การศึกษาในฐานะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก

ในสังคมไทย

 

รองศาสตราจารย์เอกศักดิ์ ยุกตะนันทน์

ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยขอนแก่น

E-mail : aksak@kku.ac.th

 

 

 

การให้การศึกษาคือความสัมพันธ์ของความรักระหว่างสมาชิกของสังคมที่ต่างรุ่นวัยกัน ฉะนั้นการให้การศึกษาจึงควรเป็นการให้อันบริสุทธิ์ และครูก็ควรจะอ่อนโยนต่อศิษย์เช่นเดียวกับพ่อแม่ผู้รักลูกของตน แต่มนุษย์เราก็มักจะไร้สติไปด้วยเหตุนานัปการ จนสิ่งอันควรบริสุทธิ์ก็ด่างพร้อยไป ในสังคมไทยเหตุดังกล่าวส่งผลรุนแรงจนน่าสะท้อนใจ เพราะเด็กไทยได้ชื่อว่ายิ่งเรียนยิ่งโง่ แต่กระนั้น ผู้คนก็ยังไม่เฉลียวใจ เพราะมิจฉาทิฐิอันพาไปสู่ความไร้สติ เป็นความดำมืดที่ซ่อนลึกอยู่ใต้กมลสันดานที่พวกเขาไม่เคยส่องสำรวจลงไปถึง แม้พวกเขาจะเรียกตนเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ว่าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ซึ่งควรจะสำรวจจิตใจของตนเองอยู่เสมอ

การศึกษาของไทยไม่ใช่ความสัมพันธ์ของการให้ด้วยความรักที่บริสุทธิ์ แต่ด่างพร้อยไปด้วยความกระหายอำนาจ การถือทิฐิของตนเป็นใหญ่ ของผู้ให้ ทำให้เป็นการให้ที่กระด้างอย่างที่สุดต่อจิตใจของผู้รับ ซึ่งส่งผลเป็น ความสูญเสียในจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ของผู้เรียน พวกเขาโง่ลง แล้วก็โง่ลง เพราะได้แต่ท่องจำ อย่างแทบไม่เคยใช้ปัญญาเข้าไปตรวจสอบ ไตร่ตรอง จนเข้าใจจริงๆในสิ่งที่ตนเรียน จนมันย้อนกลับไปทำลายจิตวิญญาณแห่งความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขา แล้วก็ทิ้งเอาไว้แต่ความกระหายอยากได้แค่เงินทองที่ความรู้จะเป็นสะพานทอดไปสู่  การศึกษาไม่ได้มีความหมายใดๆ ที่แท้จริงในจิตวิญญาณของเด็กไทย พวกเขาแทบไม่รู้จักแม้สักนิด ว่าสิ่งที่เรียกว่าการเติบโตทางปัญญานั้นคืออะไร  เพราะจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ของเขาถูกฆ่าโดยผู้ที่อยากให้เขามีการศึกษา และโดยผู้ที่ให้การศึกษานั้นเอง

กมลสันดานของมนุษย์ถูกหล่อหลอมด้วยสถานการณ์ของชีวิต และสิ่งที่ถักร้อยขึ้นเป็นโครงสร้างของสังคม ซึ่งก็คือ วัฒนธรรม ศีลธรรม จารีต ประเพณี ระบบเศรษฐกิจการเมืองการปกครอง ตัวบทกฎหมาย  สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้คนยึดถือร่วมกัน จนสร้างให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าจิตสำนึกแห่งสังคม อันทำให้ผู้คนคิดและปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน มีทัศนะคติ แนวโน้ม นิสัย วิธีที่จะคิด จนอาจเรียกได้ว่า มีบุคลิกภาพหรือ “สันดาน” เดียวกัน และเป็นสันดานที่พวกเขามักไม่ยอมที่จะเพ่งสายตาของตนเองลงไปตรวจสอบ ว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลอยู่บ้างหรือไม่ ตราบใดก็ตามที่ชีวิตของเขาไม่เคยถูกสิ่งเหล่านั้นทำร้ายเอาอย่างรุนแรง และเหตุที่เขาไม่อยากตรวจสอบมันเอาเสียเลยก็เพราะมันทำให้เขารู้สึกว่า ตราบใดที่เขาสามารถยอมรับมันไว้ได้โดยดุษฎี เขาก็ย่อมเป็นหนึ่งเดียวกับคนทั้งหลาย ไม่แปลกแยกจากคนอื่นๆ  เพราะฉะนั้นเบื้องหลังการละเลยเพิกเฉยที่จะตรวจสอบ ก็คือการที่ผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาแต่ละคนกลมกลืนเข้ากันได้กับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และเพราะเหตุแห่งความขลาดกลัวอันซ่อนลึกอยู่ในจิตวิญญาณของพวกเขา ที่จะคิดในสิ่งอันผิดแผกแตกต่างไปจากคนอื่นๆ รอบข้าง

วัฒนธรรมอันกำหนดจิตสำนึกของผู้คนในสังคมนั้น ซ่อนเร้นไว้ด้วยความหลงตนเองอยู่เสมอ เพราะเกิดจากการสอดประสานของผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และจากความรู้สึกของความมีอยู่ของตัวตนอันจอมปลอม ที่พองใหญ่ขึ้นมาด้วยความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อน เพราะมีชื่อเรียกเดียวกัน ความจอมปลอมดังกล่าวจะพาไปสู่ความกลัว ต่อการสูญเสียความมีอยู่ของตัวตนขึ้นมาทันที หากตัวตนของพวกเขาต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์จนพ่ายแพ้ นี่เป็นความอ่อนแอของมนุษย์ที่ย่อมสามารถเยียวยาแก้ไขได้ ด้วยการเห็นคุณค่าของตัวเองในทางนามธรรมแบบปรัชญาหรือศาสนา ซึ่งก็คือด้วยกระบวนการตรวจสอบตนเองอย่างลึกซึ้ง ฉะนั้น แทนที่จะกลัวต่อการตรวจสอบ วัฒนธรรมควรจะต้องเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นหนทางแห่งการพัฒนาคุณค่าที่แท้จริงใดๆ ก็ตามที่ตนอาจมีอยู่ และเป็นทางแห่งการสลัดทิ้งคุณค่าปลอมๆ ที่เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ ทั้งหลาย

ด้วยตัวของมันเองแล้ว การศึกษาน่าจะเป็นคุณค่าอันแท้จริงที่ทุกวัฒนธรรมพยายามถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นต่อไป ฉะนั้น การที่การศึกษาของเราตกอยู่ในวิกฤตอย่างชัดเจน ย่อมเรียกร้องให้เราตรวจสอบวัฒนธรรมของเราอย่างจริงจัง คือตรวจสอบให้ลึกลงไปถึงรากเหง้าแห่งจิตใจของเรา ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับจิตใจของผู้ใหญ่ผู้เป็นผู้ให้ในสังคมไทย ความดำมืดอะไรได้เข้ามาครอบงำจิตใจของเหล่าผู้ใหญ่ทั้งหลาย เรารู้ตัวหรือไม่ว่าเราเป็นผู้ให้ที่กำลังทำลายจิตวิญญาณในการเรียนรู้ของผู้รับ และกำลังทำลายคุณค่าอันแท้จริงของสิ่งที่เรากำลังให้กับผู้เยาว์ของเรา ฉะนั้น ปัญหาก็คือ อะไรหรือที่ถักร้อยระบบโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมของเรา ที่สร้างให้เราทุกคนกลายเป็นเช่นนั้น เหมือนกันไปหมด

คำตอบก็คือ ด้วยเหตุผลของการต่อสู้ระหว่างผู้ต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ ในการเมืองของไทย ผู้ที่มีอำนาจและครองชัยชนะในการต่อสู้ดังกล่าว ได้ถักร้อยความสัมพันธ์ทางสังคมของไทย จนทำให้ผู้ใหญ่ไทยทุกคนกลายเป็นผู้มีจิตใจที่ดำมืดไปตามตน กล่าวคือ เต็มไปด้วยโมหะ ถือตนเป็นถือตั้ง ใช้อำนาจเป็นใหญ่เหนือเหตุผล ไม่สนใจต่อจิตใจของเด็ก ทำให้การศึกษาของเรากลายเป็นสิ่งซึ่งไร้หัวใจ สิ่งที่ชวนให้สมเพชที่สุดก็คือ การกระทำดังว่าทั้งหมดใช้ความรักและความหวังดีเป็นข้ออ้าง แต่เป็นความรักและความหวังดีที่เด็กไม่เคยมีโอกาสที่จะเอ่ยปากตั้งคำถามอะไรได้เลย เพราะถูกถือไว้แล้วว่าเด็กดีต้องว่านอนสอนง่าย มีความกตัญญูกตเวที ไม่มีปากไม่มีเสียง เพราะ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์คือผู้มีพระคุณ  ผู้ให้กำเนิด ผู้เลี้ยงดู และผู้ให้สิ่งมีค่าต่างๆ ในชีวิต

นั่นก็คือ ความกตัญญูกตเวทีได้กลายเป็นคุณธรรมที่ดำมืดที่สุดในสังคมไทย เพราะถูกนำมารับใช้ต่อการถือตนเป็นที่ตั้ง การใช้อำนาจเหนือเหตุผล การไม่สนใจต่อจิตใจและความรู้สึกของเด็ก และนี่คือสิ่งที่ผู้ใหญ่ไทยทั้งหลายล้วนแต่เป็นกันไปหมด

ด้วยเหตุผลของสถานการณ์ทางการเมือง ที่บวกเข้ากับศีลธรรมแบบปิตาธิปไตย ผู้ใหญ่ไทยได้เข่นฆ่าชีวิตของลูกหลานของสังคมไทยไปเสียจำนวนหนึ่ง ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 แล้วหลังจากนั้นผู้ใหญ่ไทยทั้งหลายก็ช่วยกันสร้างระบบอนุรักษ์นิยมทางศีลธรรมขึ้นครอบงำสังคม[1] พร้อมกับขยายระบบทุนนิยมบริโภคนิยม ร่วมกันผลักดันของสองอย่างนี้ให้เติบโตไปให้ถึงที่สุด และนี่ย่อมเพียงพอแล้วที่จะทำลายจิตวิญญาณของลูกหลานของเรา ส่งจิตวิญญาณของเขาไปลงนรก อย่างไม่มีโอกาสที่จะได้กลับมาผุดมาเกิดอีกเลย

เพราะว่า ระบบอนุรักษ์นิยมทางศีลธรรมทำลายหลักการแห่งความสุขอันบริสุทธิ์ ที่จะทำให้ผู้คนได้ค้นพบคุณค่าและความหมายแห่งชีวิตของตน ในขณะที่ระบบทุนนิยมบริโภคนิยมปรนเปรอชีวิตด้วยมายาและสิ่งอันจอมปลอมทั้งหลาย จนผู้คนไม่รู้ว่าทางเดินของชีวิตที่ถูกต้องคืออะไร

แต่ที่จริง จิตวิญญาณของเด็กจะไม่ถูกทำลาย หรือถูกทำให้หลงทางอยู่ในมายา ถ้าเขามีสติปัญญาที่จะใช้สู้กับมัน แต่ปัญญาคืออาวุธที่จะใช้สู้กับศัตรูได้ทุกชนิด ผู้ปกครองที่เป็นทรราชจึงย่อมไม่ยอมปล่อยให้ผู้อยู่ใต้ปกครองมีปัญญา ฉะนั้น ด้วยความกระหายอำนาจของชนชั้นปกครองไทย การศึกษาไทยจึงถูกลดคุณภาพลงเพื่อผลทางการเมือง แต่แม้ว่าสิ่งนั้นอาจเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วขณะ และแม้เมื่อเราหยุดการกระทำเช่นนั้นแล้ว ตัวของความกระหายอำนาจของชนชั้นปกครองก็ยังเป็นเสมือนเชื้อโรคร้าย ที่แพร่กระจายไปอย่างไม่อาจหยุดยั้ง ฉะนั้น ความกระหายอำนาจจึงแพร่กระจายไปทั่วทั้งสังคมไทยอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ควบคู่ไปกับความรุ่งโรจน์ของจิตสำนึกแบบเจ้าไพร่ ที่หวนกลับมาใหม่ใน “การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” ของไทย ด้วยเหตุเช่นนั้น ไม่ว่าเศรษฐกิจไทยจะร่ำรวยจนสามารถทุ่มเทเงินทองลงไปในการศึกษาได้สักขนาดไหน  ระดับสติปัญญาเฉลี่ยของเด็กไทยก็มีแต่ต่ำลง และมหาวิทยาลัยไทยก็พ่ายแพ้ต่อเพื่อนบ้านอย่างไม่มีทางเทียบได้ พร้อมๆ กับที่เด็กไทยต้องทนกับความทุกข์ทรมานมากยิ่งขึ้นทุกทีๆ จากระบบศีลธรรมแบบอำนาจนิยมอนุรักษ์นิยม และการที่ไม่เคยมีจะสิทธิ์ที่จะมีปากมีเสียงในเรื่องสำคัญๆ ใด ๆ ในชีวิตของตนเองได้เลย  

ใครที่ร่ำเรียนทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาอย่างลึกซึ้งเพียงพอ ย่อมรู้ว่า เมื่อเรากล่าวว่า เรารักในอะไรบางอย่าง อย่างที่มากเสียจนไม่ยอมให้ใครมาแตะต้องหลบหลู่ได้นั้น ต้องมีปมอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา เพราะในระดับของจิตสำนึกของเรานั้น เมื่อผู้ที่เรารักสั่งสอนอะไร แล้วเราไม่กล้าเถียง ไม่กล้าตั้งคำถามอะไรแม้สักคำเดียว ถือเสมือนว่าผู้ที่เรารักเป็นเทพเจ้า หรือเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงสัพพัญญู และเมื่อเราอยู่ที่บ้านหรือที่โรงเรียน หรืออยู่ที่มหาวิทยาลัยที่เราสอน เราเองก็กำลังคิดอุปมาอุปมัยให้เราเป็นเทพเจ้าของลูกของเรา หรือของลูกศิษย์ของเรา อยู่ตลอดเวลานั่นเอง “ดังนั้น จงเชื่อฟัง จงกตัญญู และจงเคารพบูชาฉัน ในแบบเดียวกันกับที่ฉันเคารพบูชาบุคคลผู้เป็นเทพเจ้าของฉัน” เรามีความปรารถนาแบบนี้ซ่อนอยู่เบื้องหลังจิตสำนึกของเรา และนี่คือความกระหายอำนาจอันซ่อนเร้นอยู่ใต้กมลสันดานของผู้ใหญ่ไทยเกือบทุกคน มาเป็นเวลากว่า 40 ปี และทำให้การศึกษาไทยเป็นการให้ที่ด่างพร้อยไปด้วยความชั่วร้ายของความกระหายอำนาจ โดยที่เราไม่เคยยอมสอดสายตาลงไปสำรวจ ว่ามันได้สร้างให้เกิดผลอะไรบ้างต่อชีวิตของเราและลูกหลานของเรา เราแทบไม่ยอมให้ใครมาสัมผัสแตะต้องมันเลย เพราะมันคือความภาคภูมิใจของ “ตัวตน” อันเปราะบางของคนไทยและความเป็นคนไทย

วัฒนธรรมของสังคมจึงทำให้ความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่เดิม ตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์และสัตว์โลก กลายเป็นความกระด้างทางจิตใจ ไปได้พร้อมๆ กับการสวมใส่หน้ากากของการปรุงแต่งด้วยหน้าฉากที่งดงามของพิธีกรรม ตัวอย่างเช่น ในสังคมไทย พิธีไหว้ครู เป็นพิธีกรรมเดียวกับการที่ไพร่ต้องหมอบกราน นำดอกไม้ถูกเทียนไปกราบเท้าถวายตัวไว้ใต้อำนาจเจ้าในระบบศักดินา ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงนัยเชิงอำนาจอย่างชัดเจน โครงสร้างทางสังคมที่วัฒนธรรมเข้าไปร่วมถักร้อย จึงเป็นตัวทำลายความสัมพันธ์ที่บริสุทธิ์ระหว่างมนุษย์ แม้แต่ระหว่างบุพการีและบุตร หรืออย่างน้อยที่สุดก็สร้างการกระทำอันไร้สติได้นานัปการ

ปกติ คนเรามักจะหลงคิดว่าตนเองถูกในทุกๆ เรื่องที่เราเชื่อร่วมกับคนส่วนใหญ่ และเราจะไม่เรียนรู้ถึงความโง่เขลาของตน จนกว่ามหันต์ภัยจะมาถึงตัว ความโง่เขลาของเราก็คือลัทธิปิตาธิปไตย ซึ่งคือการที่พ่อในฐานะ “ผู้ให้” คือผู้ที่จะกำหนดว่าอะไรคือความดีงามสำหรับลูกซึ่งเป็น “ผู้รับ” โดยไม่สนใจว่าลูกจะมีความคิดความต้องการ ที่เกิดขึ้นมาจากภายในจิตใจของตนเองอย่างไร ลัทธิปิตาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิอำนาจนิยม[2] และลัทธิอนุรักษ์นิยมทางศีลธรรม เพราะมันสนับสนุนการใช้อำนาจและการทำลายเสรีภาพระหว่างผู้คนที่ต่างชนชั้นกันในสังคม ขอให้เราลองคิดดูให้ดีว่าทั้งในการเลี้ยงดูที่บ้านและในการให้การศึกษาแก่เด็ก เราสร้างความแตกต่างทางชนชั้นอะไรบ้าง และเด็กต้องสูญเสียสิทธิ์และเสรีภาพใดบ้างให้กับอำนาจของพ่อแม่ และครูอาจารย์ หรือแม้กระทั่งให้กับ “รุ่นพี่” ในมหาวิทยาลัย  

คำถามสำหรับสังคมไทยก็คือ เราจะต้องรอให้มหันต์ภัยมาถึงตัวหรืออย่างไร เราจึงจะเห็นโทษของการยัดเยียดความคิดของผู้ใหญ่ไปใส่สมองเด็ก และเห็นโทษของการทำตัวเป็นผู้ทรงภูมิรู้ ใช้อำนาจ ปกครองลูกและศิษย์ ตัดสินทุกอย่างให้เด็ก อย่างที่เด็กไม่มีสิทธิ์แม้จะตั้งคำถาม การที่เด็กไทยโง่ลงๆ ทุกวันยังไม่ใช่มหันต์ภัยอีกหรืออย่างไร เมื่อไหร่พ่อแม่ของไทย ครูของไทย จะรู้ถึงความโง่เขลาเบาปัญญาของตนเองเสียที  

หลักการพื้นฐานของชีวิตคือการมีความสุขในทุกสิ่งที่ทำ การมีที่เด็กมีความสุขกับสิ่งต่างๆที่เป็นตัวเขาเป็นสิ่งที่ผิดตรงไหน ในบางสถานการณ์ผู้ใหญ่อาจถูกผลักดันให้ต้องตอบว่าผิด แต่ก็เป็นการตัดสินอย่างที่ผู้ใหญ่จะไม่มีปัญญาอธิบายอะไรให้เด็กเข้าใจได้เลย เพราะโลกของเด็กและโลกของผู้ใหญ่เป็นคนละโลกกันโดยสิ้นเชิง แต่ที่ปัญหาง่ายๆ ของการไม่อาจสื่อสารกันได้นี้ กลายเป็นความรุนแรงของชีวิตอยู่เสมอ ก็เพราะผู้ใหญ่เอาโลกของตนเองมากำหนดโลกของเด็กอยู่ตลอดเวลา นี่คือผลของความรักที่ไร้สติ ความวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ ความกระหายอำนาจ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือปนกันทั้งหมด ชีวิตควรจะมีความสุขในทุกๆ อย่างที่เป็นไปได้ แต่ทำไมผู้ใหญ่ถึงได้พยายามเสียเหลือเกิน ที่จะทำลายความสุขในชีวิตของเด็ก ในสิ่งที่เขาเป็นตัวของเขาเอง และในการที่เขาจะตั้งคำถาม โต้แย้ง และคิดสิ่งต่างๆ ให้ตนเองอย่างอิสระ

หลักการแห่งความสุขเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดของชีวิต เพราะถ้าในทุกกิจกรรมของชีวิตไม่มีความสุขของตัวเองรองรับเป็นเหตุผลแล้ว กิจกรรมนั้นก็ย่อมไร้ค่าไร้ความหมายในตัวของมันเอง ถ้าเราตัดความสุขออกไปจากกิจกรรมในชีวิตของเด็ก เราก็กำลังฆ่าจิตวิญญาณของพวกเขาไปทีละนิด ทำให้ชีวิตของเขาเหลือแต่ร่างกายที่เคลื่อนไหวไปตามคำสั่งของเรา ทำทุกอย่างไปเพื่อความสุขของเราเอง หรือเพื่อคุณธรรมแห่งความกตัญญูที่เขาอาจจะยังไม่พร้อมที่จะทำ หรือไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่จะทำ (เช่นเรียนในสิ่งที่พ่อแม่ชอบแต่ลูกไม่ชอบ) หรือไม่ก็เพื่อคุณธรรมอะไรร้อยแปดพันประการ ที่เราพยายามยกขึ้นมากล่าวอ้าง ยัดใส่เข้าไปในสมองของพวกเขา จนแทบจะทำให้เขาคิดว่าการที่เขาอยู่ในโอวาทของผู้ใหญ่ อย่างไร้สมองนั้น เป็นความดีจริงๆ  ทั้งๆ ที่ ที่จริงแล้ว มันเป็นความดีที่จอมปลอมอย่างที่สุด

แต่ประเด็นที่แท้จริงที่เราจะต้องตระหนักตรงนี้ มีอยู่ประการเดียวเท่านั้น คือ ถ้าสิ่งที่เราต้องการให้เด็กทำ มันทำให้เขาสูญเสียความสุข แล้วเขาถามเราว่า ทำไมเขาควรจะต้องทำมัน เราจะมีคำตอบให้เขาอย่างถึงที่สุดหรือไม่ ไม่ใช่ตอบแบบอ้างอำนาจ หรือแบบขอไปทีพอให้รอดตัวไปคราวๆ  หรือไม่ว่าเราจะตอบอย่างไร มันก็จะเป็นการตอบแบบเอาโลกของเราไปกำหนดโลกของเขา โดยที่เราจะไม่ยอมมองโลกของเด็กผ่านสายตาของเด็กเลยแม้แต่น้อย แล้วถ้าเราและเขาไม่สามารถเข้าใจกันได้ด้วยหัวใจ เราจะมองหน้าพวกเขาตรงๆ ได้อย่างไร เราจะยืนยันได้อย่างไรว่าความรักที่เรามีต่อเขานั้นบริสุทธิ์สะอาดอย่างแท้จริง

อย่าลืมว่าเด็กอยู่ในโลกของเขาเอง และโลกของเขานั้นบริสุทธิ์สะอาดกว่าโลกของเรามากนัก เราเองต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายอดทนรอคอยให้เขาเติบโต จนเขาก้าวออกจากโลกของเขามาสู่โลกของเรา ไม่ใช่คอยฉุด คอยดึงเขาออกมาสู่โลกอันสกปรก วุ่นวาย และน่าสมเพช ของเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเห็นว่าเขาควรต้องช่วยเราแบกภาระรับผิดชอบ ก็แบ่งงานให้เขาเท่าที่ควรแก่การกระทำ แต่เหนือจากนั้น ขอจงปล่อยชีวิตเขาไว้ตามเสรีเถิด จงสอนให้เขารู้จักอันตรายของชีวิต แต่อย่าปกป้องเขาจากอันตรายด้วยการล่ามโซ่หรือขังเขาไว้ในกรงเลย การลงโทษด้วยการสร้างความเจ็บปวดทางกายนั้นไม่เคยช่วยอะไรเลย ยกเว้นแต่เมื่อมันคือการเรียนรู้ว่ามันคือสิ่งแบบเดียวกับที่เขาทำกับคนอื่น  และขอให้ลองคิดดูสิว่าชีวิตของเรานั้นน่าสมเพชแค่ไหนเมื่อเทียบกับเด็ก เมื่อเราโกรธใคร เราโกรธเสียนมนาน โกรธเสียจนเป็นบ้า แต่เด็กโกรธอยู่เดี๋ยวเดียว และเมื่อหายโกรธก็หายจริงๆ ดังนั้น เราควรเป็นเหมือนเขา หรือเขาควรเป็นเหมือนเรากันแน่

โปรดจำไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่เราห้ามเด็กไม่ให้เขาทำในสิ่งที่เขาปรารถนา อย่างไม่อาจให้คำอธิบายที่หัวใจของเขารับรู้ความถูกต้องของมัน ได้นั้น เรากำลังฆ่าจิตวิญญาณของเขา และในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเด็กปรารถนาสิ่งใดด้วยหัวใจแล้ว จะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะหาคำอธิบายแบบนั้นได้ เพราะความปรารถนาของเด็กย่อมบริสุทธิ์สะอาดกว่าความปรารถนาของเราเสมอ

ทุกอย่างที่เป็นวัฒนธรรมก่อตัวมาจากจากความสัมพันธ์ตามธรรมชาติของชีวิต แต่แล้วก็ปรุงแต่งไปตามเงื่อนไขและพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจการเมือง ในการปรุงแต่งนั้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และเด็กถูกทำให้ด่างพร้อย แต่แล้วก็อาจจะได้รับการแก้ไขภายหลัง ตามอนุสติที่เกิดเมื่อยอมนำปัญญามาไตร่ตรอง ฉะนั้น เราควรกลับมาเป็นชาวพุทธที่แท้ ที่คอยสำรวจจิตของตนเองกันเสียที ว่าความรักที่เรามีต่อเด็กนั้นบริสุทธิ์จริงหรือไม่ หรือเต็มไปด้วยมิจฉาทิฐิที่ได้มาจากเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น จากลัทธิปิตาธิปไตย ระบบชนชั้นแบบศักดินาเจ้าไพร่ ผู้น้อยผู้ใหญ่ หรือจาก “ความเป็นไทย” ที่ในที่สุดก็คงต้องนิยามว่า คือการมีคุณสมบัติของความบ้าอำนาจแบบเจ้า พร้อมกับความอ่อนน้อมแบบไพร่ อย่างเบ็ดเสร็จอยู่ในคนๆ เดียว และทำอย่างไร เราจึงจะมีสติเพิ่มมากขึ้นเมื่อเราอยู่กับเด็ก จนเรารู้ว่าความสุขคือสิ่งที่มีค่าที่สุดในทุกกิจกรรมในชีวิตของเด็ก อะไรอื่นๆ ทั้งหลายที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับเขาเป็นสิ่งที่เราต้องจะอดทนรอ จนกว่ามันจะเป็นไปเองตามธรรมชาติ เพราะความสุขเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ชีวิตของเขาทุกวันมีความหมาย และทำให้ทุกสิ่งที่เขาทำมีความหมายต่อตัวเขาอย่างแท้จริง แน่นอนว่านี่ย่อมหมายรวมไปถึงการศึกษาเล่าเรียน เพราะด้วยความสุขเท่านั้นที่จะทำให้เขาเรียนด้วยจิตวิญญาณของความอยากรู้อยากเห็น ไม่ใช่เรียนเพราะความกระหายอยากได้งานที่มีเงินเดือนแพงๆ ซึ่งความคิดความเข้าใจว่าต้องเรียนหนังสือไปเพื่อเงินเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่อะไรนอกไปจากความโลภที่ผู้ใหญ่พยายามยัดใส่เข้าไปในสมองเด็ก.



[1] ระบบอนุรักษ์นิยมทางศีลธรรมคือระบบชนชั้นทางศีลธรรม ที่แสดงออกโดย “ทวิมาตรฐาน” ระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งถือว่าผู้ใหญ่คือผู้ที่ดีพร้อมทางศีลธรรมแล้ว เด็กคือผู้ที่ยังไม่มีความดี และจะดีก็ต่อเมื่อยอมอยู่ใต้อำนาจของกฎระเบียบที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น แต่ผู้ใหญ่เองไม่ต้องอยู่ใต้กฎระเบียบแบบเดียวกันนั้น

[2] คือการถือว่า การใช้อำนาจเพื่อสร้างความดีเป็นความถูกต้อง ตรงกันข้ามกับลัทธิเหตุผลนิยม ซึ่งถือว่าอำนาจเป็นสิ่งชั่วร้ายในตัวเอง และความดีต้องสร้างขึ้นด้วยการใช้เหตุผลมาแสดงความดีนั้น ให้เป็นที่ปรากฏต่อจิตใจเท่านั้น

Terakhir diubah: Thursday, 18 July 2013, 14:36