรับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ ที่จริงการสร้างโรงเรียนสอนหนังสือและเลข รับลูกหลานชาวบ้านเข้ามาเรียน ก็คือการสร้างเสมียน พนักงานบัญชี เพื่อรองรับระบบการค้านั่นเอง นี่เป็นการกล่าวตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจของสังคมอย่างรวบรัดที่สุด

สำหรับการศึกษา เพื่อการพัฒนาตนเองอย่างสมบูรณ์นั้น ย่อมเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นชนชั้นสูงของสังคมที่มีเวลาค้นคว้าพัฒนาใน “ ศาสตร์บริสุทธิ์ ” คือศาสตร์ของความคิดความอ่าน ปัญญาในการเข้าใจชีวิตและโลก สังคมและธรรมชาติ หรือทักษะความสามารถในการสร้างสรรค์ทางศิลปะ ซึ่งชนชั้นสูงมีเวลาว่างมารวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เกิดเป็นประชาคมทางปัญญาของผู้ที่มีความรู้สูงสุดในสังคม มีการสนับสนุนทางการเงินกันเอง มีการสร้างอาคารสถานที่ขึ้นมารองรับจนกลายเป็น “ มหาวิทยาลัย ” ตามความหมายตามตัวอักษร คือเป็น “ สถานที่แห่งความรู้ขั้นสูงสุด ” ขึ้นมา ซึ่งก็เกิดขึ้นอย่างอิสระเช่นเดียวกันกับโรงเรียนสอนอ่านเขียนและโรงเรียนอาชีพ

แต่เมื่อเกิดรัฐเข้ามาดูแลควบคุมสังคม และมาจัดการศึกษาทั้งหมดในสังคม รัฐก็ย่อมนำเอาความต้องการต่างๆ ในการจัดการปกครองของรัฐเข้ามาผนวก เช่น ในการรองรับเอาการศึกษา เพื่อการพัฒนาปัญญาอย่างบริสุทธิ์เข้าไว้ในระบบการศึกษาของรัฐ รัฐสามารถคัดเลือกคนที่มีปัญญาสูงเพื่อดึงเข้ามาฝึกฝนเป็นข้าราชการ เป็นนักปกครอง ตอบสนองต่อการขยายเครือข่ายอำนาจของรัฐ และรัฐก็ยังใช้การศึกษา เพื่อสร้างผู้อยู่ใต้ปกครองแบบที่รัฐต้องการ เช่น การใช้ตัวความรู้และตำราเรียนเผยแพร่จิตสำนึกแบบที่หลง ใ หลในลัทธิชาตินิยม ใช้การอบรมบ่มสร้างลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพแบบที่รัฐต้องการ เป็นต้น เห็นได้ชัดว่ารัฐไทยก็รับเอาเจตนานี้เข้ามาใช้ในการจัดการศึกษาให้พลเมืองเช่นเดียวกัน [2]

จากการที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของสังคม และผลิตคนไปรับใช้ระบบราชการ การศึกษา จึงมีรูปร่างหน้าตาเช่นนี้ คือ มีการแข่งขัน มีการตกออก มีเวลาและหลักสูตรที่กำหนดอย่างตายตัว เข้าเรียนเวลานี้ ออกเรียนเวลานี้ อนุญาตให้ใช้เวลาได้แค่เท่านี้ต่อเนื้อหาเท่านี้ ใช้เวลาได้ทั้งหมดเท่านี้เท่านั้นปี มีการกำหนดราคาค่าจ้าง ฐานเงินเดือนตามระดับประกาศนียบัตรและใบปริญญา ฯลฯ ซึ่งคุณก็คงเริ่มเห็นแล้วว่าทำไมการศึกษาซึ่งเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมและหน้าที่ต่อตัวเราเอง จึงกลายเป็นสิ่งที่เหนื่อยยากหนักหนาอย่างแสนสาหัส ประเด็นที่สำคัญก็คือ เมื่อรัฐทุนนิยมเข้ามาจัดการศึกษา ให้เป็นรูปแบบ ใช้ภาษีอากรของประเทศจัดการศึกษาให้กับมวลชน การศึกษาจะปฏิบัติต่อคนทุกคนเหมือนกันหมด และไม่สนใจต่อปัจเจกภาพ ของใครอย่างจริงจังเท่าใดนัก ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้เรียนเมื่อพร้อม เรียนเมื่ออยากเรียน เวลาในหลักสูตร วิชาในหลักสูตร มีเป้าหมายเพื่อสร้างคนมาเป็นกำลังของระบบราชการและระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ให้เร็วที่สุด ซึ่งก็เป็นการคัดเลือกคนเข้าสู่ชนชั้นของผู้ที่จะทำประโยชน์และถือครองผลประโยชน์ในสังคมที่ลดหลั่นสูงต่ำต่างกันไปตามกลไกของระบบทุนนิยม และคุณก็คงพอจะเห็นแล้วว่าในระบบการศึกษาของรัฐ ลัทธิชาตินิยม การอบรมบ่มนิสัยในโรงเรียน ต่อเนื่องมาจนถึงระบบโซตัสและลัทธิสถาบันนิยมในมหาวิทยาลัยนั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนอำนาจของรัฐ ด้วยการบังคับคุณให้ละทิ้งปัจเจกภาพของตนเอง และเปลี่ยนตนเองให้เป็นไปในแบบที่รัฐและสังคมทุนนิยมต้องการ [3]

สรุปแล้ว การศึกษาจึงมีหลากหลายความหมาย ทั้งสำหรับผู้รับและผู้ให้ คือเป็นทั้งการพัฒนาตนเอง พัฒนาประชากร การแสวงหาอาชีพการงาน การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ การไต่เต้าสถานะทางเศรษฐกิจและชนชั้นทางสังคม การเผยแพร่อุดมการณ์เพื่อควบคุมประชากร ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ นอกจากการศึกษาจะสร้างความเจ็บปวดจากความล้มเหลวของการตกออก หรือความเหนื่อยยากสาหัสของการต่อสู้แข่งขันแล้ว การศึกษาก็ยังสร้างความรู้สึกแปลกแยก ในตนเอง อย่างที่แสดงออกในบทกลอนของวิทยากร เชียงกูล อดีตนักศึกษาในสมัย 14 ตุลา ที่ว่า " ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายฉันได้กระดาษ เพียงแผ่นเดียว " กฤษณมูรติ ( Jiddu Krishnamurti ค.ศ. 1895 - 1986) ผู้นำทางจิตวิญญา ญ ชาวอินเดียกล่าวหาว่าการศึกษาให้เราแต่ความกลัว ข้อกล่าวหานี้ย้ำให้เห็นถึงความเจ็บปวดของการศึกษาในโลกเสรีทุนนิยม ที่มีประจักษ์พยานจากที่เด็กและคนหนุ่มคนสาวมากมายฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถทนความเจ็บปวดจากความล้มเหลวในการศึกษา ได้ แน่นอนว่าปัญหานี้เกิดจากการแบกรับน้ำหนักของความคาดหวังที่สูงเกินไปของครอบครัวและสังคมรอบข้าง ยิ่งกว่านั้นการศึกษาก็ยังสามารถเป็นการควบคุมความจริง อย่างที่บทเพลง The Wall ของวง Pink Floyd พูดไว้ว่า “ We don’t need no education. We don’t need no truth control. There’s a cancer in the class room. Hey, teachers, leave the kids alone. All and all, it’s just another brick in the wall.”

เมื่อเกิดการจัดการศึกษา ชั้นสูงขึ้นโดยรัฐ สิ่งที่เกิดตามขึ้นมาคือ คนกลุ่มใหม่ในสังคม ซึ่งก็ได้แก่คือนักเรียนนิสิตนักศึกษา คนกลุ่มนี้เป็นความจำเป็นสำหรับรัฐ คือจำเป็นสำหรับการพัฒนาระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจ แต่อันตรายที่ซ่อนเร้นอยู่สำหรับรัฐก็คือ การสร้างให้เกิดกลุ่มคนที่มีพลังที่จะต่อต้านอำนาจรัฐ รัฐต้องคอยระวังพลังนี้ไม่ให้เกิดการรวมตัวกันขึ้นมาได้ ดังนั้นในประวัติศาสตร์การปกครองแบบเผด็จการที่ยาวนานของไทย เราจึงได้เห็นว่านายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีรั้งตำแหน่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยหลักๆ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหลายๆ สมัยก็มิได้เป็นนักการศึกษา แต่ทว่าเป็นทหาร ทั้งนี้ก็เพื่อผู้ที่ถืออำนาจรัฐจะสามารถควบคุมทิศทางของการศึกษาและพลังของคนหนุ่มสาวได้ตั้งแต่จุดต้นกำเนิด ที่จริงแล้ว พลังของนักเรียนและนักศึกษาไม่จำเป็นจะต้องเป็นป ฏิ ปักษ์ต่ออำนาจรัฐเสมอไป เคยมีหลายครั้งในอดีตที่นักเรียนนักศึกษารวมตัวกันแสดงพลังเพื่อสนับสนุนรัฐ เช่น ภายใต้การครอบงำของอุดมการณ์ชาตินิยม คนไทยคิดว่า ดินแดนเขมร ไม่ควรอยู่ใต้อำนาจของคนเขมร หรือประเทศ ฝ รั่งเศส แต่ควรอยู่ใต้อำนาจของประเทศไทย นักศึกษาไทยจึงเคยเดินขบวนสนับสนุน " ท่านผู้นำ " ในการเรียกร้องดินแดนเขมรคืนมาจากฝรั่งเศส (ในสมัยของจอมพลป.พิบูลสงคราม) และในสมัยที่ไทยขาดดุลทางการค้ากับญี่ปุ่นอย่างหนัก นักศึกษาจัดรณรงค์และแสดงตนเป็นแบบอย่างของการใช้สินค้าไทยในชีวิตประจำวัน ด้วยการแต่งตัวด้วยเสื้อกางเกงผ้าฝ้าย หรือแต่งตัวด้วยชุดม่อฮ่อม เพื่อต่อต้านเสื้อผ้า “ โทเร ” ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น (ในสมัยของจอมพลถนอม กิตติขจร) เป็นต้น

แต่นักเรียนนักศึกษาก็เคยรวมพลังกัน นำพาประชาชน ต่อต้านอำนาจเผด็จการของรัฐอย่างชนิดที่เอาชีวิตเข้าแลก จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้สำเร็จ นั่นก็คือ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่แม้ว่าระบบเผด็จการทหารของจอมพลถนอมและประภาสจะถูกล้มเลิกไป ระบบประชาธิปไตย ที่เกิดขึ้นก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างนายจ้างและผู้ใช้แรงงาน ในเรื่องค่าจ้างแรงงาน สิทธิ และสวัสดิการ ปัญหาระหว่างเกษตรกรและการถูกกดราคาโดยพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งชัยชนะของระบบคอมมิวนิสต์ ในประเทศเพื่อนบ้าน คือ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ทำให้บทบาททางการเมืองของนักศึกษาที่ดำเนินต่อเนื่องมา กลายเป็นชนวนทางสังคมของการต่อสู้ระหว่างชนชั้นต่างๆ ในสังคม จนเกิดเหตุการณ์ “ขวาพิฆาตซ้าย” ขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งพลังของนักศึกษาและประชาชนชั้นล่างถูกทำลายลงอย่างราบคาบ และประเทศกลับเข้าสู่ระบบเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็เป็นระบบเผด็จการในรูปแบบที่มีการใช้อำนาจที่แตกต่างจาก “ ระบบทรราชย์ ” ของถนอมและประภาสโดยสิ้นเชิง และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา การรวมตัวกันของนักเรียนนิสิตนักศึกษาจนกลายเป็นพลังในการต่อสู้เพื่อแก้ไขและเปลี่ยนแปลงสังคมก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย และนักเรียนนักศึกษาได้ถูกทำให้กลายเป็น “ คนพันธุ์ใหม่ ” ที่ไร้จิตสำนึกต่อสังคม ไปจนหมดสิ้น

คำถามคือ อะไรทำให้นักเรียนนักศึกษาในอดีตมีจิตสำนึกทางการเมืองสูง แต่นักศึกษาในปัจจุบันกลับไม่มีมีจิตสำนึกทางการเมืองเลย เราอาจคิดว่า ความทุกข์ ความเจ็บปวดของประชาชนชั้นล่าง ภายใต้ระบบเผด็จการทหารที่ปกครองอย่างเบ็ดเสร็จไร้รัฐธรรมนูญ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แสวงหาแต่ผลประโยชน์อันมิชอบใส่ตนและพวกพ้องในอดีต เป็นแรงกดดัน ทำให้นักศึกษามีจิตสำนึกต่อสังคม แต่ในตอนนี้ประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตย อย่างเต็มรูปแบบ ไม่มีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเหน ื อก ฎ หมายรัฐธรรมนูญ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกต่อไปแล้ว เมื่อไม่มีแรงกดดัน นักศึกษาจึงไม่ถูกความเป็นจริงทางสังคมกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกทางการเมือง แม้คำอธิบายนี้อาจมีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการอธิบายที่หยาบเกินไป และละเลยปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งคือ บรรยากาศทางภูมิปัญญาและประเด็นเกี่ยวกับอุดมคติและอุดมการณ์ของยุคสมัย รวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับความสำเร็จของการควบคุมความเป็นจริงที่รัฐดำเนินผ่านระบบการศึกษา ซึ่งสำหรับประเด็นหลังนี้ เราอาจลองตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นดังนี้ คือ

ขอให้คุณลองสังเกตวิชาประวัติศาสตร์ สังคมศึกษา หน้าที่พลเมือง ที่คุณร่ำเรียนมาให้ดี คุณคิดว่ามีส่วนสร้างให้คุณมีจิตสำนึกต่อสังคม อย่างไร คุณเรียนรู้เนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตย มากน้อยเพียงไรเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ การขยายและการรักษาราชอาณาจักร การกอบกู้เอกราชจากประเทศเพื่อนบ้าน คุณได้เคยอ่านคำประกาศของคณะราษฎร์บ้างหรือไม่ คุณรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับอุดมคติอุดมการณ์ของปรีดี พนมยงค์ คุณคิดว่าการศึกษาช่วยให้คุณรักระบอบประชาธิปไตย รักความยุติธรรม มีจิตใจที่สนใจต่อการปกป้องสาธารณะประโยชน์ หรือช่วยให้คุณยอมรับเห็นดีเห็นงาม ภาคภูมิใจในลัทธิชาตินิยม มากกว่ากัน คุณคิดว่ามีอะไรผิดสังเกตบ้างหรือไม่ที่ในหนังสือวิชาประวัติศาสตร์ของคุณมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลาอยู่ไม่เกิน 3 หน้ากระดาษ ทำไมระบอบประชาธิปไตยจึงแทบไม่มีความสำคัญเลยในวิชาประวัติศาสตร์ไทย และระหว่างรัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎร์ ระบอบประชาธิปไตยไทยควรถูกถือว่าเป็นหนี้ต่อใครมากกว่ากัน [4] ดูแค่วิชาประวัติศาสตร์ก็ไม่น่าแปลกใจแล้วใช่ไหมว่าทำไมคุณถึงไม่รักประชาธิปไตยเลย

ในเรื่องของบรรยากาศทางภูมิปัญญา อุดมคติและอุดมการณ์ของยุคสมัย ประเด็นหลักที่เป็นความแตกต่างระหว่างช่วงเวลาสมัย 14 ตุลาคม 2516 มาถึง 6 ตุลาคม 2519 และยุคปัจจุบันก็คือ ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่อยู่ในบรรยากาศของความไร้อุดมทางการณ์ทางการเมือง หมายความว่า สังคมปัจจุบันมีอุดมการณ์ทางการเมือง แบบเดียวคืออุดมการณ์ทุนนิยม อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ ที่เคยเป็นคู่แข่งได้พ่ายแพ้ปิดฉากไปแล้ว สัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรม ก็คือ การทำลายกำแพงเบอร์ลินซึ่งเคยแบ่งแยกโลกทุนนิยม และโลกคอมมิวนิสต์ ออกจากกัน และการเปลี่ยนแปลงของประเทศโซเวียตรัสเซีย และประเทศเยอรมันตะวันออก มาเป็นประเทศเสรีอย่างปราศจากความรุนแรง ซึ่งหมายความว่า คนรุ่นใหม่ไม่มีแนวคิดทางการเมืองที่เป็นระบบ ที่จะใช้วิพากษ์รากเหง้าของระบบทุนนิยม และที่จะใช้เสนอรูปแบบของสังคมแบบอื่นขึ้นมาแทนสังคมแบบปัจจุบัน เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว

ความคิดทางการเมืองอาจถูกควบคุมด้วยการห้ามการตีพิมพ์และเผยแพร่หนังสือ (ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกับหนังสือจำนวนกว่า 500 รายชื่อ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในยุคประชาธิปไตยเต็มใบหลังยุค 14 ตุลา) หรือการห้ามสอนหรือพูดถึงอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอื่นในมหาวิทยาลัย แต่ถึงแม้จะมีอิสรภาพทางปัญญา ความคิดทางการเมืองก็อาจพ่ายแพ้และตายไปด้วยตัวของมันเอง เราจะมาดูข้อเท็จจริงในเรื่องนี้กันอย่างละเอียด

บรรยากาศทางภูมิปัญญา อุดมคติ อุ ด มการณ์ของเวลาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือ ความงอกงามของเสรีภาพทางความคิด และการแสดงออก อาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างอาจารย์ป๋วย อึ้งภากร อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หม่อมราชวงศ์ คึก ฤ ทธ ิ์ ปราโมช และนักวิชาการทางสังคมศาสตร์ที่ศึกษามาจากตะวันตก ได้ร่วมกันสร้างให้เกิดบรรยากาศของการแสวงหาคุณค่าและความหมายของชีวิตขึ้นในหมู่นักศึกษา กิจกรรมแบบบันเทิงและระบบโซตัส หายไป กลายมาเป็นกิจกรรมการวิเคราะห์สังคม กิจกรรมทางการเมือง หนังสือที่มีเนื้อหาก้าวหน้าจำนวนมากมายถูกแปลมาเป็นภาษาไทย ช่วยตอบคำถามเรื่องชีวิต คุณค่าของชีวิต และบทบาทของคนหนุ่มสาวต่อสังคม คำตอบ ไม่ว่าจะเป็นแนวจิตนิยม เสรีนิยม สังคมนิยม หรือแม้แต่คำตอบจากพุทธศาสนาของท่านพุทธทาสภิกขุ ก็ร่วมสร้างความเข้มแข็งทางปัญญาและจิตวิญญาณให้กับคนหนุ่มคนสาว

นักศึกษาทุกคนในยุคนั้นรู้จักหนังสือโจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล ของริชาร์ด บาค ( Richard Bach ) ซึ่งเป็นหนังสือที่มียอดขายสูงสุดในอเมริกาในขณะนั้น พวกเขารู้จักว่าโจนาธานคือนกนางนวลผู้เป็นตัวแทนของผู้มีวิญาณเสรีทุกคน ผู้ที่ยอมที่จะแตกต่างจากผู้อื่น และเป็นกบฏต่อสังคม เพราะเขาถามคำถามว่า ความหมายของชีวิตคืออะไร เขาควรจะบินเพื่อกิน หรือเขาควรจะบินเพื่อบิน ? ซึ่งก็คือการถามว่ามนุษย์ควรจะใช้ปัญญาเพื่อแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง หรือเพื่อการเติบโตของปัญญาเอง ? และอะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างเราและมนุษย์ผู้อื่น ? โจนาธานพบว่าการบินทำให้เขามีอิสระจากฝูง แต่ด้วยความรักที่เขามีต่อผู้อื่นเขาก็กลับเข้าไปสู่ฝูงเพื่อปลดปล่อยนกนางนวลตัวอื่นต่อไป หมายความว่าสำหรับมนุษย์ ปัญญาทำให้เรามีอิสระจากพันธนาการของสังคม และด้วยความรักเราย่อมกลับเข้ามาสู่สังคมเพื่อปลดปล่อยผู้อื่นต่อไป ดังนั้นด้วยความรักและเสรีภาพเท่านั้นที่ชีวิตเราจะมีค่าอย่างแท้จริง

ในชั้นเรียนวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัย ผ่านวรรณกรรมที่มีค่าสูงสุดของโลกตะวันตกคือ บทสนทนาของโสกราตีส ที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทย โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พินิจ รัตนกุล และคนอื่น นักศึกษาจำนวนมากในยุคนั้นได้รู้จักโสกราตีส นักปรัชญาผู้ยอมตายเพื่อสร้างปัญญาให้แก่สังคม ทำให้นักศึกษาในสมัยนั้นรู้จักความหมายของคำว่า “ ความกล้าหาญทางศีลธรรม ” ซึ่งหมายถึงความกล้าหาญที่จะพยายามแก้ไขสิ่งที่ตนเห็นว่าผิด สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (หรือ ส ศิวรักษ์) เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษต่อการสร้างบรรยากาศทางภูมิปัญญาของยุคสมัย ด้วยการเป็นบรรณาธิการของวารสารสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ซึ่งนำแนวคิดและทฤษฎีทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองของตะวันตกมาวิเคราะห์วิพากษ์สังคมไทย จุดศูนย์กลางการวิเคราะห์วิพากษ์ ระบบเศรษฐกิจสังคมและการเมืองไทยขณะนั้น คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตามรั้วและกำแพงตึก จะเต็มไปด้วยโปสเตอร์ วิพากษ์ระบบการเมืองและเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐอเมริกา จนหาที่ว่างไม่ได้ ความรู้ในเรื่องดังกล่าวกระจายไปอย่างกว้างขวางในบรรดาหนังสือที่มีการวิเคราะห์ทางการเมืองทั้งหลาย และมีการตีพิมพ์หนังสือทางการเมืองแนวสังคมนิยม อย่างมากมาย และยิ่งไปกว่านั้น การเติบโตทางปัญญาของนักศึกษาเกิดควบคู่ไปกับการเติบโตทางอารมณ์ และจิตวิญญาณแบบมนุษยนิยม ( humanism ) จากอิทธิพลของงานเขียนของกวีเอกผู้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของโลกอย่างคาลิน ยิบราน และ กฤษณมูรติ รวมถึง รพินทรนาถ ฐากูร ที่ได้รับการแปลมาเป็นภาษาไทยในยุคนั้น

อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องถูกกล่าวถึงก็คือความรู้สึกเรื่องชนชั้น และการเกิดขึ้นของวรรณกรรมและศิลปะ “ เพื่อชีวิต ” ซึ่งที่จริงมีอยู่มาก่อนหน้านานแล้ว คือ ในงานวรรณกรรมของศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และในงานของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือแมกซิม กอร์กี้ ฯลฯ นักเขียนเหล่านี้ได้แร ง บ ัน ดาลใจจากแนวความคิดของคาร์ล มาร์คซ์ ( Karl Marx ค.ศ.1818-83) ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ มาร์คซ์วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง “ ชนชั้น ” สองชนชั้น คือ ชนชั้นผู้ถือครองทรัพยากร และชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ว่ามีการกดขี่ ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบกันอย่างไร แนวคิดของมาร์คซ์เป็นทั้งทฤษฎีและอุดมการณ์ ทางสังคม เป็นทฤษฎีในแง่ที่ว่าให้คำอธิบายต่อการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์และปรากฏการณ์ทางสังคม เป็นอุดมการณ์คือชี้นำว่าสังคมควรจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพอย่างไร ด้วยวิธีการอย่างไร นักเรียนนิสิตนักศึกษาจำนวนมากไม่เคยศึกษาแนวคิดของมาร์คซ์ ตรงๆ แต่อิทธิพลของวรรณกรรมของนักเขียนดังกล่าว และบทเพลงเพื่อชีวิตอย่างเช่นบทเพลง “ คนกับควาย ” ของวงคาราวานทำให้เขาสามารถนิยามตนเอง หรือตอบคำถามว่า “ ฉันคือใคร ” ด้วยคำตอบที่แสดงออกถึงความรู้สึกผูกพันต่อชนชั้นกรรมกรและชาวนา “ ฉันคือผู้ที่จะต่อสู้เคียงข้างชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ”

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมา คือสิ่งที่หล่อหลอมให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาไทยมีจิตสำนึกต่อสังคม และมีจิตวิญญาณที่แสวงหาความหมายของชีวิตอย่างเสรี มีปัญญาเสรี รักความเป็นธรรม บูชาเสรีภาพ ความเสมอภาค และเมื่อรับรู้ปัญหาความสัมพันธ์ทางแรงงานที่เอารัดเอาเปรียบในระบบทุนนิยม ประชาธิปไตย นักศึกษาจึงเข้าร่วมกับกรรมกรและชาวนา ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากการถูกกดขี่ต่างๆ สนับสนุนการประท้วงและการนัดหยุดงานที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ขัดแย้งโดยตรงต่อผลประโยชน์ของชนชั้นสูง นายทุนและทหารซึ่งผูกพันอิงอาศัยกันอยู่ แต่ยังสั่นคลอนและรบกวนวิถีชีวิตของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ อย่างหนักด้วย สำหรับกรรมกรและชาวนานั้นชนชั้นสูงพยายามเอาชนะด้วยวิธีการลอบสังหารตัวผู้นำ ซึ่งเสียชีวิตไปรวมกว่าสองร้อยคน สำหรับฝ่ายนักศึกษานั้น ฝ่ายทหารใช้ระบบการประชาสัมพันธ์ของรัฐคือ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ ปลุกระดมทางการเมืองให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเกลียดชังนักศึกษา ด้วยการกล่าวหาว่านักศึกษากำลังทำงานร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทย เพื่อยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฝ่ายทหารร่วมกับสถาบันชั้นสูงได้จัดสร้างกองกำลังลูกเสือชาวบ้านไว้เป็นฐานมวลชน อ้างว่าไว้เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่ที่จริงแล้วเพื่อ ทำลายนักศึกษา เพลงปลุกใจของฝ่ายขวาอย่างเช่นเพลง “ เราสู้ ” และเพลง “ หนักแผ่นดิน ” ถูกเปิดในสถานีวิทยุของรัฐเพื่อกลบเสียงเพลง “ เพื่อชีวิต ” จนในที่สุดก็นำไปสู่เหตุการณ์ “ ขวาพิฆาตซ้าย ” ในวันที่ 6 ตุลาคม พ . ศ . 2519 เมื่อทหาร ตำรวจ และลูกเสือชาวบ้านและชนชั้นกลางในกรุงเทพ บุกเข้าฆ่านักศึกษาในธรรมศาสตร์ ซึ่งผู้อ่านควรจะค้นหารายละเอียดของเหตุการณ์เพิ่มเติมด้วยตัวเอง ค้นหาถึงบทบาทของสถาบันต่างๆ ของสังคม ในการต่อสู้ดังกล่าว จากพยานหลักฐานและตัวบุคคลผู้รู้เห็นเหตุการณ์นี้ซึ่งยังมีอยู่มากมาย ภาพความโหดร้ายป่าเถื่อนของเหตุการณ์ก็ยังสามารถหาดูได้

สิ่งหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงในเรื่องของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในประเทศไทยก็คือไม่มีสถาบันไหนในสังคมที่สามารถอ้างตนว่าบริสุทธิ์ ปลอดพ้นจากการเลือกฝ่ายเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมือง คำเทศนาของพระสงฆ์ที่ว่า “ ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่ บาป ” ก็เกิดขึ้นในเวลานี้ สำหรับเรา นี่ก็คือการที่รัฐทำลายพลังทางการเมืองของนักศึกษาไทย ด้วยการฆ่าและจับกุมคุมขัง เช่นเดียวกับการปราบกบ ฏ ทั้งๆ ที่นักศึกษาเพียงแค่ร่วมเรียกร้องเพื่อสร้างให้เกิดความเป็นธรรมแก่กรรมกรและชาวนา มิได้มีกำลังอาวุธต่อสู้กับรัฐเพื่อล้มล้างอำนาจรัฐเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่กำลังต่อสู้อยู่ในป่าแต่ประการใด นักศึกษาจำนวนมากจึงถูกบังคับให้ต้องหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปจริงๆ มีการโฆษณากล่าวหาว่านักศึกษาซ่อนอาวุธไว้ในธรรมศาสตร์ แต่เมื่อบุกเข้าไปแล้วก็ไม่ได้พบอาวุธใด จึงเป็นการกล่าวหาเพื่อที่จะได้ใช้อาวุธเข้าเข่นฆ่านักศึกษาเท่านั้น ในการเข่นฆ่าทำลายนักศึกษานี้ รัฐไม่ได้กระทำดังกล่าวแต่เพียงลำพัง หากแต่อาศัยพลังของประชาชนที่ฝักใฝ่ฝ่ายขวาเป็นเครื่องมือ ซึ่งมีลูกเสือชาวบ้านเป็นหลัก โดยการกล่าวหานักศึกษาว่าเล่นละค ร หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่ ที่จริงแล้วเป็นละค ร แสดงการถูกฆ่าแขวนคอของผู้นำชาวนา นี่คือการใช้ลัทธิกษัตริย์นิยม มาบิดเบือนความเป็นจริงเพื่อเรียกประชาชนฝ่ายขวามาฆ่านักศึกษา

ด้วยเหตุที่เหตุการณ์นี้เกี่ยวพันธ์ไปถึงบุคคลชั้นสูงของสังคมนั่นเองรายละเอียดของเหตุการณ์นี้จึงถูกปิดบังต่อคนรุ่นหลังมาโดยตลอด [5] นี่คือการทำลายประชาธิปไตยเพื่อไม่ให้ชนชั้นล่างได้มีปากเสียงเรียกร้องเอาสิ่งที่เป็นสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากชนชั้นบน หลังเหตุการณ์นี้แล้วประเทศก็กลับไปสู่ลัทธิเผด็จการทหารอีกครั้งหนึ่ง แต่ทหารก็ปรับตัวด้วยการผ่อนคลายให้เป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” อยู่เป็นเวลานาน กว่าจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบในที่สุด แต่ผลที่ต่อเนื่องจากวันนั้นมาจนถึงปัจจุบันก็คือ การทำลายสหภาพแรงงาน สหพันธ์ชาวไร่ชาวนาต่างๆ ซึ่งก็คือการทำลายโอกาสที่จะเกิดพรรคการเมืองของประชาชนชั้นล่างขึ้นนั่นเอง การเมืองปัจจุบันจึงเป็นเกมของนายทุนเพียงฝ่ายเดียว

ในเรื่องของจิตสำนึกนั้น เราจะไม่เข้าใจว่าโลกในยุคปัจจุบันอยู่ในสภาพของความไร้อุดมการณ์อย่างที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจการต่อสู้ระหว่างสองค่ายอุดมการณ์ของโลก คือ ระหว่างค่ายโลกเสรีทุนนิยม และค่ายโลกคอมมิวนิสต์ และไม่เข้าใจถึงความพ่ายแพ้ของฝ่ายหลัง

อุดมการณ์ ( ideology ) คืออะไร ? อุดมการณ์คือการยึดมั่นในคุณค่า ( value ) ของบางสิ่งบางอย่างว่าเป็นสิ่งที่จะต้องประกัน หรือสร้างให้เกิดมีขึ้น โดยเลือกวิถีทางที่อาจทำลายคุณค่าอื่น ในฐานะอุดมการณ์ทางการเมือง คุณค่าสองอย่างอันได้ แก่ “ เสรีภาพ ” และ “ ความเสมอภาค ” กลายมาเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน คือ สิ่งหนึ่งยืนยันความถูกต้องของตนเองด้วยการลดทอนคุณค่าของอีกสิ่งหนึ่ง กล่าวคือ เสรีภาพยืนยันความมีคุณค่า ความเป็นสภาวะที่น่าปรารถนา ด้วยการกำหนดว่า ปัจเจกบุคคลจะต้องมีเสรีภาพที่จะครอบครองและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ตนครองครองได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด คือไม่ยอมให้แนวคิดเรื่องความเสมอภาคมาเป็นข้อจำกัดของเสรีภาพ ซึ่งนี่ก็คือการลดทอนคุณค่าและความหมายของความเสมอภาคลงจนมีค่าเท่ากับศูนย์ กลายเป็นระบบแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ในทางตรงกันข้าม ความเสมอภาคเองก็ยืนยันความมีคุณค่า ความน่าปรารถนา ด้วยการกำหนดว่าทุกคนในสังคมเป็นเจ้าของทรัพยากรและทุกสิ่งทุกอย่างร่วมกัน ปัจเจกบุคคลต้องอยู่ใต้อำนาจของสังคม ไม่มีอำนาจที่จะแสวงหาหรือผลิต หรือสร้างสิ่งใดเพื่อประโยชน์สุขของตัวเองตามลำพัง นี่สามารถนำไปสู่การลดทอนคุณค่าและความหมายของเสรีภาพลงจนมีค่าเท่ากับศูนย์ คือจนปัจเจกบุคคลไร้แม้เสรีภาพที่จะคิด พูด ทำ ในสิ่งที่เป็นความคิดเห็น หรือความสุขส่วนตน ในความเป็นจริง มนุษย์ต้องการทั้งเสรีภาพและความเสมอภาค แต่ในฐานะอุดมการณ์ มนุษย์พยายามมุ่งสร้างสิ่งที่ตนให้น้ำหนัก จนละเลยที่จะค้นหาจุดที่คุณค่าทั้งสองอย่างจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลย์

ในการวิเคราะห์นี้ เราได้เห็นว่า “ โลก ” ถูกกำหนดนิยามด้วยความคิดเกี่ยวกับเรื่องสิ่งที่มีค่า ความแตกต่างระหว่างสองโลกคือความแตกต่างระหว่างคุณค่า แต่ในการยืนยันและการสร้างโลกตามอุดมการณ์ให้เป็นจริง การต่อสู้ของทั้งสองอุดมการณ์ก็ได้ให้บทเรียนที่เจ็บปวดต่อมนุษย์ชาติ ในประเทศไทยเราได้เห็นการฆ่ากันด้วยความโกรธแค้นชิงชังอย่างป่าเถื่อนของขวาพิฆาตซ้าย ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่สนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเทศกัมพูชาเราได้เห็นการฆ่ากันอย่างป่าเถื่อนยิ่งกว่าหลายเท่าตัว มีคนตายเป็นจำนวนล้านใน “ ทุ่งสังหาร ” ซึ่งเป็นซ้ายพิฆาตขวาที่รุนแรง ที่สุดที่มนุษย์ชาติได้เห็น โชคดีที่การต่อสู้มิได้จบลงด้วยการที่ฝ่ายหนึ่งทำลายอีกฝ่ายหนึ่งจนหมดสิ้น แต่เป็นความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นจากปัญหาภายในของตัวอุดมการณ์ เอง

โลกคอมมิวนิสต์ พ่ายแพ้ไปเพราะความเบื่อหน่าย ความไม่มีความสุขของประชาชน ความไม่พอใจต่อสภาพที่เป็นไปในโลกคอมมิวนิสต์ เอง อะไรบางอย่างในวิถีของการสร้างสังคมที่เสมอภาค กลับทำลายไม่เพียงแต่เสรีภาพ แต่ทำลายไปจนถึงความเสมอภาคด้วย ประเทศคอมมิวนิสต์ เกือบทั้งหมด กลายเป็นประเทศเผด็จการ มีชนชั้นที่แบ่งแยกระหว่างประชาชนและพรรคที่มีหนึ่งเดียว พรรคคอมมิวนิสต์จีนเองกลับกลายเป็นทรราชย์ที่เข่นฆ่านักศึกษาที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย และรุกรานยึดครองประเทศอื่น อำนาจแทนที่จะเป็นของมวลชนกลับถูกยึดถือไว้ที่ผู้นำพรรคเพียงคนเดียว เช่น ที่ประเทศคิวบา หรือถ่ายเทกันในระหว่างคนใกล้ชิดและวงศ์สกุลแบบเดียวกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น ในประเทศเกาหลีเหนือ กล่าวได้ว่าประเทศคอมมิวนิสต์ ถ้าไม่เปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยก็กลายเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ ทางใดทางหนึ่งเท่านั้น ไม่มีประเทศคอมมิวนิสต์ใดเลยที่พัฒนาสังคมไปสู่ความเสมอภาคอย่างสมบูรณ์และเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ตามอุดมการณ์ของลัทธิมาร์คซ์

อะไรคือความผิดพลาดของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ? มีการวิเคราะห์ไปได้หลายทาง ในระดับปรัชญา ลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกกล่าวหาว่าขัดต่อธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความเป็นปัจเจก ต้องการครอบครองและมุ่งแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นหลัก เมื่อไม่มีสิทธิในการครอบครองก็ไม่มีแรงจูงในการทำงาน ดังนั้นจึงล้าหลังโลกเสรีนิยม ทุนนิยม ทฤษฎีทุนนิยมโดยรัฐ ( state capitalism ) ที่เสนอไว้โดยนักคิดฝ่ายคอมมิวนิสต์เองก็วิเคราะห์และทำนายไว้ล่วงหน้าว่า การทำสงครามต่อสู้กับโลกเสรีจะทำให้ประเทศคอมมิวนิสต์ กลายเป็นประเทศทุนนิยมโดยรัฐ คือรัฐจะกลายเป็นผู้ครอบครองทุนและขูดรีดแรงงานของประชาชนมาผลิตอาวุธเพื่อแข็งขันอำนาจทางการทหาร และอำนาจในแง่อื่นๆ กับประเทศเสรีนิยมทุนนิยม แทนที่จะใช้แรงงานของประชาชนมาผลิตเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนเอง การวิเคราะห์ทางจิตวิทยาว่าด้วยเรื่องอำนาจ ชี้ว่าแนวคิดเรื่องการป ฏิ วัติเปลี่ยนแปลงสังคมโดยการใช้กำลังอาวุธยึดอำนาจและทำลายฝ่ายขวาตามแนวทางแบบเหมาและสตาลิน แสดงแรงขับของความโกรธแค้นเกลียดชัง ซึ่งสามารถนำพาไปสู่ลัทธิอำนาจนิยม ( authoritarianism ) และระบบเผด็จการ ( fascism ) จึงไม่สามารถไปถึงอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ ได้ [6]

เมื่อไร้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และชี้นำทิศทาง พลังทางการเมืองของคนหนุ่มสาวและของประชาชนทั้งโลกจึงอ่อนลง การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขสังคมจึงมีลักษณะกระจัดกระจายไปตามลักษณะผิวหน้าของปัญหา เช่น กลายเป็นการต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อม สิทธิของคนกลุ่มน้อย ปัญหาทางสาธารณะสุข เป็นต้น

ในสังคมไทย พลังของนักศึกษาถูกทำลายลงอย่างสมบูรณ์ แต่ในสังคมตะวันตก พลังของนักศึกษาเพียงแค่อ่อนแอลงไปเพราะความพ่ายแพ้ของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เท่านั้น ตัวอย่างของพลังของนักศึกษาที่ยังคงอยู่ในสังคมตะวันตก ก็คือ นักศึกษาออสเตรเลียรณรงค์เพื่อสนับสนุนสิทธิในการกำหนดตนเองของชาวติมอร์ตะวันออก ต่อต้านบริษัทเนสท์เลที่แจกนมผงให้โรงพยาบาลในโลกที่สาม เพื่อให้แจกให้กับหญิงที่มาทำคลอด เพื่อให้แม่เลี้ยงทารกที่เกิดใหม่ด้วยนมผงแทนนมมารดา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสุขภาพแก่ทารก เป็นการแสวงหากำไรอย่างไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม นักเรียนนักศึกษาในทวีปยุโรปจำนวนกว่าล้านคนออกมาเดินขบวนต่อต้านสงครามอิรัก และในประเทศอังกฤษ นักเรียนนักศึกษาในขบวนการต่อต้านสงครามได้ร่วมเป็นสมาชิกพรรคเรสเปค ( Respect Party ) เป็นต้น

ดังนั้น คำถามสุดท้ายของเราก็คือ รัฐไทยทำลายพลังของนักศึกษา ลงอย่างสมบูรณ์ได้อย่างไร ทำไมเวลาผ่านไปแล้วเกือบ 30 ปี พลังของนักศึกษาไทยจึงไม่ค่อย ๆ กลับฟื้นตัวขึ้น วิธีที่รัฐไทยทำลายพลังของนักศึกษาก็คือ 1) ตัดขาดนักเรียนนิสิตนักศึกษาจากกิจกรรมทางการเมือง โดยการใช้อำนาจคณะปฏิวัติ บังคับห้ามนักศึกษาจัดกิจกรรมทางเมือง ที่ขัดแย้งกับแนวทางการบริหารประเทศของรัฐ อนุญาตให้จัดได้เฉพาะกิจกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาสังคมตามแนวทางของรัฐ ได้แก่ ค่ายอาสาพัฒนาชนบท เท่านั้น ปัจจุบัน แม้นักศึกษามีอิสระที่จะจัดกิจกรรมทางการเมือง แต่กิจกรรรมค่ายอาสาพัฒนา ก็ยังคงเป็นกิจกรรมทางสังคมกิจกรรมเดียวที่นักศึกษาไทยยุคปัจจุบันกระทำ 2) ปล่อยให้วิถีชีวิตของระบบทุนนิยม ที่มีเงินเป็นพระเจ้า สลายจิตสำนึกทางสังคมของนักศึกษาลงไปเอง สนับสนุนให้นักศึกษาหันกลับไปหากิจกรรมบันเทิง กิจกรรมรับน้องเลี้ยงรุ่น ซึ่งทำให้นักศึกษาคิดถึงแต่การแสวงหาความสุขสนุกสนานใส่ตนเอง คิดถึงแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า สนับสนุน กิจกรรมโซตัส และกิจกรรมเชียร์ ซึ่งก็คือการใช้อิทธิพลของก ฎ หมู่บังคับให้นักศึกษากลายเป็นพวกนักยอมตามนักคล้อยตาม สังคม และเตรียมตัวไว้สำหรับการเป็นนักไต่บันไดสังคมในอนาคต แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่รัฐไทยกระทำก็คือ 3) ลดคุณภาพของการศึกษาของชาติระดับพื้นฐานลง เพื่อทำลายพลังความสามารถในการคิดของนักเรียนนักศึกษา ด้วยการบังคับการสอบทุกวิชาของโรงเรียนในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นแบ บ ปรนัย เพื่อทำให้นักเรียนนักศึกษากลายเป็นนักท่องจำ ไม่จำเป็นต้องเข้าใจในสิ่งที่ตนเรียน ไม่สามารถคิดอะไรอย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่สามารถคิดอย่างเป็นระบบ และคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนรอบด้าน เพราะมีแต่การสอบแบบอัตนัย การฝึกให้คิดตั้งคำถามโต้เถียงหาคำตอบ เท่านั้น ที่จะสร้างความสามารถดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ ช่วงเวลาเกือบ 30 ปีที่นักศึกษาไทยไร้จิตสำนึกต่อสังคม จะเป็นช่วงเวลาที่การศึกษา ไทยตกต่ำอย่างถึงที่สุด ด้วยเช่นกัน

สรุป นี่คือประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของคนพันธุ์ใหม่ ในสังคมไทย ประวัติศาสตร์ของคนหนุ่มสาวผู้ถูกสอนให้ไร้จิตสำนึกต่อสังคม ให้เห็นเงินตราเป็นพระเจ้า เห็นความร่ำรวยเป็นเป้าหมายของชีวิต ซึ่งความผิดก็ไม่ใช่ของคนหนุ่มสาว หากแต่เป็นของทหาร รัฐไทย ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางของประเทศไทยในอดีต ที่เห็นดีเห็นงามกับระบบทุนนิยม และเลือกวิธีการต่อสู้เพื่อปกป้องระบบทุนนิยม ด้วยวิธีทำลายพลังและจิตสำนึกทางสังคมของคนหนุ่มสาว

ที่จริงแล้ว การต่อสู้ทางชนชั้น ระหว่างชนชั้นบนหรือฝ่ายขวา และชนชั้นล่างหรือฝ่ายซ้ายเกิดขึ้นทุกหนแห่งในโลก ภายใต้การชี้นำของสองอุดมการณ์ คืออุดมการณ์แห่งความเสมอภาคและอุดมการณ์แห่งเสรีภาพในการครอบครองหรือทุนนิยม ซึ่งลงเอยด้วยชัยชนะของอุดมการณ์ทุนนิยมในที่สุด แต่ในสังคมตะวันตกที่มีระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ระบบทุนนิยมไม่ได้ชนะด้วยการที่ชนชั้นสูงทำลายพลังในการต่อสู้เรียกร้องของชนชั้นล่างเหมือนในประเทศไทย แต่ด้วยการประนีประนอมกับเสียงเรียกร้องของประชาชนชั้นล่าง ยอมรับนโยบายแบบสังคมนิยมหรือการเป็น “คอมมิวนิสต์แบบอ่อน” สร้างขึ้นเป็นระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งหมายถึงการที่รัฐเก็บภาษีแบบก้าวหน้า เอาเงินจากคนรวยมาเลี้ยงคนจน ให้การค้ำประกันว่าจะต้องไม่มีคนจนที่ถูกทิ้งให้ไร้สวัสดิการในชีวิต ซึ่งหมายถึงการที่ชนชั้นสูงต้องยอมลดทอนผลประโยชน์และความได้เปรียบของตนลง ซึ่งก็เท่ากับการยอมรับความถูกต้องของความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคมตามอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ในระดับหนึ่งนั่นเอง ซึ่งในการยอมประนีประนอมนี้ ชนชั้นสูงก็ไม่ต้องลดทอนคุณภาพการศึกษาและควบคุมความเป็นจริง พลเมืองก็มีคุณภาพทางปัญญาสูง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แก้ปัญหาเก่ง ทำให้สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง แข็งขันในตลาดโลกได้ดี ดังนั้นชนชั้นสูงแม้จะเสียภาษีมากขึ้น ก็ไม่ใช่การเสียที่สูญเปล่า

การที่ชนชั้นสูงในสังคมไทยชนะชนชั้นล่างด้วยอำนาจเผด็จการ ประเทศไทยจึงยังไม่เป็นรัฐสวัสดิการ เจ้าของทุนยังคงมีอิสระที่จะเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างด้วยการกดค่าจ้างแรงงาน เพื่อให้ตนเองได้ผลกำไรสูงสุดและร่ำรวยมากขึ้นทุกวัน นี่จะเป็นแค่ผลประโยชน์ในระยะสั้นอย่างแน่นอน เพราะตราบใดที่พลเมืองเชื่องและโง่ด้วยระบบการศึกษาที่เต็มไปด้วยอำนาจและความไร้เสรีภาพ แรงงานก็จะมีคุณภาพต่ำ ประเทศชาติก็จะอ่อนแอลง และในที่สุดก็จะเป็นผู้แพ้ไล่ตามใครก็ไม่ทัน แต่ประเด็นสำหรับเราก็คือ ในขณะนี้ เรามีชีวิตที่พออยู่ได้ และได้เรียนในระดับสูง แต่คนอื่นที่เป็นลูกจ้างหาเช้ากินค่ำ มีรายได้เพียงแค่พอมีชีวิตรอด คนจนหากินอยู่ตามข้างถนนยังมีอยู่มากมาย และถูกทิ้งให้เผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอนของชีวิตอย่างไม่มีหลักประกันใดๆ ทั้งสิ้น คนพิการไร้ความสามารถที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง ก็ต้องกลายมาเป็นขอทานเพราะไร้การค้ำประกันปัจจัยสี่ ซึ่งอาจได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเพียงแค่ด้วยระบบประชา สงเคราะห์ ซึ่งไม่อาจแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงเหมือนระบบสวัสดิการ เราในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่พอจะมีอยู่มีกิน มีชีวิตที่มั่นคงพอสมควรแล้ว จะทำอะไรได้บ้างกับคนที่ประสบเคราะห์กรรมทุกข์ยาก ไร้ที่พึ่ง อยู่ในสังคมเหล่านั้น ควรหรือที่เราจะมัวแต่สนใจแต่อนาคตของตนเองแล้วก็หาความสุขความบันเทิงไปวันๆ กับกิจกรรมไร้สมองไร้สาระในมหาวิทยาลัย ที่หาประโยชน์อะไรกับคนที่ทุกข์ยากไม่ได้เลย

เราอาจช่วยเหลือสังคมด้วยการให้เงินขอทาน แต่มีขอทานอีกมากมายที่เราไม่ได้พบเจอ และเราก็ไม่มีเงินที่จะแจกจ่ายให้กับขอทานทุกคนที่เราพบ ดังนั้น นอกจากการให้เงินขอทานเป็นครั้งคราวแล้ว เรามีอำนาจที่จะทำอะไรอื่นอีกบ้างหรือไม่ การทำค่ายอาสาพัฒนาชนบทด้วยการเอาวัตถุไปให้ชาวบ้านตามหมู่บ้านก็ไม่ต่างอะไรกับการให้เงินขอทาน นี่เป็นสิ่งที่รัฐชอบเพราะมันเข้ากับระบบประชาสงเคราะห์ของรัฐ แต่มันไม่เคยแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนชั้นล่างอย่างแท้จริง

ที่จริงแล้วในระบบประชาธิปไตย เราทุกคนมีอำนาจทางการเมือง ซึ่งหมายถึงอำนาจในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายของประเทศ ด้วยการสร้างพรรคการเมืองที่จะนำความต้องการของเราไปสร้างเป็นกฎหมายบริหารประเทศ ด้วยอำนาจนี้เราสามารถช่วยเหลือคนจนและขอทานด้วยการเปลี่ยนแป ล งก ฎ หมายให้เก็บภาษีแบบก้าวหน้า คือให้คนรวยเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าคนจน และนำเงินภาษีมาจัดสวัสดิการสังคม ค้ำประกันให้กับประชาชนทุกคนว่าเขาจะมีปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต นี่ย่อมจะเป็นสิ่งที่นายทุนและคนรวยไม่ต้องการเพราะเขาจะแสวงหาประโยชน์ใส่ตนจากทุนที่เขาครอบครองได้น้อยลง แต่คุณจะเลือกช่วยเหลือผู้ที่เสียเปรียบหรือนิ่งเฉยเพื่อให้ผู้ที่ได้เปรียบยังคงได้เปรียบต่อไป

แต่ตราบใดที่รัฐบาล เป็นรัฐบาลของผู้ที่ได้เปรียบทางสังคม และเขาคิดถึงแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น เขาก็จะย่อมต้องการให้เราสำนึกถึงอำนาจนี้ และใช้มันในระดับที่น้อยที่สุด คือให้เรารู้สึกว่าเรามีอำนาจนี้เพียงหนึ่งวันในสี่ปี คือในวันที่เราออกเสียงเลือกตั้งเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นแล้ว เราก็จะปล่อยชะตากรรมของสังคมไว้ในมือของนักการเมืองอาชีพและเจ้าหน้าที่รัฐ และเขาก็ไม่อยากให้เราไปร่วมมือกับคนจนสร้างพรรคการเมืองขึ้นมาเอง แต่ให้เราเลือกเอาจากพรรคที่พวกเขาซึ่งเป็นนายทุนตั้งขึ้นมาให้ประชาชนเลือกเท่านั้น แต่ที่จริงเราและประชาชนทุกคนมีอำนาจนี้อยู่ทุกวัน เว้นแต่ว่าจะไม่รู้สึกเท่านั้น นักศึกษายุค 14 ตุลา 6 ตุลา รู้สึกว่าเขามีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการเอาใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเข้ารวมกลุ่มเรียกร้องกับผู้เสียเปรียบ พยายามรวมกลุ่มกันทางการเมืองเพื่อจะนำไปสู่การสร้างพรรคการเมืองของคนจน นี่คืออำนาจของประชาชนทุกคนในระบอบประชาธิปไตย อำนาจที่จะแสดงออกเพื่อให้สังคมรับรู้ว่าเขากำลังเผชิญปัญหาอะไร อะไรคือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้น และต่อสู้เพื่อที่จะไปถึงสิ่งนั้น ถ้าเราไม่รู้สึกถึงอำนาจที่จะช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงสังคมมากเท่าที่พวกเขารู้สึก เราคงต้องตั้งคำถามกับตัวเราเอง และยิ่งถ้าเราเองเป็นผู้ที่กำลังถูกรังแก หรือเอารัดเอาเปรียบ และลิดรอนสิทธิ แต่เรากลับรู้สึกไม่มีอำนาจที่จะลุกขึ้นต่อสู้ แสดงออกและเรียกร้องในสิ่งที่เป็นสิทธิของเรา จำเลยก็คือตัวการศึกษาของรัฐเองนั่นแหละที่ทำให้เราอ่อนแอ

อำนาจทางการเมืองนั่นเชื่อมต่ออยู่กับอำนาจในชีวิตประจำวัน ถ้าคุณกลัวครูในฐานะผู้ถือครองอำนาจ คุณก็จะกลัวคนทุกคนที่ถือครองอำนาจรวมทั้งรัฐด้วย ดังนั้นโรงเรียนในฐานะเครื่องมือของรัฐ มีเป้าหมายที่จะทำให้นักเรียนรู้สึกไร้อำนาจในตนเองให้มากที่สุด ด้วยการทำให้ห้องเรียนเป็นเสมือนห้องขัง ครูเป็นเสมือนผู้คุมนักโทษ และโรงเรียนเป็นอาณาจักรแห่งความกลัว ซึ่งส่งต่อมาถึงระดับอุดมศึกษาด้วยระบบโซตัส โดยนักศึกษาเข้ามาเป็นผู้สร้างความกลัวและความอ่อนแอ ความรู้สึกไร้อำนาจให้แก่กัน โดยมีมหาวิทยาลัย และผู้มีอำนาจในสังคมภายนอกคอยให้การสนับสนุน นักศึกษาครูบาอาจารย์จึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐโดยไม่รู้ตัว ผ่านจิตสำนึกแบบอุปถัมภ์นิยมอำนาจนิยม และชัยชนะทางวัฒนธรรมดังที่กล่าวในบทที่แล้ว

เราทุกคนเป็นผลผลิตของกระบวนการของประวัติศาสตร์ พวกคุณถูกสภาพการณ์ทำให้ทั้งไร้จิตสำนึกต่อสังคม และรู้สึกไร้อำนาจทางการเมือง และผลก็คือ การมีชีวิตแต่ละวันที่ไร้ค่าไร้สาระโดยสิ้นเชิง ถ้าคุณคิดว่าการเป็นคนดีในระบบโซตัสทำคุณมีค่า คุณก็กำลังหลอกตัวเอง ซึ่งก็เพียงเพราะคุณรู้สึกไร้ค่าในตนเอง จึงต้องหาค่าปลอมๆ จากการเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น และนักศึกษาก็มักจะเป็นเช่นนี้ไปจนเรียนจบ และจะแสดงออกถึงการที่ต้องอิงอาศัยความชื่นชอบของคนอื่นมาเป็นเครื่องวัดค่าของตนในวันพระราชทานปริญญา ซึ่งจะเป็นวันที่เป็นสัญลักษณ์จริงๆ ของการเป็น “ปริญญาชน” และการเป็น “สัตว์สังคม”

แต่นั่นเป็นทางเลือกที่ผิด เพราะมันจะพาไปสู่ชีวิตที่หลอกลวงตัวเองมากขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ คุณควรปลุกความรักที่คุณสามารถให้ได้ต่อผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ใจ มากกว่าที่จะเรียกร้องความรักความชื่นชมจากผู้อื่น เพราะค่าที่แท้จริงของชีวิตอยู่ที่การเป็นผู้ให้ด้วยใจบริสุทธิ์ พร้อมกับการใช้ปัญญาอย่างเต็มที่ เพื่อให้การให้นั้นสร้างคุณค่าที่สูงที่สุด และนี่คือความหมายที่แท้ของคำว่า “ปัญญาชน” “ปัญญาชน”ไม่ใช่คนที่มีแต่หัวใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่น แต่เขาใช้ปัญญาศึกษาปัญหาของผู้คน จนเข้าใจสังคมอย่างมากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ เรียนรู้และแสวงหาปัญญาเพิ่มเติมตลอดเวลา เพื่อให้ความสัมพันธ์ของเขากับผู้อื่นมีความหมายสูงสุดอยู่เสมอ คุณสามารถจินตนาการใช้ชีวิตแบบอื่นที่มีคุณค่ายิ่งไปกว่านี้ได้หรือไม่

เราลองมาเป็นปัญญาชนกันดูสักนิด คุณคิดอย่างไรบ้างกับการที่ระบบทุนนิยม ได้พัฒนามาจนปัจเจกบุคคลสามารถอ้างกรรมสิทธิ์ในพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ทั้งส่วนที่เป็นของธรรมชาติ และที่เกิดขึ้นจากผู้ที่มีเทคโนโลยีสูงเข้าไปตัดแต่งเปลี่ยนให้ดีขึ้น ปัจเจกบุคคลจะหยุดการถือครองและใช้ประโยชน์เพื่อผลได้ส่วนตัวของตนเองที่จุดไหน ปัจเจกบุคคลอาจพร้อมที่จะอ้างกรรมสิทธิเหนือดวงดาวและจักรวาล สังคมจะขีดเส้นให้กับอำนาจที่จะครอบครองเป็นเจ้าของของมนุษย์ และสร้างให้เกิดความเท่าเทียมกันที่สูงที่สุดที่เป็นไปได้ได้อย่างไร คุณเห็นไหมว่าบริษัทยาอ้างกรรมสิทธิ์เหนือสูตรยาที่ตนเองคิดค้นขึ้นมา และตั้งราคายาตามความพึงพอใจ จนไม่สนใจว่าคนในโลกกำลังตายไปวันละมากเท่าไรเพราะยามีราคาแพง จนคนในโลกต้องออกมาร่วมกันประท้วงว่าสิทธิในชีวิตของมนุษย์ต้องมีค่าเหนือกว่าสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่บริษัทยาก็ยังยืนยันว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิในการแสวงหาผลกำไรของเขาสูงสุดของเขาตามระบอบทุนนิยมและตลาดเสรี นั่นหมายความว่าระบบทุนนิยมจะต้องอยู่เหนือศีลธรรมหรืออย่างไร ถ้าไม่เช่นนั้นระบบเศรษฐกิจจะต้องพังพินาศหรืออย่างไร แล้วทุนนิยมที่ไม่มีศีลธรรมคอยควบคุมจะไม่ทำให้มนุษย์กดขี่กันเองและทำให้โลกพังพินาศดอกหรือ ต่อไปในอนาคตโลกจะเป็นอย่างไร ถ้าทุกคนคิดแต่จะหาประโยชน์สุขสูงสุดให้แก่ตนเองและครอบ ครองให้มากที่สุด ตามความเชื่อของลัทธิทุนนิยม

และสุดท้าย ถ้าคุณคิดว่าเป้าหมายของชีวิตคือความร่ำรวย คุณก็กำลังหลงอยู่ในมายาคติของโลกทุนนิยม คุณอาจจะคิดว่าเงินทำให้คุณมีความสุข แต่ขอให้คุณรู้ไว้อย่างหนึ่งว่า ความสุขจะไม่ทำให้คุณรู้สึกว่าชีวิตของคุณมีค่าจริงได้ และสอง ทุนนิยมเป็นปีศาจร้าย โลกกำลังอยู่ในอันตรายเพราะปีศาจตัวนี้ มนุษย์เบียดเบียนกันเองและกำลังทำลายโลกเพราะความหลงในความสุขความร่ำรวยของคนทั้งหลาย.



[1] แม้จะด้วยเหตุแห่งอำนาจในการประชาสัมพันธ์ของรัฐเป็นหลัก แต่ก็เป็นความจริงว่าประชาชนรักและบูชาสถาบันกษัตริย์อย่างสมด้วยเหตุผล คือด้วยเหตุแห่งความที่สถาบันกษัตริย์ได้ทุ่มเททำเพื่อประชาชนอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ดังนั้นความรักที่พระมหากษัตริย์มีต่อประชาชนจึงไม่มีข้อให้ต้องสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยอาจไม่ได้เป็นความสัมพันธ์ที่คล้อยตามกับความรักที่พระมหากษัตริย์มีต่อประชาชนก็เป็นได้ เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิเสธได้ยากเช่นกันว่า สถาบันกษัตริย์พยายามปลูกฝังความรักในลัทธิชาตินิยมลงในหมู่ประชาชน ยิ่งกว่าที่จะปลูกฝังความรักในลัทธิประชาธิปไตย เพราะนอกจากจะกระทำตนเป็นผู้ให้แล้ว พระมหากษัตริย์ก็ทำตนเป็นผู้สอนคุณธรรมต่างๆ ที่สำคัญต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความสามัคคี และสิ่งที่จะเป็นผลประโยชน์ต่างๆ ต่อความมั่นคงของชาติ แต่ดูเหมือนว่าในทัศนะของสถาบันกษัตริย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในสังคม จะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่เป็นประโยชน์สุขของชาติ หรือมีความสำคัญต่อประโยชน์สุขของชาติน้อยมาก เพราะเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะหาคำสอนของสถาบันกษัตริย์ในเรื่องที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตยเหล่านี้ หรือไม่เช่นนั้น ความคิดเรื่องประโยชน์สุขของชาติก็อาจเป็นความคิดที่ซ่อนปัญหาบางอย่างอยู่ภายใน คืออาจต้องอาศัยการตีความที่พิเศษมากๆ เท่านั้น ที่มันจะครอบคลุมไปถึงสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในสังคม

[2] จากการวิจัยเอกสารที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาการศึกษาของไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ . ศ . 2495 วิทศ์ วิทย์เวทย์ สรุปว่า การศึกษาไทยมีเพียง 2 เป้าหมายเท่านั้น คือ เพื่อหาคนมาขยายระบบราชการ และเพื่อสร้างพลเมืองที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ การวิจัยการศึกษาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของเสน่ห์ จามริก สรุปว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง การศึกษาไทยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งไม่สอดคล้องกับการที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมีอาชีพทางการเกษตร สรุปก็คือการศึกษาที่จัดโดยรัฐไทยมีเป้าหมายหลักคือเพื่อพัฒนาการปกครองและระบบเศรษฐกิจเท่านั้น

[3] แต่ก็เป็นไปได้อย่างเต็มที่ที่ความต้องการของรัฐและความต้องการของระบบทุนนิยมจะขัดแย้งกัน รัฐที่มีคนชั้นสูงปกครองคนชั้นล่างจะต้องการให้ชนชั้นล่างโง่และเชื่อง เพื่อจะได้ปกครองง่าย แต่ระบบทุนนิยมต้องการคนฉลาดและมีความคิดสร้างสรรค์ และนี่จะเป็นทางสองแพร่งของชนชั้นสูงและนายทุน ถ้าพวกเขาต้องการแข่งขันในตลาดโลก เขาก็ต้องพัฒนาการศึกษา แต่ถ้าการศึกษาดี คนฉลาดมากขึ้น เขาก็ปกครองยาก แต่เขาก็จะได้คนเก่งมาทำงาน และแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น ถ้าพลเมืองฉลาดขึ้น เขาก็ต้องจ่ายภาษีและค่าแรงมากขึ้น แต่ธุรกิจของเขาก็จะไปได้ดีขึ้น คำถามก็คือ เขาควรพัฒนาการศึกษาของชาติให้มีคุณภาพสูงขึ้นหรือไม่ คำตอบก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะเลือกผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือผลประโยชน์ระยะยาว

[4] ทำไมพระราชหัตถเลขาในการสละราชบัลลังก์ของรัชกาลที่ 7 จึงถูกยกมาเสนออยู่ตลอดเวลา โดยเราไม่เคยได้เห็นคำอธิบายใดๆ เลยจากฝ่ายของคณะราษฎร์ ว่าเรื่องราวที่แท้จริงของความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นสลับซับซ้อนแค่ไหน มีเหตุผลที่แท้จริงเป็นอย่างไรกันแน่ ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะตัดสินเรื่องดังกล่าวอย่างยุติธรรมได้อย่างไร

[5] คุณควรหารายละเอียดเกี่ยวกับตัวบุคคลดูด้วยว่าใครมีบทบาทอะไรบ้าง ทั้งก่อนหน้าและภายหลังการฆาตกรรมหมู่นี้ ใครที่ได้ดิบได้ดีขึ้นมา และนอกจากรัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องถูกล้มลงไปแล้ว มีใครอีกบ้างที่ต้องสูญเสียตำแหน่งเพราะไปเห็นใจฝ่ายนักศึกษา และไปแสดงความจริงให้สาธารณชนรู้ ฯลฯ คุณจะได้รู้ความจริงที่เหลือเชื่อหลายๆ อย่าง

[6] ในทั้งสามทฤษฎีนั้น ทฤษฎีสุดท้ายมีสถานะที่ดีที่สุด ทฤษฎีแรกอิงอาศัยความเชื่อทางอภิปรัชญาที่ไร้พื้นฐานว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับธรรมชาติที่เห็นแก่ตัว เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่าความเห็นแก่ตัวของมนุษย์แต่ละคนนั้นได้มาแต่กำเนิด หรือถูกสร้างขึ้นโดยสังคม ทฤษฎีที่สองทิ้งคำถามว่ารัฐคอมมิวนิสต์เกิดความต้องการที่จะแข่งอำนาจกับรัฐทุนนิยมขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าถือว่าเป็นการสะท้อนความต้องการทั่วไปของคนที่มีอำนาจอยู่ในสังคมคอมมิวนิสต์ ก็เท่ากับเปิดทางให้ทฤษฎีที่สาม ทฤษฎีที่สามถามคำถามที่ตรงกับคำถามของเราในบทที่แล้วว่า การเอาชนะความชั่วด้วยความชั่ว คือด้วยอำนาจและความรุนแรงนั้นจะสร้างความดีที่ถาวรได้อย่างไร การกระทำเช่นนั้นเกิดจากแรงขับของความโกรธแค้นและความกระหายอำนาจมากกว่าความต้องการความดี ความดีและความถูกต้องที่ใช้อ้างเพื่อเป็นเหตุแห่งการปฏิวัติ อาจเป็นเพียงเหตุผลที่เขาใช้ปิดบังความกระหายอำนาจเท่านั้นก็เป็นได้ เหมือนอย่างความดีจอมปลอมในระบบโซตัส ยิ่งกว่านั้น ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ในสังคมทุนนิยม ก็อาจเป็นผลผลิตของความกระหายอำนาจที่สังคมชนชั้นก่อนหน้าสังคมทุนนิยมประชาธิปไตยสร้างให้เกิดขึ้นก็เป็นได้ และอย่างน้อยที่สุดก็เป็นไปอย่างเต็มที่ ที่จะมีนักปฏิวัติตามลัทธิคอมมิวนิสต์ที่จะเป็นนักอนุลักษณ์นิยมทางศีลธรรม คือเป็นนักศีลธรรมแบบอำนาจนิยมไปพร้อมๆ กัน เช่น เห็นว่าไม่ว่าอย่างไรลูกก็ไม่ควรเถียงพ่อแม่ ซึ่งหมายความว่าเขาอาจโกรธแค้นต่อการมีชนชั้นทางเศรษฐกิจและชนชั้นทางการปกครอง แต่จิตสำนึกของเขาก็ยังคงยอมรับชนชั้นทางวัฒนธรรมแบบผู้น้อย ผู้ใหญ่ เป็นที่รู้กันว่าเอ็นจีโอของไทยซึ่งมาจากอดีตคอมมิวนิสต์ยังมีวัฒนธรรมองค์กรแบบผู้น้อยผู้ใหญ่ ไม่ต่างจากระบบราชการไทย พรรคคอมมิวนิสต์เองก็กลายเป็นระบบราชการอันใหญ่โตมหึมาจนหาความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ เลย

Sửa lần cuối: Tuesday, 24 July 2012, 8:35 PM