เรียงความหัวข้อเรื่อง
ความตกต่ำของการศึกษาไทยและความพิการของสติปัญญาของเด็กไทยว่ามีที่มาอย่างไร
“รัฐบาลจะสั่งให้อินเดียนแดงพวกนี้ไปทางตะวันตกไหมจ๊ะ”
“จะสั่งจ้ะ” พ่อตอบ “เมื่อพวกฝรั่งเราอพยพมาถึงนี่แล้ว พวกอินเดียนแดงก็ต้องถอยไป รัฐบาลกำลังจะไล่พวกอินเดียนแดงให้ไปทางตะวันตกไกลๆอยู่เร็วๆนี่แล้ว ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะเหตุนี้เราจึงอพยพมาอยู่ที่นี่ยังไงล่ะ ลอร่า พวกฝรั่งกำลังจะมาตั้งหลักฐานบ้านเมืองกันเต็มไปหมดที่นี่แหละ และเราก็ได้เลือกที่ดินที่ดีที่สุด เพราะเรามาถึงที่นี่เป็นคนแรก เราได้เลือกก่อน เอาละ เข้าใจหรือยังล่ะ”
“เข้าใจแล้วจ้ะพ่อ” ลอร่าตอบ “แต่พ่อจ๊ะ หนูคิดว่าที่นี่เป็นที่ทางของพวกอินเดียนแดงเขา พวกอินเดียนแดงมิโกรธแย่หรือจ๊ะ ที่เขาจะต้อง...”
“ไม่ต้องถามอีกละ ลอร่า” พ่อพูดหนักแน่น “นอนเสียทีเถอะ” (บ้านเล็กในทุ่งกว้าง หน้า 173-174)
“คำถาม” เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจเสียยิ่งกว่าคำตอบที่ได้รับ ซึ่งคำถามนี่เองที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน เพราะคำถามนำพาให้เรารู้จักเหตุและผล ยิ่งเราตั้งคำถามมากเท่าใด เราก็ยิ่งมีสติปัญญาที่เพิ่มพูนมากขึ้นเท่านั้น คำถามช่วยนำพาเราไปค้นพบคำตอบซึ่งนำไปสู่สิ่งใหม่ๆเสมอ ไม่ว่าจะในทางดีหรือร้าย แต่ผลเหล่านั้นก็ทำให้มนุษย์อย่างเราได้เรียนรู้และจดจำเป็นประสบการณ์ติดตัวไปจนวันตาย อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญทางสมองซึ่งทำให้เราวิวัฒนาการมาอยู่ในจุดสูงสุดของอาณาจักรสัตว์อีกด้วย
แต่เพราะเหตุใด? “คำถาม” จึงถูกตีตราว่าเป็น “เครื่องหมายของความแตกต่างและความแตกแยก” ทั้งๆที่ “คำถาม” ก่อนหน้านี้เคยช่วยพัฒนามนุษย์ให้มีวิวัฒนาการล้ำหน้ากว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แต่แล้วเมื่อมนุษย์เริ่มเข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มสังคม การตั้งคำถามเริ่มแสดงให้เห็นถึง “ความแปลกแยก” ของผู้ถามและต่อมามักสร้างความวุ่นวายให้แก่สังคม เป็นเช่นนั้นจริงหรือ? หากเราตั้งคำถามก็จงเริ่มหาคำตอบให้กับตัวเอง เพราะ เราเป็นมนุษย์ผู้มีความขัดแย้งกันในตัวเองระหว่างสิ่งที่เรียกว่า “สัญชาติญาณ” และ “สติปัญญา”
มนุษย์เหมือนกับสัตว์เดรัจฉานอื่นในแง่ของการมีสัญชาติญาณติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด สัญชาติญาณเดิมเหล่านี้เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษได้ส่งต่อมาให้เราเพื่อเป็นเครื่องมือในการเอาชีวิตรอดและเพื่อให้เราดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป ซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า สามารถละทิ้งสัญชาติญาณเดิมของสัตว์ป่าออกไปจากตัวเอง เพราะมนุษย์เราก็ยังคงต้องการปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า ยารักษาโรค การสืบเผ่าพันธุ์ การหายใจ การขับถ่าย การหลับ(Maslow’s Hierarchy of needs) ซึ่งถ้าหากขาดสิ่งเหล่านี้ไป การดำรงชีวิตจะเป็นไปด้วยความลำบากอย่างมากหรือแทบจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เลย ดังนั้น มนุษย์ก็ยังคงต้องขวนขวายหาสิ่งเหล่านี้มาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตต่อไป โดยใช้สัญชาติญาณเข้ามาช่วยซึ่งไม่จำเป็นจะต้องนึกถึงอย่างอื่นอย่างใด ขอเพียงแค่ให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ก่อน นั่นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับมนุษย์และสัตว์
แต่เมื่อความต้องการเรื่องปัจจัยขั้นพื้นฐานได้รับการตอบสนองแล้ว มนุษย์กลับไม่ได้หยุดความต้องการไว้เพียงเท่านั้น หากแต่มีความต้องการเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆโดยไม่มีที่สิ้นสุด จุดหมายของมนุษย์ทุกคนนั้นคือ การเป็นตัวของตัวเอง(Self Actualization-Maslow’s Hierarchy of Needs) เพราะการเป็นตัวของตัวเองนั้นย่อมหมายถึง การมีอิสรเสรีที่จะกระทำการใดๆก็ได้โดยไม่ต้องมีใครมาห้ามหรือบังคับและเป็นความใฝ่ฝันที่อยู่ในใจลึกๆของมนุษย์ทุกคน เมื่อจิตใจร่างกายได้รับอิสรภาพก็ย่อมเกิดความสุขในการดำเนินชีวิตต่อไป
แต่การจะตอบสนองความต้องการให้ครบจนถึงจุดสูงสุดนั้น ต้องผ่านความต้องการมากมายที่เป็นพื้นฐานหรือบันไดสู่จุดสูงของชีวิตนั่นก็คือ การมีเกียรติและได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งความต้องการขั้นนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากการได้รับเกียรติหรือการยอมรับจากผู้อื่นนั้น ยอมแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับเกียรติจะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีการกระทำที่ประกอบคุณงามความดีหรืออาจจะเป็นเพราะ “อำนาจ” ซึ่งการมีสิ่งเหล่านี้บ่งบอกให้รู้ว่า บันไดในขั้นแรกๆนั้นจะต้องสมบูรณ์เต็มขั้นแล้วอย่างแน่นอน เมื่อมีชีวิตรอดก็จำต้องแสวงหาความมั่นคงให้กับชีวิตต่อๆไป แต่ด้วยเห็นว่า การแสวงหาทรัพยากรในหารดำรงชีวิตนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก มนุษย์ส่วนใหญ่จึงชอบที่จะใช้ “ทางลัด” เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้แก่ตัวเอง โดยคิดเสมอว่า จำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่นเพื่อให้ชีวิตมีความมั่นคงและปลอดภัย ซึ่งความคิดนี้เป็นความคิดที่ตอบสนองต่อการกลัว “ความตาย” ของมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย เพราะเชื่อว่า การอยู่คนเดียวเป็นชีวิตที่แสนยากเข็ญและน่าหวาดกลัวที่จะต้องเผชิญภยันตรายต่างๆ ด้วยเหตุนี้เอง จึงส่งผลให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดร่วมกันภายใต้ระบบระเบียบกฎเกณฑ์ของผู้มีอำนาจในกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นแปลว่า เป็นการละทิ้งความเป็นตัวตนของตัวเองลงเพื่อแลกกับการมีชีวิตอยู่รอดแต่มีการบังคับ ข่มขู่ กดขี่ข่มเหง ทั้งๆที่สุดยอดความปรารถนาคือ การเป็นตัวของตัวเอง
มันจึงเป็นเหตุที่น่าฉงนว่า มนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขัดแย้งกับตัวเองอย่างมาก และแม้ว่าจะมี “สติปัญญา” เป็นเครื่องมืออย่างที่สองที่ช่วยให้มีชีวิตรอด แต่น้อยนักที่มนุษย์จะยอมหันมาใช้เครื่องมือตัวที่สองมาช่วยทุ่นแรง จึงจำต้องกลายเป็นมนุษย์จำพวกที่เดินขึ้นลงวนเวียนอยู่ระหว่างบันไดขั้นที่1-4 โดยไม่เห็นวี่แววแสงแห่งความหวังว่า จะสามารถไปถึงยอดพีระมิดได้เลย แต่ก็ยังมีมนุษย์จำพวกที่แปลกแยกจากคนอื่น พวกเขามีความคิดที่แหลมคมเหมือนอาวุธ และในที่สุดก็ใช้ “คำถามและความสงสัย” ลับคมมัน จนในที่สุดกลายเป็น “ปัญญา” เป็นเครื่องมือนำทางชีวิตดุจความหมายของมัน ปัญญาหรือปรัชญาในภาษาบาลีสันสกฤตแปลว่า “ความรู้หรือความรู้อันยิ่งใหญ่” พร้อมทั้งยังเรียกตัวเองว่า “ปัญญาชน”
พวกเขาใช้คำถามและปัญญาเป็นเครื่องมือกลั่นกรองทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต พยายามละทิ้งซึ่ง “สัญชาติญาณ” หรือใช้มันให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นของที่ดูแตกต่างและช่างขัดแย้งกับความคิด แนวทางการดำเนินชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่สังคม ส่งผลให้พวกเขาถูกตราหน้าว่า “เป็นตัวสร้างปัญหา” เพราะไม่ยอมปฏิบัติตามกฎที่สังคมกำหนด อีกทั้ง “ผู้คุมกฎหรือผู้มีอำนาจ” ไม่สามารถที่จะตอบคำถามที่พวกเขาตั้ง หรือเกรงกลัวว่า “การตั้งคำถาม” จะนำไปสู่การเสียที่นั่งให้กับกลุ่มปัญญาชนไป ด้วยเหตุนี้ กลุ่มปัญญาชนซึ่งเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆจึงถูกพลังมนุษย์ผู้บ้าคลั่งอำนาจทำลายทิ้งโดยไม่ใส่ใจกับเหตุผลใดๆทั้งสิ้น หวังเพียงการรักษาสิ่งที่สัญชาติญาณเรียกร้องให้ทำเท่านั้น
เช่นเดียวกับบทสนทนาระหว่างพ่อกับลูกสาวในหนังสือบ้านเล็กในทุ่งกว้างอันเป็นตัวอย่างของการปิดกั้นการใช้สติปัญญาและการตั้งคำถามของเด็ก ภายในเรื่อง ลอร่า เด็กหญิงซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องได้อพยพพร้อมกับครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานในรัฐนอร์ธดาโกต้าซึ่งเดิมเป็นดินแดนของชาวอเมริกันพื้นเมืองหรืออินเดียนแดง รัฐบาลได้บีบบังคับให้ชาวอินเดียนแดงอพยพไปอยู่ฝั่งตะวันตกของประเทศซึ่งมีแต่ความแห้งแล้งทุรกันดารเพื่อเตรียมพื้นที่ให้ชาวผิวขาวหรือชาวยุโรปอพยพมาตั้งรกรากใหม่ในดินแดนแห่งนี้
ลอร่าเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดช่างคิดช่างถาม เธอเกิดความสงสัยในเรื่องง่ายๆซึ่งเธอไม่เข้าใจว่า เหตุใดอินเดียนแดงจึงต้องอพยพหนีไป ทั้งๆที่ดินแดนทั้งหมดเป็นของพวกเขามาก่อน เธอจึงได้เอ่ยปากถามพ่อตามประสาเด็กไร้เดียงสา แต่พ่อกลับบ่ายเบี่ยงเลี่ยงที่จะตอบคำถามและไล่เธอไปนอนเสีย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือนี้ สามารถเทียบเคียงบริบทที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ได้เป็นอย่างดี เพราะมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของพวกตัวเอง พวกชาวยุโรปจึงไม่ต้องการให้มีการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ชาวอินเดียนแดง แม้ความเมตตาสงสารนั้นจะเกิดขึ้นจากชาวผิวขาวซึ่งเป็นลูกสาวของเขาเองก็ตาม เพื่อเป็นการตัดประเด็นปัญหาและความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เขาจึงใช้อำนาจในฐานะของ “พ่อ” สั่งให้ “ลูกสาว” เลิกตั้งคำถามแล้วหลับตาลงนอนเสีย ทั้งๆที่ในใจของเธอก็ยังเต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ไม่จางหายไป แต่ความเมตตาสงสารของเธอจะยังคงอยู่หรือไม่ เมื่อเธอเติบโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ และรับรู้ว่า บรรพบุรุษของเธอฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอินเดียนแดงผู้บริสุทธิ์เพื่อที่ดินทำกินซึ่งเธอก็ได้ใช้มันเป็นสถานที่เรียนรู้และเติบโตขึ้นมาเช่นกัน
“มันเป็นกฎของธรรมชาติ” ปู่กล่าวอย่างอ่อนโยน “จงเอาเท่าที่จำเป็น เมื่อเจ้าล่ากวาง จงอย่าเลือกตัวที่ดีที่สุด ให้เลือกตัวที่เล็กและเชื่องช้า เพื่อกวางเหล่านี้จะได้เติบโตและแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆและมีเนื้อให้เรากินสม่ำเสมอ เสือดำปาโก้รู้กฎข้อนี้ดี หลานเองก็จงจำไว้”
แล้วปู่ก็หัวเราะ “มีแต่ผึ้งทีบิเท่านั้นที่เก็บสะสมไว้มากกว่าที่มันจะใช้หมด..มันก็เลยถูกหมีกับแรคคูนและเชโรกีขโมย คนที่สั่งสมและปรนเปรอตัวเองมากกว่าที่จะแบ่งปันผู้อื่นก็เหมือนกัน พวกนี้จะถูกช่วงชิงให้เกิดสงคราม แล้วพวกเขาก็ต้องเจรจากันยืดยาว พยายามที่จะเก็บงำไว้มากกว่าส่วนที่พึงได้รับ พวกเขาจะบอกว่า ธงผืนนี้แสดงถึงสิทธิของพวกเขาที่จะทำนี่ทำนั่น...แล้วก็จะมีคนล้มตายเพราะถ้อยคำนี้และธงผืนนั้น...แต่พวกเขาไม่อาจเปลี่ยนแปลงกฎของธรรมชาติได้” (ลิตเติ้ลทรี หน้า 11)
นี่เป็น “คำสั่งสอน” ของ “ปู่ผู้ชรา” มอบไว้ให้แก่ “หลานตัวน้อย” จากการเรียนรู้ภูมิปัญญาและสั่งสมประสบการณ์มาตลอดทั้งชีวิต ถือได้ว่า เป็นตัวอย่างการศึกษาที่น้อยนักจะเห็นได้จากโรงเรียนทั่วไป
การศึกษาของลิตเติ้ลทรี(The Education of Little Tree) เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เล่าให้ฟังถึงการใช้ชีวิตระหว่างป่ากับเมืองของ ลิตเติ้ลทรี เด็กชายอายุ 5 ขวบ ลูกครึ่งชาวอินเดียนแดงเผ่าเชโรกีและชาวยุโรปซึ่งอาศัยอยู่กับปู่และย่าหลังจากพ่อแม่ของเขาเสียชีวิตลง ในยามที่อยู่ในป่า ปู่กับย่าช่วยกันสั่งสอนความรู้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษผิวแดงให้เขาด้วยความรัก เมตตา และเอาใจใส่ โดยความรู้ที่สอนไปนั้น เป็นความรู้ที่ไม่ได้มีสอนในโรงเรียนแต่เป็นความรู้ที่เป็นความจริงของโลกธรรมชาติรอบตัวที่ทุกคนต้องเผชิญ ซึ่งต่างกับการเรียนรู้ในห้องแคบๆภายในโรงเรียน เมื่อลิตเติ้ลทรีถูกรัฐบาลบังคับให้เข้าเรียนในโรงเรียนประถม เขาต้องจากปู่ย่าและผืนป่าอันเป็นที่รักมาใช้ชีวิตเป็นเด็กกินนอนในหอโรงเรียน แต่เรื่องราวที่โหดร้ายที่สุดของระบบการศึกษาอเมริกาตอนนั้นคือ การยึดติดกับกรอบความคิดแคบๆที่นักเรียนจะต้องยึดเอาครูและตำราเรียนเป็นที่ตั้งเท่านั้น
วันหนึ่งครูได้เอารูปภาพของกวางสองตัวมาให้นักเรียนทั้งห้องดูและผลัดกันตอบคำถามตามที่เข้าใจว่า กวางสองตัวในภาพกำลังทำอะไร นักเรียนทั่วไปก็ตอบไปเรื่อยตามที่เห็นเช่น กำลังเดินเล่นบ้าง กำลังกินหญ้าบ้าง แต่ลิตเติ้ลทรีกลับตอบด้วยคำตอบที่แตกต่างออกไปจากนั้นมาก เขาตอบว่า กวางสองตัวในภาพกำลังจะผสมพันธุ์กัน เพราะในภาพมีพุ่มดอกไม้ที่ผลิบานแสดงให้เห็นว่า เป็นฤดูใบไม้ผลิที่สัตว์ป่าต่างๆนิยมจับคู่กันตามที่เขาได้เรียนรู้ภูมิปัญญานี้มาจากปู่ แต่เมื่อครูได้ยินกลับโกรธมากและได้สั่งกักตัวเขาไว้ในห้องมืดเพื่อเป็นการลงโทษให้สำนึกผิด ลิตเติ้ลทรีก็ได้แต่งุนงงสงสัยกับตัวเองว่า เขาทำผิดอะไรหรือถึงต้องโดนขังเช่นนี้ ทั้งๆที่เขาพูดความจริงออกไปตามที่เขาเห็นเท่านั้น ในที่สุด ปู่ก็พาเขาหลบหนีออกมาจากโรงเรียนแล้วพากลับไปใช้ชีวิตและเรียนรู้ธรรมชาติกันในแบบที่พวกเขารัก
จากตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ข้าพเจ้าได้กล่าวมานี้ เป็นลักษณะของการศึกษาไทยที่สามารถเรียกได้ว่า มีความล้าหลังและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะการศึกษาไทยและสังคมไทยยังคงยึดคิดอยู่กับคำว่า “อำนาจ” และค่านิยมที่สังคมส่วนใหญ่บีบบังคับให้ต้องเป็นไป เด็กไทยส่วนใหญ่ถูกพ่อแม่ใช้อำนาจควบคุมสมองและการกระทำมาตั้งแต่ยังเด็ก หากทำผิดหรือทำไม่ถูกต้องก็จะถูกดุด่าว่ากล่าวอีกทั้งยังทำโทษด้วยการใช้กำลังหรือการทารุณกรรม เช่น การตีด้วยไม้เรียว การสั่งให้ยืนกางแขนกางขาคาบไม้บรรทัดเป็นเวลานาน เป็นต้น ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการปลูกฝังให้เด็กไทยกลัวการถูกทำร้ายร่างกายซึ่งเป็นการปลุกความรักตัวกลัวตายอันเป็นสัญชาติญาณเดิมขึ้นมา ทำให้การมีความคิดหรือใช้เหตุผลนั้นหายไป กลับต้องยินยอมทำตามอำนาของผู้เป็นใหญ่กว่าตนและไม่มีการตั้งคำถามขึ้นมาเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพใดๆทั้งสิ้น หากมีใครทำเช่นนั้น ก็จะถูกประณามหยามเหยียดว่า “เด็กไม่รักดี” ไม่ก็ “ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง”
คำที่ผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์บางท่านกล่าวให้เด็กที่กล้าตั้งคำถามว่าเป็น “เด็กไม่รักดี” นั่นมันถูกต้องจริงแล้วหรือ ที่เรียกเด็กว่าอย่างนั้น สำหรับตัวข้าพเจ้าแล้ว นั่นเป็นความคิดที่ไม่สมเหตุสมผลและเต็มไปด้วยความอคติ เมื่อเด็กกล้าตั้งคำถาม นั่นแปลว่า สติปัญญาการเรียนรู้ในสมองของเด็กกำลังได้รับการพัฒนา เด็กต้องการจะเรียนรู้เอาเหตุและผลเพื่อจะได้นำไปใช้ต่อยอดปัญญาในอนาคต แต่ผู้ใหญ่กลับปิดบังความจริงไม่ยอมให้เด็กตั้งคำถามเพราะเกรงว่า คำถามนั้นจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนหรือเสียหน้าให้แก่พวกตน และเมื่อเด็กๆที่กล้าตั้งคำถามเหล่าเติบโตขึ้น แทนที่จะกลายเป็น “ปัญญาชน” ก็จะถูกสังคมขัดเกลาให้ยอมรับกับค่านิยมที่สังคมส่วนใหญ่อยากให้เป็น กลับกลายเป็น “น้ำหยดหนึ่งในกระแสสังคม” และยังเป็นผู้ใหญ่ที่บ้าอำนาจ นำความโกรธเกลียดอาฆาตจากการโดนลงโทษในวัยเด็กมาลงใส่เยาวชนรุ่นใหม่ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวใดๆเลย การศึกษาไทยจึงไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้เท่าที่ควร แต่กลับวนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์แบบนี้ต่อไป
และเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ก็กลายเป็น “ผู้ใหญ่” ที่ออกมากล่าวว่า “เด็กไทยโง่” แต่การที่เด็กโง่นั้น มันไม่ใช่เพราะการกระทำของผู้ใหญ่หรอกหรือที่ทำให้เด็กเป็นแบบนี้ ย้อนมองแล้วก็น่าขันกับความขัดแย้งกันเองภายในใจและภายในสังคม มนุษย์มีความต้องการที่รู้เห็นเด่นชัด แต่กลับไม่ทำตามความต้องการ เลือกที่จะขังตัวเองในกรง ไหลตามกระแสสังคมไป โดยหลอกตัวเองว่า สิ่งเหล่านี้ที่กระทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามและเป็นที่น่าชื่นชม นับว่าเป็นเรื่องน่าแปลกสำหรับมนุษย์อย่างหนึ่งที่ยากจะเข้าใจได้ การศึกษาที่ควรจะเป็นเครื่องมือสร้างคน กลับกลายเป็นเครื่องมือทำลายคน นี่คือความเป็นจริงที่น่ากลัวของสังคมไทย เป็นเครื่องบ่งชี้ความบ้าอำนาจอย่างยิ่งยวดของคนไทย ตราบใดที่ยังไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ประเทศไทยซึ่งยังใช้ระบบการศึกษาเดิมๆก็จะยังคงบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ด้อยคุณภาพให้งอกงามปกคลุมสังคมไทยต่อไป
จนผู้ปกครองบางคนเลือกที่จะให้การศึกษากับลูกแบบ “การศึกษาที่บ้าน” (Home School) ซึ่งอาจจะมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการศึกษาที่โรงเรียนเสียอีก เพราะ เด็กจะมีเวลาเพียงพอในการเรียนรู้ด้วยตนเองไปพร้อมๆกับสร้างความสัมพันธภาพภายในครอบครัว แต่ก็มีข้อเสียอยู่ก็คือ เด็กจะไม่สามารถปรับตัวกับสังคมภายนอกได้ แต่ก็เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยมาก เนื่องจากผู้ปกครองที่เลือกการศึกษาแบบนี้ก็จะพาลูกออกไปเรียนรู้จากห้องเรียนภายนอกด้วย ซึ่งมีการทดลองและปฏิบัติให้เห็นจริงยิ่งกว่าการเรียนรู้ในตำราเรียน ตัวอย่างของการเริ่มต้นการเรียนแบบ Home School ในไทยคือ โรงเรียนวนิษา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีจุดกำเนิดจากการที่คุณแม่ของคุณวนิษา เรซ เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะขัดเกลาและหล่อหลอมให้บุตรสาวของเธอเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพ เธอจึงเลือกที่จะสอนลูกของเธอด้วยตัวของเธอเองที่บ้าน จนคุณวนิษาเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีระดับสติปัญญาเป็นเลิศ สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ และในที่สุด เธอก็ก่อตั้งโรงเรียนเอกชนสำหรับเด็กที่ไม่ยึดเอาหลักสูตรของรัฐบาลเป็นตัวชี้วัดระดับสติปัญญาของเด็ก แต่เน้นการปฏิบัติและโดยเฉพาะ “การตั้งคำถามของเด็ก” ซึ่งนับว่าเป็นหลักสูตรที่ดีเยี่ยมของการศึกษา อันเป็นการพิสูจน์ว่า “ความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลง” ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งเสมอไป
ในยุคที่ “คำถาม” กลายเป็นสิ่งสำคัญในประเทศโลกที่พัฒนาแล้ว แต่ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย “คำถาม” กลับเป็นเครื่องหมายของความขัดแย้ง ผู้คนยังคงว่ายวนอยู่ในกระแสสังคมที่มีแต่ความขัดแย้งกันเองจนน่าปวดหัว ก็ยังมีกลุ่มคนที่กล้าตั้งคำถาม กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะแตกต่าง และเลือกเดินตามทางของตนอย่างไม่แยแสต่อคำครหานินทาของคนอื่น แน่นอนว่า พวกเขาจะต้องใช้ความอดทนอดกลั้น ความพยายาม ต้องผ่านความเจ็บปวดจากคำคนมากมาย แต่สิ่งที่เขามีคือ “ความสุข” ซึ่งโรงเรียนไม่ได้มีสอนดังนั้น ในเมื่อผู้ใหญ่ในสังคมไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งได้อีกแล้ว ก็ต้องถึงเวลาของเด็กไทยแล้วว่า จะเลือกเป็น “เด็กแบบลิตเติ้ลทรี” หรือ “เด็กแบบลอร่า”